ยูกันดา : น้ำมันที่รอคอยยังไม่มาสักที : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ยูกันดาตั้งอยู่ใจกลางแอฟริกา

สาธารณรัฐยูกันดา เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ไม่มีทางออกทะเล มีเนื้อที่ราวครึ่งหนึ่งของประเทศไทย อาณาเขตทางตะวันออกจดประเทศเคนยา ทางเหนือจดประเทศซูดานใต้ ทางตะวันตกจดสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซาอีร์เดิมไม่ใช่สาธารณรัฐคองโกนะครับ) ทางตะวันตกเฉียงใต้จดประเทศรวันดา และทางใต้จดประเทศแทนซาเนีย ทางใต้ของประเทศรวมถึงบางส่วนของทะเลสาบวิกตอเรียอันเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ยูกันดายังมีน้ำจืดในรูปของทะเลสาบและแม่น้ำถึงหนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีทะเลสาบอยู่ถึง 165 แห่ง

ยูกันดา:ทะเลสาบอัลเบิร์ตอยู่ทิศพายัพ
แหล่งน้ำมันที่ค้นพบในแถบนี้

ยูกันดาตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษร่วม 70 ปี ได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ.2505 โดยมากทั่วโลก
มักรู้จักยูกันดาภายหลังได้เอกราชแล้วในนามของจอมเผด็จการอีดี้ อามิน ผู้ปกครองยูกันดาระหว่าง พ.ศ.2514-2522 เนื่องจาก อิดี้ อามิน เป็นคนคุ้มดีคุ้มร้ายตั้งชื่อตนเองว่า “ฯพณฯ ประธานาธิบดี
ตลอดชีพ จอมพล อัล หัจญี ด็อกเตอร์ อีดี้ อามิน ดาดา, วีซี., ดีเอสโอ., เอ็มซี., ซีบีอี., ผู้พิชิตจักรวรรดิอังกฤษในทวีปแอฟริกาทั้งหมดและผู้พิชิตยูกันดาโดยเฉพาะ” ภายใต้การปกครองของอามินถือได้ว่าไร้ซึ่งสิทธิมนุษยชน มีนโยบายในการสังหารผู้คน เป็นพวกเผ่าพันธุ์นิยม มีการลงโทษนอกกระบวนการยุติธรรม เห็นแก่พวกพ้อง มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ ข้อมูลจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนคาดว่ามีผู้เสียชีวิตในขณะที่อามินอยู่ตำแหน่งประธานาธิบดีประมาณร่วมแสนคนเลยทีเดียว

เมื่อมีการโค่นล้มจอมเผด็จการอีดี้ อามิน ลงแล้วก็มีสงครามกลางเมืองในยูกันดาหลายปี จึงมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน พ.ศ.2529 จึงได้อดีตนายทหารผู้ต่อต้านอีดี้ อามิน มาโดยตลอด ชื่อ โยเวรี คากูตา มูเซเวนี เป็นประธานาธิบดีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 34 ปีแล้ว ตามแบบผู้นำในทวีปแอฟริกาหลายๆ ประเทศนั่นเอง

พื้นฐานเศรษฐกิจของยูกันดายังคงพึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก ในสินค้าส่งออกร้อยละ 50 เป็นสินค้าเกษตร นับเป็น 25% ของจีดีพีทีเดียว โดยที่ประชากรร้อยละ 70 ของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรม ขณะเดียวกันภาครัฐบาลได้สนับสนุนอุตสาหกรรม โดยคาดการณ์ว่าปี 2561 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะเติบโต 6.2% อันเป็นผลจากนโยบายพัฒนากําลังการผลิตกระแสไฟฟ้า และการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของรัฐบาล ขณะที่ภาคบริการจะเติบโต 7.3% และการก่อสร้างจะเติบโต 12.5%

Advertisement

เนื่องจากยูกันดาเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล รัฐบาลจึงเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศเพื่อให้เชื่อมกับท่าเรือสําคัญของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีทางเลือก 2 แห่งคือ เชื่อมกับท่าเรือมอมบาซาของประเทศเคนยา หรือท่าเรือ ดาร์ เอส ซาลาม ของแทนซาเนีย ซึ่งปัจจุบันยูกันดาให้ความสําคัญกับเส้นทางเชื่อมท่าเรือมอมบาซา โดยอยู่ระหว่างการแสวงหาเงินทุนในการก่อสร้างทางรถไฟรางมาตรฐานจากเมืองมาตาบาที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนเคนยาไปยังกรุงกัมปาลาเมืองหลวงของยูกันดา โดยเส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมกับไปยังท่าเรือมอมบาซาของเคนยา อย่างไรก็ดี ยูกันดายังไม่สามารถเจรจากู้เงินจากธนาคารของจีนได้สำเร็จเพราะทางการยูกันดาระมัดระวังการกู้เงินจากจีนมาก เนื่องจากเห็นตัวอย่างการเอารัดเอาเปรียบของจีนจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว แต่ถ้าหากสร้างแล้วเสร็จ รัฐบาลคาดการณ์ว่าการขนส่งทางรถไฟจะลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 30% เลยทีเดียว

ประธานาธิบดีมูเซเวนี

ยูกันดาค้นพบแหล่งน้ำมันดิบที่ทะเลสาบอัลเบิร์ตทางตะวันตกของประเทศเมื่อ 14 ปีที่แล้ว พ.ศ.2549 ซึ่งประมาณการว่ามีน้ำมันดิบสำรองถึงหกหมื่นห้าพันล้านบาร์เรล ซึ่งจะสูบน้ำมันได้ราว 230,000 บาร์เรลต่อวันได้ถึง 30 ปีทีเดียว ซึ่งจะทำให้รัฐบาลยูกันดาจะได้เงินส่วนแบ่งปีละหนึ่งพันห้าร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนของชาวยูกันดา 42 ล้านคน จะเพิ่มจาก 630 ดอลลาร์ต่อหัวต่อคนต่อปีเป็น 1,000 ดอลลาร์ทันที

หลังจากที่ลงทุนไปกว่า 3 พันล้านดอลลาร์แล้ว บริษัทของฝรั่งเศส อังกฤษ และจีน ก็ยังไม่สามารถขุดเจาะน้ำมันได้เนื่องจากถูกฟ้องร้องหลายคดี ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและเรื่องสิทธิมนุษยชน เนื่องจากต้องขนย้ายประชาชนเป็นจำนวนหมื่นออกจากเขตสัมปทาน ทำให้บริษัทน้ำมันทั้งสามไม่สามารถเริ่มลงมือขุดเจาะน้ำมันได้ จนกระทั่งบริษัทของอังกฤษถอดใจถอนตัวออกจากการร่วมทุนแล้ว ซึ่งความคาดหมายที่จะเริ่มส่งน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลกได้ในปีนี้ (พ.ศ.2563) ก็ต้องเลื่อนไปอีกอย่างน้อย 3 ปี คือ พ.ศ.2566 จึงจะเริ่มส่งน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลกได้

Advertisement

ที่เขียนบทความเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลของไทยประกาศงดออกหวยตลอดเดือนเมษายน ทำให้เข้าใจความรู้สึกของชาวยูกันดาได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image