เสียสละเพื่อชาติ ลดเงินเดือนส.ส.-ส.ว.50%สู้โควิด-19

ก่อนโรคอุบัติใหม่ไวรัสโควิด-19 จะแพร่ระบาดในเมืองไทย สถานการณ์การชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบให้สถานประกอบการ โรงงานปิดตัวเองจำนวนไม่น้อยอยู่แล้ว ทำให้ลูกจ้าง พนักงานตกงานต่อเนื่อง

คนเหล่านี้เป็นแรงงานในระบบ เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมกลุ่มมาตรา 33 เมื่อตกงานจะได้รับความช่วยเหลือประกันการว่างงานตามเกณฑ์ของสำนักงานประกันสังคม

เมื่อเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาด จังหวัดต่างๆ ประกาศปิดสถานประกอบการกว่า 30 ประเภท เริ่มจากกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 มีนาคมถึงวันที่ 12 เมษายน ทำให้เกิดคนตกงาน เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ ประกอบอาชีพอิสระทั้งที่อยู่ภายใต้กฎหมายประกันสังคมมาตรา 39 และมาตรา 40 และไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

ต่อมารัฐบาลประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ จึงประกาศขยายเวลาการปิดสถานประกอบการออกไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ทำให้ผู้ตกงานทั้งแรงงานในระบบเดิมและนอกระบบเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

Advertisement

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้จำนวนผู้เดือดร้อนที่กระทรวงการคลังคาดว่าจะมายื่นขอรับความช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือนเป็นเงิน 15,000 บาทมีราว 3 ล้านคน เพิ่มพรวดขึ้นจนถึง 20 ล้านคน

ตามการคาดการณ์ของพรรคกล้า ที่มีนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้า ระบุว่าต้องใช้งบประมาณถึง 120,000 ล้านบาทต่อเดือน สามเดือนต้องใช้เงิน 360,000 ล้าน

ประเด็นมีว่ารัฐบาลจะนำเงินมหาศาลนี้มาจากไหน ซึ่งมีผู้เสนอความคิดแนวทางต่างๆ ในเชิงระบบมากมายแล้ว โดยเฉพาะการออกพระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉิน กับปรับโอนงบประมาณปี 2563 ซึ่งต้องรอการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีว่าจะใช้มาตรการใด

Advertisement

เงินอีกส่วนหนึ่งที่สามารถผ่อนเบาภาระเงินส่วนรวมได้บ้างก็คือเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีเงินสะสมจำนวนมากนับแสนล้าน เงินกองทุนนี้ส่วนหนึ่งต้องนำออกมาให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 39 และ 40 ตามหลักเกณฑ์อยู่แล้ว

แต่เนื่องจากกฎหมายที่ใช้อยู่ไม่ครอบคลุมถึงกรณีตกงานอันเป็นผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 กระทรวงแรงงานจึงมีมติให้แก้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ประกันตนได้รับสิทธิด้วย ตั้งแต่ 1 มีนาคม 63 และเสนอให้กระทรวงการคลังดูแลเพิ่มเติม ทำให้ผู้ได้รับสิทธิช่วยเหลือ เพิ่มพรวดขึ้น 5 ล้านคน

สำนักงานประกันสังคมไม่ยอมควักเงินกองทุนที่มีอยู่มาจ่ายเพิ่ม ทั้งๆ ที่ พ.ร.บประกันสังคมกำหนดให้จ่ายชดเชยกรณีว่างงานสูงสุดไม่เกินรายละ 15,000 บาทต่อเดือน แต่แทนที่จะจ่ายเต็มกำลังคณะกรรมการประกันสังคมให้ชดเชยร้อยละ 50 ต่อรายต่อเดือนคือ จ่ายแค่ 7,500 บาท

ที่ ผ่านมาผลประกอบการจากการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุน ออกดอกออกผล ได้กำไรต่อเนื่องทุกปีเป็นจำนวนมาก เพิ่งมาสะดุดเอาตอนที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและสถานการณ์ไวรัสโควิด

จึงเกิดความหวั่นเกรงว่าจะกระทบต่อฐานะการเงินและเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว เลยใช้แนวทางขอให้รัฐควักเอาเงินส่วนรวมมาจ่าย ไม่ดึงเงินกองทุนออกมาเพิ่มเพื่อแบ่งเบาภาระ ทั้งๆ ที่เป็นสถานการณ์ถึงคราวจ่ายควรจ่าย

ทำนองเดียวกัน ส่วนราชการต่างๆ ยังไม่ดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 10 มีนาคม 2563 ให้ตัดงบที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วนลง 10% นำมาสมทบที่งบกลาง ขณะนี้ยังไม่มีส่วนราชการใดระบุว่าได้ตัดงบบริหารได้แม้แต่หน่วยงานเดียว รวมทั้งงบซื้ออาวุธของกองทัพที่ถูกเสนอให้ชะลอไว้ก่อน ไม่มีคำตอบใดๆ ไปยังสำนักงบประมาณ

ครับ เมื่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเชิงระบบยังต้องใช้เวลารอการตัดสินใจ มาตรการแก้ไขเชิงจุลภาคหรือส่วนบุุคคล เป็นอีกแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ทันที หากทำจริงอย่างที่ปากพูดกัน เราจะต่อสุู้ไปด้วยกัน เราจะชนะในที่สุด

ตัวอย่างข้อเสนอเริ่มได้ยินบ้างแล้ว อาทิ ให้มหาเศรษฐีไทย 10 อันดับแรกของประเทศ ช่วยกันลงขัน ตั้งกองทุนช่วยเหลือแก้วิกฤตโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังจะตามมาอีกไม่นาน

อีกส่วนหนึ่ง ครับ ที่จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระส่วนร่วมได้ แม้เป็นเงินไม่มาก แต่เป็นสัญลักษณ์ว่าท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายเสียสละ ดังเช่น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 แม่ทัพประกาศแล้ว ไม่ขอรับเงินเดือน จะรับเงินทางเดียว

ผมเชื่อว่าหลายท่านมีความคิดนี้อยู่ แต่ไม่กล้าออกตัว เพราะกลัวเพื่อนมองหน้า เลยอาสาเสนอว่า ส.ส. ส.ว.ลดเงินเดือน 50% เอามาช่วยส่วนรวม จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

รายได้คนละแสนกว่าบาท ลด 50% คนละ 50,000 บาท 750 คน รวมเป็นเงินเดือนละ 37.5 ล้าน ไม่น้อยนะครับ ช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาล ขอเวลาอีกไม่นาน ได้ไม่น้อยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image