ท่วงท่า อาการ ของ อนุทิน ชาญวีรกูล ประเด็น ‘หลุด’

ปัญหาการแสดงออกที่ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี กับ ปัญหาที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประสบ มีทั้งความเหมือนและความต่าง

ต่างตรงที่คนแรกเป็น “ทหาร” คนหลังเป็น “นักการเมือง”

เหมือนตรงที่ 1 เป็นการแสดงออกผ่านกระบวนการพูด กระบวนการแถลง และเหมือนตรงที่ 1 เป็นการแสดงออกอันเนื่องจาก “โควิด”

เหมือนตรงที่ก่อ “ปฏิกิริยา” อย่างกว้างขวาง

Advertisement

หากประเมินจาก “เป้าหมาย” ที่ทั้ง 2 แสดงออกก็น่าเห็นใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าเป้าหมายของ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี เป็น ประชาชน

ขณะที่เป้าหมายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็น หมอ

เพราะว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนักธุรกิจ เป็นนักการเมือง จึงสันทัดแต่เพียงในเรื่องของธุรกิจ จึงสันทัดแต่เพียงในเรื่องของการหาเสียง

Advertisement

ยิ่ง พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี เป็นทหาร ยิ่งเป็นเรื่อง

ความเคยชินอย่างหนึ่งของทหารก็คือ ความเคยชินที่อยู่ในระบบที่มีโครงสร้างการบังคับบัญชาอันแน่นอน ตายตัว ระหว่างระดับบนกับระดับล่าง

นั่นคือ นาย กับ ลูกน้อง

ตัวอย่างในความรับรู้ของสังคม คือ ท่วงทำนองการพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าในรายการคืนความสุขทุกวันศุกร์ หรือเมื่อให้สัมภาษณ์

นี่ย่อมต่างจากท่วงทำนองของ “นักการเมือง”

ไม่ว่านักการเมืองชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่านักการเมืองชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือกระทั่งนักการเมืองชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เพราะนักการเมืองต้องอยู่กับประชาชน อยู่กับการเลือกตั้ง

ขณะที่ทหารโดยเฉพาะทหารใหญ่ ไม่คุ้นชินกับการเมือง ไม่คุ้นชินกับการพูดกับประชาชน หากสันทัดแต่การพูดระหว่างนายกับลูกน้อง

นั่นหละคือกระบวนท่าของ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี

ที่น่าแปลกกลับเป็นท่าทีการพูดของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล แม้ว่าโดยพื้นฐานจะเป็นนักธุรกิจ แต่ก็เป็นนักธุรกิจที่เข้ามาในพื้นที่ทางการเมือง

เหตุใดจึง “หลุด”

หลุดตั้งแต่เมื่อพูดถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะที่มาจากยุโรป มาจากอเมริกา หลุดเรื่อยมาจนถึงเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ติดไวรัส

เป็นไปได้อย่างไร

เนื่องจากอาการ “หลุด” อย่างนี้แหละ ทำให้ แม้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะพยายามสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กก็ต้องปิด จะพยายามสื่อสารผ่านทวิตเตอร์ก็ต้องปิด

และจำเป็นต้องออกมา “ขอโทษ”

หากสำรวจกระบวนการไม่ว่าจะของ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ไม่ว่าจะของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล อย่างกว้างขวางก็จะนำไปสู่ลักษณะ “ร่วม” เหมือนกัน

นั่นก็คือ ความรู้สึกที่เห็นคนไม่เท่ากัน

ตราบใดที่มองเห็นคนไม่เท่ากัน มองเห็นว่าตนเองกับคนพูดอยู่ในสถานะที่ไม่เหมือนกัน ความคิดเช่นนี้เองที่นำไปสู่การกำหนดท่าที

เป็นท่าทีในเชิงประสิทธิ์ประสาท

เมื่อยิ่งพูด ลักษณะประสิทธิ์ประสาทยิ่งแตกแขนง บานปลายและยากแก่การควบคุม ในที่สุดก็นำไปสู่สภาวะแห่งการหลุด

หลุดและก่อให้เกิดปฏิกิริยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image