รำลึก 25 ปี “เจ้ากอนเจิง” แห่งรัฐฉาน: อุดมการณ์ทางการเมืองในกระบวนการเจรจาสันติภาพ

ทุกวันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี ชายแดนไทย-พม่า ณ วัดฟ้าเวียงอินทร์ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ จะกลายเป็นสถานที่ให้ชาวไทใหญ่จำนวนหนึ่งมารวมตัวและพบปะกันเพื่อรำลึกถึงการจากไปของผู้นำคนสำคัญของขบวนการต่อสู่เพื่ออิสรภาพนั่นคือ “เจ้ากอนเจิง” ซึ่งในกองทัพไทใหญ่รู้จักกันในนาม “พลเอกโป่โมเฮงหรือนายพลโมเฮง” ซึ่งปีนี้ถือได้ว่าเป็นปีที่ 25 ของการจากไปของนายพลผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ปรากฏ ณ สถานที่จัดงานซึ่งเป็นสุสานของท่านมาแต่เดิมนั้นกลับปรากฏไปด้วยชาวไทใญ่หลากหลายวัย หากแต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาและการถ่ายทอดการรำลึกบุญคุณจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ แม้ว่าระบอบการปกครองรัฐฉานจะมีระบบเจ้าฟ้าเป็นชนชั้นนำหลัก หากแต่การต่อสู้ทางการเมืองในสมัยใหม่นั้น ผู้นำในการต่อสู้มักจะเป็นประชาชนคนธรรมที่ไม่สามารถทนต่อแรงบีบคั้นทางการเมืองจากการถูกปกครองแบบกดขี่และความไม่ธรรมด้วยข้อแตกต่างทางด้าน “เชื้อชาติและชาติพันธุ์” เจ้ากอนเจิงคือหนึ่งในผู้นำที่เติบโตมาจากบริบททางการเมืองในลักษณะดังกล่าว แม้ว่าจะมีคำนำหน้าว่า “เจ้า” แต่ก็เป็นการเรียกขานเพื่อให้เกียตริผู้ที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเป็นผู้นำในการจัดตั้ง กองทัพปฏิวัติแห่งชาติรัฐฉาน SNUF (Shan National United Front) ในปี 1961 และบริบททางการเมืองได้ได้นำไปสู่การจัดตั้ง กองทัพสหปฏิวัติแห่งรัฐฉาน SURA (Shan United Revolution Army) ในปี 1969 บริเวณบ้านเปียงหลวงในปัจจุบัน ซึ่งอุดมการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของเจ้ากอนเจิงได้แก่ หลักนำ 5 ข้อ ซึ่งประกอบไปด้วย (1) การต่อต้านคอมมิวนิสต์ (2) เอกราช (3) ประชาธิปไตย (4) ความเป็นเอกภาพ (5) ความสงบสุข

สถานการณ์การต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยเพื่ออิสรภาพของไทใหญ่นั้น มักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งโดยปัจจัยทางการเมืองของพม่า สถานการณ์บริเวณแนวชายแดนไทย-พม่า และการเมืองภายในกลุ่มของไทใหญ่เอง หากที่สิ่งปรากฏอย่างชัดเจนนั่นคือ จุดยืนที่ส่วนหนึ่งสืบสายธารมาจากความคิดทางการเมืองของเจ้ากอนเจิง มักจะแทรกซึมในทางความคิดทางการเมืองของผู้นำในรุ่นหลัง โดยเฉพาะ เจ้ายอดศึก ที่เป็นผู้นำของกองทัพรัฐฉาน หรือ SSA ( Shan State Army) ในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อครั้งในอดีตเองก็เคยเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมในอุดมการณ์ของเจ้ากอนเจิงอย่างใกล้ชิด
ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญประการหนึ่งนั่นคือ

“อุดมการณ์ของเจ้ากอนเจิงจะสามารถถูกทำให้ปรากฏตัวขึ้นในกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆได้อย่างไร หากบริบททางการเมืองของพม่าเองสามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงแปลงไปสู่การเลือกตั้งและมีผู้นำที่เป็นพลเรือน?”

Advertisement

เจ้ากอนเจิง01

จะพบว่าคำตอบที่น่าสนใจคือ กระบวนการเจรจาสันติภาพในปัจจุบันนั้น แม้ว่าจะมีพลเรือนที่ผ่านการเลือกตั้งมาเป็นผู้นำรัฐบาลและพยายามดำเนินกระบวนการต่างๆ เพื่อนำไปสู้การสร้างสันติภาพภายในประเทศ สิ่งที่ยังไม่ปรากฏภาพอย่างชัดเจนต่อขบวนการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นั่นคือ รัฐบาลพลเรือนของพม่าเองจะสามารถนำข้อตกลงในอนาคตไปใช้ได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะหากมีข้อตกลงบางอย่างที่จำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในสภาวะการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งรัฐในลักษณะนี้ ทำให้กองทัพพม่ากลายเป็นหุ้นส่วนหลักทางการเมืองที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งจุดยืนที่ชัดเจนสำคัญประการหนึ่งของกองทัพคือ “บูรณภาพและเอกภาพแห่งรัฐ” ที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้

เจ้ากอนเจิง04

Advertisement

เงื่อนไขสำคัญในข้างต้นนี้ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ ซึ่งในมิติหนึ่งก็จะพบว่า เป้าประสงค์หลักนั่นคือ การนำไปสู่ความสงบสุขของประชาชนอันเป็นหลักการที่สำคัญประการหนึ่งของเจ้ากอนเจิง อาจกล่าวได้ว่า แม้ประชาธิปไตยจะงอกเงยในฝั่งทางการเมืองของชาวพม่าแล้ว หากแต่ผลทางด้านบวกยังไม่ปรากฏให้เห็นภาพอย่างชัดเจนต่อกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการเจรจาสันติภาพที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการวาดภาพและวางอนาคตไว้ร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว กระแส “การประชุมปางโหลง 2” ที่มีการส่งสัญญาณให้กลุ่มชาติพันธุ์เองนั้นยังมีความคลาดเคลื่อนในหลายประการโดยเฉพาะเป้าหมายของการประชุม ซึ่งในความเข้าใจของรัฐบาลคือการแสวงหาข้อตกลง หากแต่ในสายตาของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มยังมองเป็นเวทีพบปะเบื้องต้นเพื่อนำเสนอความต้องการของแต่ละกลุ่มเท่านั้น ฉะนั้นการประชุมที่กำลังจะมีขึ้นไม่ว่าจะถูกเรียกชื่อเพื่อสร้างสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างไรก็ตาม หากแต่ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ ในกรณีที่มีการตีความสัญญาณจากรัฐบาลไม่ตรงกันอาจนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขและข้อขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มเติมขึ้นอีกหนึ่งปัญหา

หากเปรียบเปรียบอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่าง เจ้ากอนเจิงกับ จุดยืนของ นายพล อองซาน ผู้นำการเรียกร้องเอกราชของพม่า ซึ่งในมิติความสัมพันธุ์กับกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะหลักการ “เอกภาพในความแตกต่างหลากหลาย” (Unity in Diversity) จะพบว่า การยอมรับจุดยืนในความแตกต่างหลากหลายกลายเป็นสิ่งที่ทั้งสองมีร่วมกัน ในอีกแง่หนึ่ง กระบวนการเจรจาสันติภาพจะสามารถหาข้อยุติลงได้ก็จำเป็นที่ต้องยึดความต้องการดังกล่าวเป็นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม การยอมรับความหลากหลายก็ยังกลายเป็นสิ่งที่เป็นคลุมเคลือต่อท่าทีของรัฐบาลและกองทัพพม่า หรือแม้แต่กระทั่งนางอองซานซูจีเองก็ตาม โดยเฉพาะ ปัญหาที่เป็นบททดสอบ ที่สำคัญต่อความเชื่อในเรื่องการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย อันได้แก่ ท่าทีการยอมรับชาวพม่าที่นับถือศาสนาอิสลามและการปะทะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรัฐฉาน

เจ้ากอนเจิง05

ในวันที่มีการรำลึกการครบรอบ 25 ปี การจากไปของเจ้ากอนเจิง จึงเป็นหนึ่งในวันที่ถือเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธาที่มีต่อตัวอดีตผู้นำ หากแต่ในบริบททางการเมืองขนาดใหญ่ อุดมการณ์ของเจ้ากอนเจิงกลับสะท้อนภาพการถูกผลักดันและนำไปสู่การสร้างพื้นที่ในกระบวนการสันติภาพต่อกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวไทใหญ่ในรัฐฉานอย่งต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้นำที่มาจากชนชั้นใดก็ตาม หากตระหนักในประโยชน์ของคนหมู่มาก ย่อมสมควรได้รับการยอมรับและกล่าวถึงเสมอ จึงปราศจากข้อแปลกใจว่าด้วยเหตุใด สุสานของเจ้ากอนเจิงบริเวณชายแดน-ไทยพม่า จึงกระทำหน้าที่ของการธำรงไว้ซึ่งความทรงจำต่อผู้คนได้อย่างแข็งแกร่งในทุกๆปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image