โทษประหารชีวิต โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ทุกครั้งที่มีข่าวฆาตกรรมสะเทือนขวัญ เช่น คดีข่มขืน ฆ่าหรือปล้นฆ่า หรือฆาตกรรมที่ทารุณ ฆาตกรรมประเภทปิตุฆาตหรือมาตุฆาต ผู้คนในสังคมก็มักจะโกรธแค้นแทนญาติพี่น้องผู้ตาย และเรียกร้องให้นำตัวฆาตกรผู้ถูกกล่าวหามาลงโทษโดยการประหารชีวิตให้ตายตกตามกัน

ประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่มีโทษทางอาญาอื่นๆ หลายแห่งก็มีบทบัญญัติ ความผิดหลายอย่างก็มีโทษถึงประหารชีวิต และประเทศไทยก็เคยมีการประหารชีวิตโดยคำพิพากษา หรือคำสั่งคณะปฏิวัติอยู่ก็หลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม มีคำถามในหมู่นักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาว่า สมควรหรือไม่ที่มนุษย์ควรจะถูกประหารชีวิต แม้ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะกระทำความผิดอย่างมหันต์ จากการกระทำที่กฎหมายในขณะนั้นบัญญัติให้เป็นความผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดโดยธรรมชาติที่สังคมใดๆ ก็เห็นว่าเป็นความผิด หรือเป็นความผิดที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ถึงประหารชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่สมควรถูกฆ่าไม่ว่าโดยใครก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่ “รัฐ” ผู้ถืออำนาจอธิปัตย์

เหตุผลของการลงโทษทางอาญา มีตั้งแต่สถานเบาไปถึงสถานหนัก กล่าวคือ ตั้งแต่ถูกว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ ให้ทำงานเพื่อสังคม ให้ทำงานหนัก ถูกกักบริเวณ จำคุก หนักที่สุดคือให้ประหารชีวิต

Advertisement

โทษอื่นๆ ไม่สู้จะมีปัญหาถกเถียงกันมากนักว่า สมควรจะมีหรือไม่มี ยกเว้นแต่เป็นการลงโทษที่เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จนเกินไป หรือการลงโทษที่ทำให้เกิดความหวาดเสียวแก่ประชาชน เช่น การเฆี่ยนตี การโบย การเอาหินขว้างปาให้ตาย หรือการประหารชีวิตโดยการแขวนคอ ยิงเป้า หรือยิงที่ตัวในที่สาธารณะ การประหารชีวิตที่ทำให้ตายอย่างช้าๆ ไม่รวดเร็ว แม้เป็นเวลาเพียงนาทีเดียวก็ถือว่าเป็นการทรมาน เป็นต้น

เหตุผลของการลงโทษประหารชีวิตที่ใช้กล่าวอ้างกันทั่วไปก็คือ เป็นการ “แก้แค้น” เพื่อให้ญาติพี่น้องของผู้ตายหรือแม้แต่สังคมได้รู้สึกว่าได้แก้แค้นผู้กระทำความผิด เหตุผลของการลงโทษโดยวิธีประหารชีวิตคงสืบเนื่องมาแต่โบราณ เช่น กฎหมายโรมัน ที่มีภาษิตที่ว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เป็นต้น

เหตุผลประการที่สอง ก็คือ เป็นการสร้างความเกรงกลัวมิให้ใครกระทำความผิดเช่นว่านั้นอีก ไม่ว่าความผิดที่มีโทษประหารชีวิตนั้นเป็นความผิดที่เป็นธรรมชาติ หรือ natural crime ไม่ว่าสังคมใด ศาสนาใด ก็ถือว่าเป็นความผิด เช่น การฆ่าคนตาย หรือความผิดที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ถึงประหารชีวิต เช่น การกระทำอันเป็นกบฏ การทำปฏิวัติรัฐประหารที่กระทำไม่สำเร็จ เป็นต้น

เหตุผลประการที่สามก็คือ การกันบุคคลผู้นั้นออกจากสังคม มิให้มีโอกาสกลับมากระทำความผิดได้อีก เพราะเมื่อบุคคลผู้นั้นถูกประหารชีวิตไปแล้ว ก็ไม่มีบุคคลผู้นั้นกลับมาทำความผิดได้อีก

ด้วยเหตุผล 3 ประการ ผู้ที่ต้องโทษประหารชีวิตจึงไม่สมควรได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด เช่น ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษเพราะการรับสารภาพ การให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานสอบสวน หรือเมื่อได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษไม่ถูกประหารชีวิตแล้วก็ได้รับการลดหย่อนไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ รวมทั้งมีความประพฤติดีหรือให้ความช่วยเหลือเจ้าพนักงานระหว่างคุมขังในคุก เป็นต้น เพราะการผ่อนโทษต่างๆ เช่นว่า ก็จะเป็นการล้มล้างเหตุผลของการลงโทษประหารชีวิตดังที่กล่าวมาแล้ว สำหรับฝ่ายที่เห็นด้วยกับการลดโทษประหารชีวิตนั้นขณะนี้มีมากขึ้นเป็นลำดับ หลายประเทศและหลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกาก็ดี มีการออกกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ให้เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิตคนโดย “รัฐ” หรือ “ผู้ถืออำนาจรัฐ” ไม่ว่าจะเป็นศาลหรือบุคคล หรือคณะบุคคลใดก็ตาม เพราะมนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วย่อมมีศักดิ์ศรี มีสิทธิในชีวิตและร่างกาย การลงโทษด้วยการโบยเฆี่ยนตีหรือการทรมานร่างกายด้วยวิธีใดในสังคมสมัยก่อน ปัจจุบันถือว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนไร้ศีลธรรม การลงโทษอย่างมากก็คือการจำกัดเสรีภาพโดยการขังไว้ในคุกตลอดชีวิต ก็เป็นการตอบสนองต่อการกำจัดบุคคลผู้นั้นออกจากสังคม ไม่ให้มีโอกาสมากระทำความผิดได้อีกอยู่แล้ว

นอกจากนั้น การประหารชีวิตจำเลย ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด ปรากฏว่ามีหลายคดีที่ปรากฏในภายหลังว่าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นไม่ได้กระทำความผิด เพราะผู้พิจารณาในกระบวนการนั้นมิได้เห็นหรือประจักษ์ด้วยตนเองว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็น

ผู้กระทำจริงๆ แต่พิจารณาพิพากษาไปตามพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นประจักษ์พยานและพยานสิ่งแวดล้อม หรือบางครั้งในฐานะปุถุชนก็อาจจะโอนเอียงไปตามกระแสความโกรธแค้นของสังคมได้ ถ้าภายหลังเกิดกรณีดังกล่าวว่าพยานหลักฐานต่างๆ เป็นพยานหลักฐานเท็จ หรือพบพยานหลักฐานใหม่ที่ลบล้างของเดิม การที่จำเลยถูกประหารชีวิตไปแล้วย่อมแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว แต่ถ้าจำเลยถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตและยังมีชีวิตอยู่ “รัฐ” ก็อาจจะ “ล้างมลทิน” และชดเชยความผิดพลาดในการพิจารณาพิพากษาได้

กรณีที่ภายหลังปรากฏหลักฐานว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิดจริงและถูกปล่อยตัวจากคุกและได้รับการชดเชย ก็มีให้เห็นอยู่เสมอ การรื้อฟื้นคดีที่ได้พิพากษาตัดสินไปแล้วก็เป็นวิธีการหนึ่ง แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาถูกประหารชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถเยียวยาเอาชีวิตกลับคืนมาไม่ได้

มีหลักฐานงานวิจัยที่สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิตก็คือ ประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิต กับประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต อัตราการกระทำความผิดอุกฤษฏ์โทษถึงประหารชีวิตต่อจำนวนประชากรมิได้มีอัตราที่แตกต่างกันเลย ดังนั้นข้ออ้างว่าการมีโทษประหารชีวิตควรมีไว้เพื่อให้คนเกรงกลัว เพื่อจะไม่กระทำความผิด ก็เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่จริง หรืออย่างน้อยการยกเลิกโทษประหารชีวิต ก็ไม่ทำให้ผู้กระทำความผิดอุกฤษฏ์ที่มีโทษสูงถึงขั้นประหารชีวิตมีมากขึ้น

สำหรับเหตุผลโทษประหารชีวิต เป็นการกระทำเพื่อเป็นการ “แก้แค้น” ให้สาสมกับการกระทำความผิดตามหลัก “ฟันต่อฟัน ตาต่อตา” ก็น่าจะเป็นวิธีคิดของสังคมโบราณ จริงอยู่ ญาติพี่น้องและมิตรสหายของผู้ถูกกระทำอาจจะโกรธแค้น ชิงชัง และต้องการให้ฆาตกรต้องตายตกไปตามกัน ถ้าหาก “รัฐ” ไม่เป็นผู้แก้แค้นให้ ครอบครัวของผู้ผู้ตายก็จะเป็นผู้ดำเนินการ “แก้แค้น” เอง ทำให้เกิดความไม่สงบสุขในสังคม

ความโกรธแค้นชิงชัง แม้จะเป็นเรื่องของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ก็ไม่น่าเป็นเหตุผลสำคัญของการลงโทษทางอาญา เพราะการลงโทษบนพื้นฐานของความโกรธแค้นชิงชัง เป็นการลงโทษบนพื้นฐานของการใช้อารมณ์ความรู้สึก และอาจจะถูกปลุกปั่นสร้างกระแสโดย “รัฐ” หรือ “ฝ่ายตรงกันข้าม” ได้ง่าย

เหตุผลอีกอันหนึ่งที่สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิตก็คือ คำสอนของศาสนาหลักๆ ทุกศาสนาไม่สนับสนุนการลงโทษประหารชีวิต ศาสนาทุกศาสนาสอนให้มนุษย์ให้อภัยซึ่งกันและกัน การลงโทษประหารชีวิตจึงขัดกับหลักศาสนาเกือบจะทุกศาสนา

ประเทศไทยแม้จะยังคงบทบัญญัติให้มีการลงโทษประหารชีวิต และแม้จะมีคำพิพากษาประหารชีวิตจำเลยผู้กระทำความผิดฐานฆ่าคนตายโดยการไตร่ตรองไว้ก่อน และไม่มีเหตุบรรเทาโทษ แต่ก็ได้ยินว่าการประหารชีวิตจริงๆ มีน้อยมาก การรอลงโทษประหารกลับมีอยู่เป็นจำนวนมาก

สังคมไทยน่าจะลองหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาดูบ้างว่าจะยังสมควรคงการลงโทษประหารชีวิตไว้หรือไม่ เมื่อวันเวลาผ่านไปและอารมณ์โกรธแค้นของสังคมเบาบางลง แม้ว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น รัฐจะต้องเอาภาษีอากรไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูก็ต้องทำ

น่าจะลองถกเถียงกันได้ว่าควรจะคงโทษประหารชีวิตไว้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image