‘คนรักษาคนไข้’ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“คนไข้” คือ คนที่มีพยาธิสภาพของทางร่างกายเปลี่ยนแปลงไป และใจก็มักจะได้รับผลกระทบให้มีพยาธิสภาพได้ด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วน “คนรักษา” คือ บุคลากรในโรงพยาบาลที่ทำงานเกี่ยวกับคนเจ็บไข้ ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล เภสัช ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน ระดับพื้นที่ตำบลหมู่บ้านเราก็จะมี “หมออนามัย” และอาสาสมัคร แม้แต่คนงาน คนทำความสะอาด คนเข็นรถคนป่วยในโรงพยาบาลก็นับว่าเป็นบุคลากรสำคัญเช่นกันที่ทำงานเกี่ยวกับคนไข้

การรักษาพยาบาลนั้น เป็น “งานบริการสังคม” ซึ่งมีหลายมิติ มีหลายอย่าง ส่วนนี้เกี่ยวกับ “คนไข้” โดยตรง หรือแม้กระทั่งระดับตำบล หมู่บ้าน โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป การบริการคนดี คนไม่ป่วย คนที่มีปัจจัยเสี่ยง เรียกว่า “งานสร้างสุขภาพ” งานเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรค ก็เป็นเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเป็นงานบริการสำคัญ ที่เรียกว่ามี “ความทุกข์” เป็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งเป็นความแปรปรวนของสภาพร่างกาย คือ “ร่างกายไม่ปกติ”

“คนไข้” เมื่อเวลาใดการป่วยแปรปรวน ก็จะพาจิตให้ปรวนแปรไปด้วย จึงเห็นได้ว่าคนเจ็บไข้ได้ป่วยทางกายนั้น “ใจ” ก็มักจะไม่ค่อยดี คือจะเป็นคนหงุดหงิดง่าย หรือยิ่งกว่าหงุดหงิด ก็จะเกิดความรู้สึกเลยเถิดเข้าสู่การเป็นทุกข์ เช่น ความเศร้าใจ ความวิตก ความหวาดกลัว เกิด “มโน” นึกถึงเลยไปว่า มันจะหายไหม จะพิการไหม จะเป็นอันตรายถึงชีวิตไหม จะหายเมื่อไหร่ อย่างนี้เป็นต้น บ้างก็เลยนึกถึงห่วงใย ญาติ พี่น้อง ลูกและเงินทองทรัพย์สมบัติ โดยเฉพาะคนในครอบครัว ที่ต้องดูแลรับผิดชอบไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ยิ่งคิดไปก็ยิ่งเสียกำลังใจทางคนไข้คงหวังว่าลูกจะมาเยือน แฟนจะมาเยี่ยม แต่เขาก็ไม่มา ตั้งตารอวันแล้ววันเล่า ก็ยิ่งเกิดวิตกนอนไม่หลับทั้งคืนก็เป็นได้ นึกถึงความว้าเหว่หวาดกลัว เศร้าโศก บางคนท้อแท้สิ้นหวัง เก็บตัวเงียบ ไม่พูดกับใคร แม้หมอ พยาบาลจะปลอบโยนก็ไม่ฟัง บางคนก็ฝันดี ฝันร้ายไปต่างๆ นานา จนกระทั่งเกิดภาพหลอน หวาดระแวง กลัวมากๆ ขึ้นไปอีก เกิดวิตกจริต เริ่มคิดในทางไม่ดี คิดร้ายทำร้ายร่างกาย ขณะแม้กระทั่งอยากฆ่าตัวตายก็เกิดได้เช่นกัน ภาวะนี้แสดงว่าผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือไม่เฉพาะทางกายเท่านั้น แต่ต้องการความช่วยเหลือทางใจด้วย ผู้รักษาที่เกี่ยวข้อง หากวิเคราะห์ได้เร็วเท่าใดก็จะมีประโยชน์กับ “คนไข้” มากเท่านั้น

อาการทางกายเราเห็นชัดเจน เพราะเขาป่วยมาก็ต้องมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง เวลาซักประวัติตรวจร่างกายจะพบอาการ การแสดง ตรวจพบจุดแปรปรวนได้ชัดเจน แต่ส่วนทางใจเขามักจะไม่บอก เก็บกด เมื่อเขาไม่ได้บอกเราก็ต้องสังเกตสังกา พิจารณาหรือคาดหมายในใจ เฝ้าระวังไว้ได้เบื้องต้น แต่โดยทั่วไปก็พูดได้ ฟังได้ เราก็วิเคราะห์อาจจะพบได้ว่า เราจะมีสภาพจิตใจไม่สบายด้วย รวมความว่า…เขาต้องการความช่วยเหลือ เขามีความทุกข์มา เราทำอย่างไรจะช่วยแก้ไข ป้องกัน ดูแล รักษา ทั้งทางกาย และทางใจ ครอบคลุมไปด้วย ให้หายโดยเร็วนี้ คือ “หัวใจ”ของ “ทีมแพทย์” ปรารถนา

Advertisement

เวลาเรารักษาพยาบาลก็มักจะเน้นแต่เรื่องทางกาย เพราะสิ่งที่ผู้ป่วยบอกก็คือ เรื่องเจ็บป่วยทางกายว่าด้วย ปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง ท้องเสีย ตลอดจนโรคของอวัยวะภายใน เช่น โรคปอด ไต หัวใจ โรคตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ สารพัดแม้แต่โรคร้ายอย่าง “มะเร็ง” ก็เป็นเรื่องทางกาย แต่ทางใจมักจะไม่บอกให้เรารู้ ก็ต้องการความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น พวกเราที่ต้องดูแลคนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้เลยว่า เราจะรักษาคนป่วยคนไข้ทั้งทางกายและจิตใจ ไม่ใช่รักษาทางกายอย่างเดียว

มองในมุมของ “คนรักษา” ก็น่าเห็นใจไม่น้อย พบเจอ “คนป่วย” หรือ “ญาติ” ที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นชม ที่ภาษาทางพระเรียกว่า “อนิฏฐารมณ์” (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) แล้ว “คนรักษา” จะทำอย่างไร…?

ธรรมดาคนเราย่อมชอบอารมณ์ที่ดี อารมณ์ก็คือสิ่งที่เราพบปะ เจอะเจอ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ตลอดจนความรู้สึกนึกคิด เวลาใดคนรักษาได้ประสบอารมณ์ที่สบายหู สบายตา เราก็มีความสุข อยากดูแลรักษา ใครๆ ก็ปรารถนาอย่างนั้น คนทั้งหลายก็อยู่ในสังคมเหมือนกัน ไม่ใช่ใครมา “พิเศษ” เราอยู่ในสังคม เราก็ต้องการแบบนี้ แต่เมื่อมาอยู่ “ในโรงพยาบาล” เรากลับพบสิ่งที่ไม่น่าชื่นชม อารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา สิ่งที่ไม่น่าดูไม่น่าฟัง ได้ยินแต่เรื่องทุกข์ ความเจ็บป่วย เห็นแต่ภาพคนไข้โอดโอย หน้าตาไม่ดี ไม่สบายทั้งนั้น บางคนก็โวยวาย บางคนก็หมดสติ

Advertisement

พอเป็นอย่างนั้น ก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไป เมื่อได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีแล้ว เราก็มักจะมีความรู้สึกเป็น “ปฏิกิริยาตอบโต้” เมื่ออารมณ์ที่เข้ามาเป็นส่วนที่ไม่ปรารถนา ไม่ถูกตา ไม่ถูกหู ไม่ถูกใจ เรียกว่า “อารมณ์บูด” เป็นทุกขเวทนา ก็ธรรมดา ก็จะเกิดความรู้สึกตอบสนอง คือ “ไม่ชอบใจ” ก็เกลียดชัง ไม่อยากพบ ไม่อยากเจอ ถ้า “เรา” ไม่ได้ตั้งใจ เตรียมใจ ตั้งสติ ปล่อยไปตามความรู้สึก ก็ชวนให้เราพลอยใจไม่สบายไปด้วย ต่อจากนั้น ก็อาจจะทำให้ “เรา” หงุดหงิดไปได้ บางท่านคิดว่า เราไม่ใช่พระอิฐพระปูนต้องนั่งรับอารมณ์เสมอไป

ดังนั้น คนทำงานด้านการรักษาพยาบาล เป็นคนที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะต้องพบกับอารมณ์ที่ไม่สบายตา ไม่สบายหู เท่านั้น งานที่ทำก็อาจจะกดดันด้วย เพราะเป็นเรื่องของ “ชีวิต” ความเป็นความตายเกิดได้ทุกขณะ ตัวเองก็ทำงานเหนื่อยอยู่แล้ว เรื่องเยอะแยะ อย่างเช่น “พยาบาล” เป็นคนกลางอยู่ระหว่างฝ่ายที่ให้การรักษาคือ “คุณหมอ” กับ “คนไข้” ต้องถูกกระทบรอบด้าน ทั้งกดทั้งดัน ก็ยิ่งทำให้เกิดแรงอัดอั้นในใจรอบด้าน งานก็เร่งร้อน คนโน้นจะเอาอย่างโน้น คนนี้จะเอาอย่างนี้ คนไข้ที่มาก็มีปัญหา มีเรื่องรีบด้วย รอไม่ได้ แต่ละรายก็เรียกร้องมาก อยากจะได้ตามใจของเขา บางทีก็รู้สึกว่าเป็นอารมณ์ที่สุดแสนจะทนทาน

ด้วยเหตุนี้จึงเป็น “ธรรมดา” ของปุถุชน ถ้าเราจะเห็น “คนรักษาคนไข้” บางท่าน เช่น พยาบาลจะต้องมีหน้าตาที่ไม่สบายใจ เพราะกระทบอารมณ์ที่กระทบมาจากทุกทิศรอบตัว นับว่าน่าเห็นใจ แต่อย่างไรก็เป็น “หน้าที่” ซึ่งเราก็อยากจะทำให้ดีที่สุด นับว่าน่าเห็นใจ เราจึงมาหาหนทางกันว่า “เรา” จะทำงานอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด ตั้งมั่นด้วย “จิตวิญญาณ” ของผู้ดีผู้เจริญด้วยเมตตาธรรม กรุณา ให้ความเอื้อเฟื้อ ให้ความเห็นใจ ให้ความอบอุ่น แก่คนไข้ คนทุกข์ มองข้ามอารมณ์บูดของคนไข้หรือญาติให้ได้ ผลนั้นจะทำให้ “คนไข้” ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างได้ผล อย่างน้อยอย่างแรกก็คือความเจ็บป่วยทางร่างกายของเขา จะมีอาการดีขึ้น หายไวขึ้น แต่ถ้าจะได้ผลดีที่สุด ก็ต้องให้ผลทางจิตใจด้วย ส่วนเรา (ญาติคนไข้) จะเป็นอย่างไร

ผู้เขียนเองก็อยากให้เขาเหล่านั้น ตั้งสติมองย้อนกลับมาดูตัวเองว่าใครก็อยากดูแลรักษาคนไข้ให้หายป่วย ต้องรู้จักระวังอารมณ์ด้วยสติที่ดี เพราะเราต้องมา ขอรับ ขอความอนุเคราะห์ให้เขาดูแล “ผู้ป่วย” ของเราให้ดีที่สุด ด้วยการคำนึงถึง “ใจเขา ใจเรา” ก็จะมีผลประโยชน์ร่วมกัน คือ Win-Win อย่าเอาแต่ใจตัวเอง เห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง

ทุนทางใจ มีความสำคัญที่จะทำให้การทำหน้าที่ของเราได้ผลดี การรักษาพยาบาลต้องทำทั้งสองด้าน คือ ทั้งทางกาย ทางใจ พอเราเตรียมใจเท่านั้นไม่พอ จะต้องมีการ “ทำใจ” ด้วย ทำใจอย่างไรจึงจะได้ผล ก่อนจะทำอะไร ถ้ามีทุนทางใจที่ดีอยู่แล้วช่วยได้มาก ทุนเดิมก็คือ “ความรักวิชาชีพ” รักวิชาชีพก็ยังกล่าวเกินไป ต้องรัก “งานของตน” คือ รักงานแพทย์ รักงานพยาบาล รักงานรักษาคนไข้ ที่สำคัญที่สุดคือ รักงานคนที่แข็งแรงอย่างไร ป้องกันไม่ให้เขาป่วย เพราะเขาไม่รู้ เขาไม่เข้าใจ หรือแม้รู้ทั้งรู้ แต่ “เรา” ต้องอดทนที่จะจ้ำจี้จ้ำไช สอนบอกกล่าวให้เขาดูแล “สร้างสุขภาพ” ด้วยการหมั่นสร้างสุขภาพด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารดีๆ มีคุณภาพครบถ้วน มีอารมณ์สุนทรียภาพ ลดความอ้วน ลด ละ เลิก กินเหล้า สูบบุหรี่ เฝ้าระวังดูแลสุขภาพเสมอๆ อย่าประมาทชะล่าใจ

เมื่อเรารักษาคนไข้ พร้อมกับรักษาใจ “ของตน” ก็สำคัญ จะมีทุนหรือไม่มีทุนก็ตาม ความนี้ก็มาถึง “การทำใจ” เมื่ออยู่ในสถานการณ์ว่าทำอย่างไรจะทำงานนี้ให้ได้ผล นอกจากจะได้ผลจากคนไข้ทั้งทางกาย ทางใจแล้ว ผลต่อกิจการของ “โรงพยาบาล” ซึ่งเป็น “องค์กร” ที่เราทำงานอยู่ก็บรรลุผลด้วยแล้ว ก็คือ “จิตใจของตนเอง” นั้นสำคัญคือ “เป็นสุข” ด้วย อย่างที่พูดๆ กันว่า “งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข” อย่างน้อยก็ให้มีทุกข์น้อย จะทำอย่างไรก็คือ “ต้องทำใจ” เรียกว่ามี มุทิตาจิต และจิตมี “อุเบกขา” ซึ่งมีวิธีหลายๆ อย่าง เช่น การมองเห็นหรือนึกถึงอะไรที่ประสบก็ให้ดี ให้เห็น ก็สนุกไปหมด ไม่ว่าเรื่องงานการอะไร ที่มาในรูปแบบใดก็ตาม หรือเห็นคนผ่านเข้ามาหน้าบึ้ง หน้างอ ได้ตามใจบ้าง ไม่ได้ตามใจบ้าง อะไรต่างๆ ได้เห็นคนแปลกๆ ได้พบสิ่งแตกต่างหลากหลาย เห็นแล้วให้มองข้ามเรื่องต่างๆ ให้ตั้งจิตให้มีสติ ก็จะสบายใจ ดูแลคนไข้ได้อย่างมีความสุข

ผู้เขียนเองในฐานะเป็น “แพทย์” คนหนึ่ง ร่วมกับพี่ๆ น้องๆ กระทรวงสาธารณสุข อยู่ในทีมงานของผู้รักษาส่งเสริมสุขภาพ คนดี คนป่วยกาย คนป่วยจิตใจ เชื่อเหลือเกิน “สมาชิกทีมสุขภาพ” ทุกคนทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข ของโรงเรียนแพทย์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งของกระทรวงศึกษาธิการ ของกระทรวงกลาโหม ของกระทรวงมหาดไทย และของกรุงเทพมหานคร ทุกองค์กร ทุกสาขาอาชีพทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัช เทคนิคการแพทย์ คนเปล คนงาน คนทำความสะอาด และอื่นๆ ทุกๆ ท่านกว่าจะเรียนจบก็ตาม ต้องผ่านจากสถาบันต่างๆ ด้วยสัญชาตญาณ จิตวิญญาณ ด้วยการศึกษาพัฒนา ฝึกฝน เจียระไน ปรับปรุงตนให้ดีให้งามยิ่งขึ้นด้วยเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆ แต่ก็ต้องขอความ “เมตตา” จากคนไข้ ญาติคนไข้ เห็นใจและเอ็นดูกันด้วย “ใจเขา ใจเรา” เพราะต่างก็ต้องการให้ “คนไข้” หายป่วยไวๆ กลับบ้านไวๆ เหมือนๆ กันแหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image