เบลเยียม จากรัฐเดี่ยวสู่รัฐรวม โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

น้องสาวคนโตของผู้เขียนไปทำงานที่ประเทศเบลเยียมหลังจากเรียนจบทางด้านภาษาฝรั่งเศสและแต่งงานมีครอบครัวกับชาวเบลเยียมเลยติดตามสามีไปทำงานให้กับบริษัทน้ำมันในประเทศคองโกทั้งสองประเทศ (มีประเทศคองโกในทวีปแอฟริกา 2 ประเทศ ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของเบลเยียมประเทศหนึ่งกับเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสประเทศหนึ่ง ทั้ง 2 คองโกนี้มีอาณาเขตติดต่อกันตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกากลาง) เป็นเวลาร่วม 20 ปี ปีใหม่นี้ได้แวะมาเยี่ยมพี่น้องที่เมืองไทยทำให้ผู้เขียนได้รับความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างใหญ่หลวงก็คือประเทศเบลเยียมเดิมเป็นรัฐเดี่ยวมีสภาพเป็นราชอาณาจักรอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต่อมาเปลี่ยนรูปแบบของรัฐเป็นรัฐรวมโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเช่นเดิมซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนเพิ่งทราบจึงอยากจะแชร์กับท่านผู้อ่านที่เคารพถึงวิวัฒนาการทางการปกครองของประเทศเบลเยียม ซึ่งมีกรุงบรัสเซลส์เป็นเมืองหลวงเป็นที่ตั้งขององค์การนาโตและเป็นที่ตั้งของหน่วยงานหลายอย่างของสหภาพยุโรป เช่น คณะกรรมาธิการยุโรป คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป

เดิมดินแดนที่เป็นที่ตั้งของประเทศเบลเยียมนี้เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ภายหลังที่สงครามนโปเลียนได้สิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ.2358 จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติขึ้นในดินแดนที่เป็นเบลเยียมปัจจุบันใน พ.ศ.2373 เพื่อแยกประเทศออกจากเนเธอร์แลนด์ จึงเกิดการสถาปนาประเทศเบลเยียมขึ้นใน พ.ศ.2374 ภายใต้การสนับสนุนของอังกฤษโดยทูลเชิญเจ้าชายเลโอโปลด์

จากราชวงศ์แซ็กซ์-โคบูร์กและโกธา ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 1 โดยมีการปกครองแบบราชอาณาจักรในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (constitutional monarchy)

เบลเยียมเป็นราชอาณาจักรที่เป็นรัฐเดี่ยวตอนแรกเริ่มใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการเนื่องจากชนชั้นนำของประเทศเบลเยียมสมัยนั้นนิยมใช้ภาษาฝรั่งเศส ประกอบกับระยะเวลานั้นคนที่มั่งมีในประเทศเป็นคนในพื้นที่ทางใต้ของประเทศที่เรียกว่าเขตวาลลูน (Walloon) ใช้ภาษาฝรั่งเศส เพราะทางตอนใต้มีการทำเหมืองและอุตสาหกรรมหนักที่เจริญรุ่งเรือง ในขณะที่ทางตอนเหนือของประเทศยังมีอุตสาหกรรมน้อย ฐานะความเป็นอยู่โดยทั่วไปก็ถือว่าภาพรวมนั้นทางตอนเหนือจะยากจนกว่าทางตอนใต้ ทั้งๆ ที่ประชากรในประเทศส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศที่พูดภาษาถิ่นของดัตช์ คือ ภาษาเฟลมมิช (Flemish ) การที่ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ในระบบราชการของประเทศเบลเยียม ในโรงเรียน สถานที่ราชการ หน่วยปกครองท้องถิ่น ศาล และอื่นๆ

Advertisement

ทำให้ชาวต่างชาติมักคิดว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเบลเยียมเป็นพวก ใช้ภาษาฝรั่งเศสซึ่งความจริงแล้วประชาชนเบลเยียมที่ใช้ภาษาดัตช์มีถึง 51% ของชาวเบลเยียมทั้งหมด

เขตปกครอง 3 เขตของเบลเยียมที่เป็นแบบสหพันธ์รัฐ-ราชอาณาจักร
ปัจจุบันนี้สถานการณ์ในเบลเยียมได้แปรผันต่างกันในขณะที่ภาวะทางเศรษฐกิจของทางตอนใต้ซบเซาลง ภาวะของเศรษฐกิจทางตอนเหนือที่เป็นเมืองท่าสำคัญกลับเจริญขึ้นธุรกิจด้านพลังงานทำให้ดินแดนทางส่วนเหนือมั่งมีขึ้นมาก

Advertisement

ความขัดแย้งในเรื่องการใช้ภาษาทางราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ศาลในการพิจารณาคดีได้มีมาตั้งแต่หลังการตั้งประเทศเบลเยียมขึ้นมาได้ไม่นาน โดยเฉพาะประชากรที่ใช้ภาษาดัตช์ที่มีการอ้างกันว่าผู้ต้องหาซึ่งเป็นเฟลมมิช (Flemish) ที่ไม่รู้ภาษาฝรั่งเศสต้องถูกพิจารณาคดีโดยใช้ภาษาฝรั่งเศส และถูกลงโทษซึ่งน่าจะไม่เป็นธรรม และความพยายามของประชากรที่ใช้ภาษาดัตช์มาประสบความสำเร็จเมื่อมีกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ภาษาฉบับแรกออกมาใช้ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2416 ที่บัญญัติให้ใช้ภาษาดัตช์ในการพิจารณาคดีอาญาในเขตจังหวัดเฟลมมิช (Flemish) ได้แต่ภาษาฝรั่งเศสก็ยังให้ใช้ได้หากผู้ต้องหายินยอม

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับภาษาที่สำคัญก็คือการออกกฎหมายมากำหนดพื้นที่ทางภาษา (Language Areas) ชื่อ Second Act ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2506 โดยแบ่งพื้นที่ของภาษาออกเป็น 4 พื้นที่

ได้แก่ พื้นที่ภาษาดัตช์ พื้นที่ภาษาฝรั่งเศส พื้นที่ภาษาเยอรมัน และพื้นที่บรัสเซลส์ที่เป็นพื้นที่สองภาษาได้แก่ภาษาดัตช์และภาษาฝรั่งเศส

ความขัดแย้งทางภาษาที่ใช้กันอยู่ในสังคมเบลเยียมได้มุ่งไปที่การศึกษา กิจการด้านวัฒนธรรม และเป็นปัญหาการเมืองที่นักการเมืองต้องยอมรับมากขึ้นจึงได้มีการดำเนินการแก้ไขมาในช่วงระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา จนมีพื้นที่ในการปกครองที่เรียกว่าเขตชุมชนวัฒนธรรมที่มีภาษาดัตช์กับภาษาฝรั่งเศสเป็นตัวกำหนดแรก ต่อมาก็มีชุมชนของคนที่ใช้ภาษาเยอรมัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศอันเนื่องจากความแตกต่างที่มาจากภาษาทำให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนฐานะประเทศเบลเยียมจากรัฐเดี่ยวมาเป็นสหพันธรัฐที่มีภาคปกครอง 3 ภาค คือ ภาคปกครองเฟลมมิช ภาคปกครองวาลลูน และภาคปกครองที่ 3 ที่เรียกว่าเขตปกครองพิเศษบรัสเซลส์-มหานครคือที่ใช้ทั้งภาษาดัตช์และฝรั่งเศส ทั้งนี้เขตชุมชน (วัฒนธรรม) ก็ยังคงอยู่

ครับ! กรณีประเทศเบลเยียมนี่น่าสนใจจังนะครับเพราะเขาปกครองกันในระบอบประชาธิปไตย โดยยึดถือเอารัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ตราขึ้นใน พ.ศ.2374 (ตรงกับสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นหลักแล้วก็แก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้งให้เหมาะสมกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งใน พ.ศ.2536 (หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 1 ปี) ราชอาณจักรเบลเยียมได้ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2374 โดยเพิ่มในมาตราที่ 1 โดยบัญญัติเสียใหม่มีใจความว่า

“เบลเยียมเป็นสหพันธรัฐที่ประกอบด้วยเขตชุมชนและภาคปกครอง” อันเป็นการเปลี่ยนฐานะของประเทศจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐซึ่งเป็นรูปแบบที่น่าสนใจมากนะครับคือเป็นรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ-ราชอาณาจักร (federal constitutional monarchy) โดยแบ่งออกเป็นสามเขต คือ เขตฟลามส์ เขตวาลลูน และเขตเมืองหลวงบรัสเซลส์ แต่ละเขตมีรัฐบาลท้องถิ่นปกครองตนเอง และมีรัฐบาลกลางบริหารประเทศโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image