การซื้อ-ขายอาวุธและการเมือง ในประเทศกำลังพัฒนา โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ช่วงนี้มีการพูดถึงเรื่องแผนการการซื้ออาวุธของรัฐบาลที่นำไปสู่การพูดคุยกันในสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องเรือดำน้ำหรือรถถัง ก็เลยคิดว่าควรจะนำมาอภิปรายในที่นี้เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

ประการแรก การพูดคุยกันเรื่องซื้ออาวุธ โดยทั่วไปก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่เข้าใจว่าที่เป็นประเด็นมากหน่อยในช่วงนี้ก็เพราะว่าในช่วงที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารนั้น คงจะหาหลักประกันภายในระบบการบริหารประเทศที่จะอภิปรายและตรวจสอบได้ยาก และไม่เป็นไปในแบบเดียวกับรัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลประชาธิปไตย

ต้องย้ำว่าพูดถึงรัฐบาลประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลพลเรือนถ้าตีความอย่างเถรตรง บ่อยครั้งรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลพลเรือนนั้นก็อาจจะเป็นรัฐบาลพลเรือนที่ถูกตั้งมาโดยคณะทหาร หรือเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มีอิทธิพลต่อทหารหรือเป็นพันธมิตรในการร่วมกับทหารนั้นยึดอำนาจด้วยก็ได้

โดยหลักการแล้วรัฐบาลประชาธิปไตยจะมีความรอบด้านในการบริหารจัดการงบประมาณกว่ารัฐบาลทหาร ในแง่ที่ว่ารัฐบาลประชาธิปไตยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องของการซื้ออาวุธเหมือนรัฐบาลทหาร เพราะในรัฐบาลทหารนั้นกองทัพสามารถขออนุมัติทุกอย่างที่ตนต้องการ และพลังทางสังคมอื่นๆ ก็มักจะอ่อนแอในการทัดทาน เว้นแต่ตั้งคำถามเล็กๆ น้อยๆ ให้ถูกตวาดเล่นออกสื่อไปวันๆ

Advertisement

แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลประชาธิปไตยที่อ่อนแอก็อาจจะเลือกเอาการอนุมัติการซื้ออาวุธตามที่กองทัพร้องขอทั้งหมดเพื่อให้กองทัพนั้นเป็นหลักค้ำยันรัฐบาลได้เช่นกัน ดังนั้น เราต้องไม่คิดง่ายๆ ว่า รัฐบาลประชาธิปไตยนั้นในความเป็นจริงจะสามารถคานอำนาจกับกองทัพได้เสมอไป

พลังประชาธิปไตยต่างหากที่จะสามารถติดตามตรวจสอบทั้งรัฐบาลประชาธิปไตยและกองทัพได้ ไม่นับการตรวจสอบทั้งทุนและสื่อด้วย

ประการที่สอง ในฝ่ายที่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับการซื้ออาวุธ ก็มักจะมีคำอธิบายทำนองว่า งบประมาณอาวุธนั้นมากโข แทนที่จะเอาไปซื้ออาวุธควรเอาไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่น ซึ่งในประเด็นนี้เหมือนกับจะเป็นที่เข้าใจร่วมกัน และไม่ตั้งคำถาม เว้นแต่ฝ่ายกองทัพเองที่อาจจะต้องออกมาอ้างว่า กองทัพก็คือประชาชน หรืองานด้านความมั่นคงก็มีความสำคัญ

Advertisement

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าข้ออ้างของกองทัพเองก็คือ จริงหรือไม่ที่ปัญหาการซื้ออาวุธนั้นเป็นเรื่องทางด้านการเงิน? กล่าวคือ เรามีงบประมาณน้อย เราต้องใช้สอยอย่างประหยัด ไม่ควรใช้งบป้องกันประเทศในการซื้ออาวุธ ควรใช้งบในด้านอื่นมากกว่า

คําตอบที่น่าสนใจจากนักวิชาการที่ศึกษาด้านการซื้อขายอาวุธที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเห็นว่า บางทีเรื่องการเถียงกันว่าควรจะเอางบประมาณจากการซื้ออาวุธไปทำอย่างอื่นดีกว่าไหมอาจจะไม่ใช่ประเด็นเรื่องของการขาดแคลนเงิน แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างและทิศทางการพัฒนาประเทศมากกว่า กล่าวคือ ต่อให้เอาเงินซื้ออาวุธมาเพิ่มให้กับเกษตรกร หรือบำรุงการศึกษามากขึ้น ก็อาจไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ดี ถ้าไม่มีการวางแผนพัฒนาที่ถูกต้อง แต่ก็นั่นแหละครับ เราคงไม่เสียสติพอที่จะใช้เหตุผลในการซื้ออาวุธด้วยเหตุผลแบบว่า เราควรซื้ออาวุธ เพราะถึงไม่ซื้อประเทศก็ไม่พัฒนาอยู่ดี เนื่องจากการพัฒนาของเราไม่มีประสิทธิภาพอยู่ตั้งแต่แรก

ประการที่สาม ประเทศที่กำลังพัฒนานั้นมีประเด็นท้าทายอยู่อีกประการหนึ่งในเรื่องของการซื้ออาวุธ นั่นก็คือเรามักจะพิจารณาเรื่องของการซื้ออาวุธราวกับว่ามันเป็นทุกเรื่องของงบประมาณกองทัพ ทั้งๆ ที่ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว งบประมาณของกองทัพนั้นมีมากกว่าเรื่องของการซื้ออาวุธ และบางครั้งงบประมาณเหล่านั้นเองก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการใช้จ่ายอยู่ดี เช่น อาจจะเป็นงบประมาณแบบที่ตรวจสอบไม่ได้ หรือเป็นงบประมาณที่หมดไปกับสิ่งปลูกสร้างหรือเงินเดือนของบุคลากรเสียเยอะ

แต่อย่างไรก็ดี เรื่องที่เป็นปมปัญหาในการซื้ออาวุธและทำให้กองทัพมักถูกมองว่าเป็นจำเลยทางสังคมก็เพราะ อาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากนั้นนอกจากมีราคาแพงแล้ว ยังทำหน้าที่ได้ดีเมื่อไม่ได้ใช้ เพราะถ้าใช้จริงแล้วจะยิ่งสิ้นเปลืองไปกันใหญ่ แต่ถ้าไม่มีก็จะยิ่งทำให้รู้สึกไม่มั่นคงมากเข้าไปอีก

พูดง่ายๆ เราคำนวณว่ากองทัพของเรานั้นจะต้องมีรถถังและเรือดำน้ำ จำนวนเท่านี้คัน แต่เราคำนวณว่ามันพอก็เพราะเราไม่ได้รบจริง เพราะถ้ารบจริงเราก็ต้องสิ้นเปลือง และต้องมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องของการถกเถียงกันเสมอว่าไอ้ที่เราไม่ได้ใช้นั้นมันจำเป็นจริงหรือเปล่า

และสำหรับผู้นำกองทัพที่เผชิญกับแรงกดดันในเรื่องการซื้ออาวุธก็อาจจะต้องมีวิธีอ้างไปว่า ของที่กองทัพซื้อนั้นสามารถที่จะนำไปใช้ในกิจการพลเรือนประเภทอื่นๆ ได้ แต่เมื่อพูดเช่นนี้ก็ตอบได้ยากว่าทำไมไม่ให้หน่วยงานพลเรือนเขาซื้อล่ะ จะให้กองทัพซื้อทำไม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรายังพอเข้าใจได้ว่า ถึงที่สุดแล้ว ทำไมการซื้ออาวุธมันถึงได้สร้างข้อกังขาอยู่มากในประเทศกำลังพัฒนา ก็เพราะเราเสียงบประมาณไปในการซื้ออาวุธ ไม่ใช่การพัฒนาอาวุธและผลิตเพื่อขายอาวุธเหล่านั้น และที่สำคัญไม่ว่าเราจะใช้หรือไม่ใช้ อาวุธเหล่านั้นก็มีวันหมดอายุ และก็ต้องซื้อใหม่อยู่ดี

มิพักต้องกล่าวถึงย้ำอีกครั้งแม้จะได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนต้นว่า การซื้ออาวุธในประเทศกำลังพัฒนามันเป็นประเด็น เพราะมันเป็นเรื่องของการตอบสนองความต้องการของกองทัพที่เป็นสถาบันและตัวแสดงทางการเมืองที่ทรงพลังอำนาจยิ่ง ทั้งในแบบที่เป็นรัฐบาลเอง หรือค้ำยันรัฐบาล ดังนั้นคำว่า “ความมั่นคง” ที่พูดกันอยู่ บางครั้งก็เป็นความมั่นคงของระบอบการเมือง หรือความมั่นคงของรัฐบาล ความมั่นคงของกองทัพ มากกว่าความมั่นคงของประเทศชาติก็อาจเป็นได้

เรื่องที่ควรพิจารณา ประการที่สี่ ก็คือว่าการซื้ออาวุธนั้นมีด้านอีกด้านที่สำคัญก็คือด้านของการขายอาวุธ และในด้านของการขายอาวุธนั้นมีมิติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่อย่างชัดแจ้ง ทั้งในแง่ของพลังขับเคลื่อนของกลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธที่ผลักดันประเทศที่ขายอาวุธ และในอีกด้านหนึ่ง ประเทศที่เป็นประเทศหลักที่ขายอาวุธนั้นกลับเป็นเสียงข้างมากของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติเองเสียด้วย

การค้าอาวุธจึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่แทรกอยู่ตามเวทีต่างๆ ที่เรามองไม่เห็น ท่ามกลางสิ่งที่เราสนใจและเจรจากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงคราม-สันติภาพ หรือการค้าเสรี เพราะสงครามจำนวนมากนั้นเกิดขึ้นได้เพราะการเข้าถึงอาวุธ ไม่ใช่เพราะมีความขัดแย้งเฉยๆ แต่มหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสันติภาพดันเป็นผู้ที่ผลิตและจำหน่ายอาวุธเสียเอง หรือในแง่ของการเจรจาการค้านั้น การเจรจาซื้อขายอาวุธมักไม่ถูกนับรวมเข้าไปอยู่ในเรื่องของกฎเกณฑ์การเจรจาการค้ามากนัก

นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่เรายังไม่ได้พิจารณากันมากนักก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ของการซื้อขายอาวุธภายหลังสงครามเย็น ที่การขายอาวุธนั้นมีลักษณะกระจายตัวมากขึ้น คือไม่ได้มีแค่อเมริกาและโซเวียตเหมือนสมัยก่อน เราพบประเทศใหม่ๆ เข้ามาแย่งชิงตลาดมากขึ้น แม้ว่าอาจจะไม่ได้ส่วนแบ่งหลักมากนัก แต่ถ้าลองย้ายมุมมองมาที่ตัวรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาเอง จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการซื้อขายอาวุธนี้เอง ได้เปิดโอกาสให้กองทัพและรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรืออยู่ในอิทธิพลของกองทัพใช้เรื่องของการซื้ออาวุธเป็นการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มากขึ้นและซับซ้อนขึ้น เราพบผู้ขายหน้าใหม่ เช่น จีน สวีเดน หรือยูเครน เข้ามาเกี่ยวข้องกับประเทศเรามากขึ้นในฐานะตัวอย่างที่ใกล้ตัวในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม เราควรพิจารณาเพิ่มด้วยว่า คำอธิบายประเภทที่เอาสินค้าเกษตรไปแลกอาวุธนั้นกลายเป็นคำแก้ตัวที่สำคัญมาหลายยุคสมัยว่าเราแทบจะไม่เสียอะไรนั้นจริงหรือไม่ ทั้งที่สินค้าเกษตรเหล่านั้นก็สามารถนำไปแลกอย่างอื่นได้อยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ ใครเป็นผู้ที่กำหนดว่าอะไรควรจะไปแลกเอามา ระหว่างรถถัง หรือทุนการศึกษา หรือความร่วมมือในทางอื่นๆ ที่อาจจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศได้มากกว่า

กล่าวโดยสรุปในประเด็นนี้จะพบว่าการซื้อขายอาวุธนั้นอาจจะไม่ได้มีคุณค่าทางตรงกับเรื่องของสงครามและความมั่นคง เท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างดีล หรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสองประเทศ หรือที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เป็นการสร้างดีลและความสัมพันธ์ระหว่างกันของชนชั้นนำของสองประเทศ ในกรณีที่ประเทศสองประเทศนั้นเป็นเผด็จการทั้งคู่และปราศจากการตรวจสอบของประชาชน

อนึ่ง สิ่งที่เราอาจไม่ตั้งข้อสงสัยอะไรว่ามันเกี่ยวข้องกับการซื้ออาวุธ ทั้งที่มีการศึกษาถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันมานานแล้วก็คือเรื่องของการซ้อมรบร่วม ซึ่งมีข้อค้นพบว่าการซ้อมรบร่วมนั้นเกี่ยวพันกับการซื้ออาวุธ เพราะการที่ประเทศที่ขายอาวุธให้กับเรามาซ้อมรบร่วมกับเรานั้นก็เพราะว่าจะต้องมีการซ้อมการใช้อาวุธที่ขายให้เรา และยังจะนำเอา “อาวุธในฐานะสินค้า” ใหม่ๆ มาเสนอให้เกิดความร่วมมือกันต่อไปเรื่อยๆ

ประการที่ห้า สิ่งที่เราจะต้องเข้าใจก็คือ แม้แต่ในประเทศที่ขายอาวุธให้เรา ถ้าพลังประชาธิปไตยในประเทศนั้นเข้มแข็ง คือประชาชนตรวจสอบทั้งกองทัพ รัฐบาล และทุนได้ การจะมาขายอาวุธให้กับประเทศอื่นๆ นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ ดังในกรณีที่ขบวนการประชาชนในสวีเดนเองก็มีการติดตามตรวจสอบว่ารัฐบาลนั้นขายอาวุธให้กับรัฐบาลเผด็จการไหม เพราะรัฐบาลเผด็จการนั้นอาจจะเอาอาวุธไปจัดการประชาชนในประเทศเหล่านั้น และทำลายพลังประชาธิปไตยลงไป

หรืออย่างกรณีองค์กร CAAT (Campaign Against Arms Trade) ที่มีฐานที่อังกฤษก็พยายามรณรงค์ให้ยุติการซื้อขายอาวุธในกรณีที่การซื้อขายอาวุธนั้นนำไปสู่การทำให้ความรุนแรงนั้นเพิ่มขึ้น หรือไปสนับสนุนการขยายตัวของการไปครอบครองและความก้าวร้าวของประเทศหนึ่งประเทศใด หรือไปเพิ่มความขัดแย้ง รวมทั้งไปสนับสนุนรัฐบาลที่กดขี่ประชาชนและทำลายประชาธิปไตย รวมทั้งกรณีที่การใช้จ่ายทางการทหาร (ที่รวมการซื้ออาวุธ) ไปลดทอนสวัสดิการทางสังคมของคนในประเทศนั้น (คือเอาไปทำอย่างอื่นดีกว่า)

ประการสุดท้าย สิ่งที่สำคัญเสมอในการที่เราตั้งคำถามกับเรื่องการซื้อขายอาวุธ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนานั้นก็คือ เมื่อซื้ออาวุธ ก็เป็นการเพิ่มหนี้ให้กับประเทศ และชักพาประเทศไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อนได้ไม่ยาก เพราะการตรวจสอบการซื้อขายอาวุธของกองทัพโดยคนนอกกองทัพตั้งแต่ระดับนโยบายความมั่นคงและการเลือกชนิดของอาวุธนั้นทำได้ไม่ง่ายนัก

หมายเหตุ : บางส่วนพัฒนามาจาก F. Clairmonte. 1992. “Third World Arms Trade”. Economic and Political Weekly. 27(8). M. Spencer. 1987. “Militarizing the Third World”. Peace Magazine. Feb-Mar. และ G. Burrows. 2002. No-Nonsense Guide to the Arms Trade. London: Verso.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image