ความขัดแย้งทางเชื้อชาติในวิกฤตโควิด-19 โดย ลลิตา หาญวงษ์

กองทัพอาระกันระหว่างการฝึก (ภาพจาก VOA News)

ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในพม่าจะไม่พุ่งสูงเหมือนประเทศอื่นๆ ใกล้เคียง แต่สัญญาณอันตรายเริ่มมีให้เห็นแล้ว เมื่อพม่าประกาศว่ามีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 คนแรก เป็นชายอายุ 69 ปี ที่เดินทางไปรักษาโรคมะเร็งที่ประเทศออสเตรเลีย ก่อนบินกลับพม่าผ่านสิงคโปร์ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พม่ามีผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว 15 ราย ส่วนใหญ่คือผู้มีประวัติเคยเดินทางไปต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ด่อ ออง ซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ยังออกแถลงการณ์การรับมือโควิด-19 ของรัฐบาลพม่า เธออ้างถึงคำเตือนของกระทรวงสาธารณสุขและกีฬาว่า พม่ามีโอกาสจะเจอการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ หลังแรงงานพม่าหลายพันคนอพยพจากประเทศไทยกลับเข้าไปในพม่า เธอยังกล่าวต่อว่าพม่ายังไม่ได้นำมาตรการ “ล็อกดาวน์” มาใช้ แต่จะใช้มาตรการกักกัน แต่ไม่ใช่การกักตัวเองในที่พัก (self-quarantine) เท่านั้น หากแต่ต้องกักชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อออกจากสังคมภายนอก ในปัจจุบัน มีผู้ที่มีความเสี่ยงและย่านที่พักอาศัยหลายแห่งที่ต้องกักตัวเองออกไป

จากรายงานของ Frontier Myanmar ชี้ให้เห็นว่าพม่ากำลังตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ และยังไม่มีการรณรงค์ให้ผู้คนเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทำให้ยังมีผู้คนนั่งในร้านน้ำชาแน่นขนัด แม้รัฐบาลจะประกาศให้ร้านอาหารหยุดบริการนั่งรับประทานในร้านไปแล้ว และแม้ว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศจะยกเลิกไปแล้ว แต่ผู้คนก็ยังเดินทางไปมาหาสู่กันข้ามจังหวัด ข้าราชการยังเดินทางไปทำงาน และยังมีคนออกมากินดื่มกัน เหมือนในสถานการณ์ปกติ

รัฐบาลพม่าเองพยายามทำให้ประชาชนสบายใจว่าตนมีมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัส แต่ Frontier Myanmar ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลพม่าไม่ได้ตระหนักว่าโควิด-19 มีอันตรายมากเพียงใด แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็เข้าใจดีว่าไม่สามารถใช้มาตรการล็อกดาวน์เหมือนที่หลายประเทศใช้มาก่อนหน้านี้ได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ ที่หาเช้ากินค่ำ หรือคนที่เข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ จะกลายเป็นผู้ประสบภัยโดยตรง และจะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจยิ่งใหญ่กว่าโควิด-19
ด้วย ในสังคมอื่นๆ เช่น ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มาตรการล็อกดาวน์ถูกงัดออกมาใช้เพื่อช่วยชีวิตคน มากกว่าช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ แต่สำหรับประเทศที่มีเศรษฐกิจง่อนแง่นแบบพม่า รัฐบาลอาจกำลังคิดว่ามาตรการเร่งด่วนควรเป็นการช่วยเศรษฐกิจมากกว่าการช่วยชีวิตคน

Advertisement

ในระหว่างที่ผู้คนส่วนใหญ่กำลังกังวลเรื่องโควิด-19 ความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่เป็นโรคเรื้อรังในพม่ามากว่า 7 ทศวรรษยังระบาดอย่างหนักต่อไป และไม่มีมาตรการใดที่จะหยุดยั้งเชื้อโรคนี้ที่กัดกร่อนสังคมและเศรษฐกิจพม่ามายาวนานได้ ผู้เขียนเคยกล่าวไปแล้วตั้งแต่ต้นปีว่าความขัดแย้งที่ต้องจับตามองในปีนี้ นอกจากประเด็นเรื่องชาวโรฮีนจาที่รัฐบาลยังไม่สามารถหาทางออกได้ ยังมีความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะกองกำลังติดอาวุธในรัฐยะไข่ ได้แก่ กองทัพอาระกัน (Arakan Army หรือ AA) การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอาระกันยังคงมีอยู่ต่อไป ในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีชาวบ้านเหยียบกับระเบิดของกองทัพอาระกัน ทำให้ชาวบ้าน 2 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐบาลพรรค NLD ขึ้นมาบริหารประเทศ รัฐบาลพม่าพยายามผลักดันกระบวนการสันติภาพ และลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม แต่โดยมากเป็นกองกำลังที่ไม่ค่อยมีเอกภาพนัก เรียกว่ารัฐบาลพม่าเกาไม่ค่อยถูกที่คัน เนื่องจากกองกำลังที่ยังสู้รบกับกองทัพพม่ามาจนถึงปัจจุบันล้วนเป็นกองกำลังกลุ่มใหม่ๆ ที่มีแนวทางแตกต่างจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยดั้งเดิม สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่ากองกำลังใหม่ๆ เช่น กองทัพอาระกัน ยังได้รับความช่วยเหลือจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในกลุ่ม Northern Alliance ที่ประกอบไปด้วย Ta’ang National Liberation Army ของชนกลุ่มน้อยตะอางในรัฐฉาน, Myanmar National Democratic Alliance Army หรือกองทัพของโกก้าง ในรัฐฉาน) และกองทัพอาระกัน นอกจากกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือที่กล่าวมาแล้ว ยังมีตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กองกำลัง KIA (Kachin Independence Army) ในรัฐกะฉิ่น ซึ่งอนุญาตให้กองทัพอาระกันเข้าไปตั้งฐานที่มั่นที่เมืองไลซา (Laiza) เมืองเล็กๆ ในรัฐกะฉิ่นติดชายแดนจีน ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของ KIA

รัฐบาลพม่าไม่ได้ต้องการปราบปรามกองทัพอาระกันด้วยการใช้กำลังเท่านั้น แต่ยังพยายามไม่ให้ประชาชนในประเทศรับรู้เรื่องราวของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่กองทัพพม่าเรียกว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” นี้เลย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม หนังสือพิมพ์ Voice of Myanmar ที่มีสำนักงานอยู่ที่มัณฑะเลย์ ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ผู้นำระดับสูงของกองทัพอาระกัน ในเวลาต่อมา บรรณาธิการ Voice of Myanmar โก เน เมี้ยว ลิน (Ko Nay Myo Lin) ถูกจับกุมด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย หน่วยสืบราชการลับพม่าแจ้งข้อกล่าวหาบรรณาธิการ Voice of Myanmar ว่าจงใจให้ขบวนการก่อการร้ายสร้างความกลัว หากศาลตัดสินว่าโก เน เมี้ยว ลินมีความผิดจริง อาจทำให้เขาได้รับโทษจำคุกระหว่าง 3 ปีถึงตลอดชีวิต

Advertisement

การจับกุมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ในพม่าก็เป็นโรคระบาดอีกโรคหนึ่งที่กัดกร่อนความน่าเชื่อถือของรัฐบาล NLD มาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่านักการเมืองของ NLD ไม่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับการทหารและความมั่นคง แม้แต่นักข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งเป็นสำนักข่าวต่างประเทศยังถูกตัดสินจำคุกมาแล้ว หลังเข้าไปทำข่าวโรฮีนจาในรัฐอาระกัน และถูกปล่อยตัวออกมาหลังจากถูกจำคุกอยู่ปีเศษ สถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อในพม่ายิ่งจะแย่ลงในอนาคต

เมื่อกองกำลังชนกลุ่มน้อยหน้าใหม่ๆ เริ่มรวมตัวกันได้ และยิ่งจะสร้างความปั่นป่วนให้กระบวนการสันติภาพ ที่รัฐบาล NLD พยายามโหมโฆษณาว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของตน ท่ามกลางการหยุดชะงัก (disruption) จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ ซึ่งน่าจะกินเวลาอีกหลายเดือนหรือเป็นปี เราจะเห็นความเคลื่อนไหวของกองกำลังชนกลุ่มน้อยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image