คนตกสี : ภราดรภาพในยามไข้ : กระจกเงาในสัญชาตญาณมนุษย์ : โดย กล้า สมุทวณิช

คนตกสี : ภราดรภาพในยามไข้ : กระจกเงาในสัญชาตญาณมนุษย์ : โดย กล้า สมุทวณิช

ภราดรภาพในยามไข้ : กระจกเงาในสัญชาตญาณมนุษย์

สมองเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนที่สุดของสิ่งมีชีวิตซึ่งมีวิวัฒนาการมายาวนานนับล้านปี จากจุดเริ่มต้นเดียวกัน ก่อนจะพัฒนาออกไปตามวิวัฒนาการของสายพันธุ์

สมองของสัตว์มีกระดูกสันหลัง อาจแบ่งได้เป็นสามห้องหรือกลุ่มก้อนของเซลล์ประสาท คือสมองส่วนหลังที่เชื่อมต่อกับสันหลัง สมองส่วนกลาง และสมองส่วนหน้า และเมื่อวิวัฒนาการผ่านไปจนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพฤติกรรมที่ซับซ้อนขึ้น สมองจะพัฒนาออกไปส่วนหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคแรกเริ่มพัฒนาเปลือกด้านนอกใหม่ขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วยไฮโพทาลามัส ฮิปโปแคมปัส และอมิกดาลา เรียกว่าระบบลิมบิก ซึ่งนอกจากการเคลื่อนไหวพื้นฐานที่ซับซ้อนขึ้นแล้ว ยังทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีความจำ การตีความ และการตอบสนองเชิงอารมณ์ที่มาจากการเรียนรู้ด้วย

พัฒนาการต่อมาในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสติปัญญาขึ้นบ้าง โดยเฉพาะพวกไพรเมทหรือวานรเนื้อเยื่อประสาทชั้นใหม่ได้พัฒนาขึ้นและกระจายไปล้อมรอบระบบลิมบิก เรียกนีโอคอร์เทกซ์ และสำหรับมนุษย์ สมองใหม่ส่วนหน้าหรือฟรอนทัลคอร์เทกซ์และพรีฟรอนทัลคอร์เทกซ์นั้นทำให้เรารู้คิด รู้จักการวางแผน การตัดสินใจที่ซับซ้อนและเหตุผล

Advertisement

อาจกล่าวได้ง่ายๆ ว่า สมองรุ่นเก่าของเรานั้นเป็นสมองที่มีลักษณะเดียวกับสัตว์ที่มีสัญชาตญาณพื้นฐาน และการตัดสินใจด้วยอารมณ์ที่ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน กลไกหนึ่งที่ช่วยให้เอาชีวิตรอดที่ออกมาจากสมองรุ่นเก่าคือ กลไกการสู้หรือหนี (Fight of Flight) เมื่อเข้าสู่กลไกนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่นการเพิ่มการไหลและความดันโลหิต อัตราหัวใจเต้น เพิ่มน้ำตาลและไขมันในเลือด เพื่อให้พลังงานเพิ่มขึ้นแก่ร่างกาย รวมถึงเพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อเพื่อให้ความเร็วและกำลังเพิ่มแก่ร่างกาย

ในภาวะแห่งการสู้หรือหนีจึงเป็นความเครียด และสำหรับผู้ที่เลือกกลไกต่อสู้ สิ่งที่จะเพิ่มขึ้นคือการตัดสินใจอย่างก้าวร้าว

หากมนุษย์เราซึ่งผ่านวิวัฒนาการและระบบโครงสร้างทางสังคมมาอย่างยาวนานหลายพันปี ทำให้เรามีกระบวนการคิดและการตอบสนองที่ซับซ้อน สมองส่วนหน้าที่พัฒนาสูงทำให้เรามีสิ่งที่เรียกว่า “มารยาท” “ความคิด” “สติ” หรือ “การวางแผน” ที่ทำให้เราอาจจะเลือกตอบสนองบางอย่างเพื่อประโยชน์สูงสุดแม้ว่าจะฝืนใจหรือขัดต่อสัญชาตญาณพื้นฐาน เช่น ใครสักคนอาจจะยอมรับประทานอาหารที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งโดยสัญชาตญาณการระวังภัยแล้วก็ไม่น่าจะตัดสินใจกิน แต่หากเพราะผู้ที่ส่งอาหารนั้นให้ คือเจ้านายหรือคู่ค้าซึ่งจะเอื้อประโยชน์ที่เหนือกว่าความไม่พึงใจหรือแม้แต่สุขภาพเล็กๆ น้อยๆ จากอาหารที่ไม่คุ้นเคยนี้ หรือบางครั้งรางวัลของการยอมฝืนความต้องการพื้นฐานนี้ อาจจะแค่ทำให้ตัวเองนั้นดูดีหรือได้รับการยอมรับในสังคม เช่นที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะยังยิ้มแย้มไม่ถือโทษเมื่อมีเด็กเล็กมาเหยียบเท้าหรือล่วงละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เพราะรู้ว่าถ้าโต้ตอบไปตามสัญชาตญาณแล้ว ตัวเองจะดูเป็น “ผู้ใหญ่ใจร้าย” ในสายตาของสังคมไป

Advertisement

ทั้งหมดนั้นคือสภาวะปกติที่เราแน่ใจได้ว่าการยอมฝืนใจหรือการหักห้ามการตอบสนองแบบตรงไปตรงมาตามความรู้สึกนั้น อย่างไรก็ไม่ทำให้เราเป็นอันตรายรุนแรงแก่กายหรือถึงแก่ชีวิต เช่นที่เรายอมสละที่นั่งบนรถประจำทางที่แน่นขนัดให้เด็ก สตรีมีครรภ์ หรือคนชราได้ เพราะการยืนเมื่อยไปอีก 2 ชั่วโมงนั้นก็ไม่ได้แย่ หากเรามีรางวัลคือความรู้สึกที่ดีต่อจิตใจตัวเอง หรือการดูดีมีมารยาทต่อสังคม

แต่เรื่องมันจะเปลี่ยนไปทันทีหากนั่นคือการหนีเอาตัวรอดจากเครื่องบินที่ไฟกำลังไหม้หรือเรือที่ค่อยๆ จมลงในน้ำ เพราะเมื่อเราประสบภัยในระดับที่ทำให้กลัวตาย สมองของเราจะถอยกลับไปใช้กลไกพื้นฐาน

การระบาดของ COVID-19 เริ่มทำให้หลายคนในสังคมเหมือนจะ “ใจร้าย” ต่อกันลงไปมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเราก็คงต้องยอมรับความจริงว่า นั่นคือรูปแบบของการถอยกลับไปสู่กลไก “สู้” หรือ “หนี” นั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมที่ชัดเจน คือเพียงสองเดือนก่อนเท่านั้นในช่วงต้นของการแพร่ระบาด ตอนที่ยังไม่มีแม้แต่ชื่อเรียก ยังคงกินพื้นที่อยู่เพียงในเมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน ในตอนนั้นเมื่อข่าวว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ไปทำงานหรือศึกษาต่ออยู่ที่นั่นยังติดค้างอยู่ หากยังจำกันได้คือกระแสสังคมในตอนนั้นล้วนแต่เอาใจช่วย ไปจนถึงเรียกร้องให้รัฐบาลจะต้องพาคนไทยทั้งหมดกลับบ้าน ทั้งกลายเป็นความโกรธเกรี้ยวต่อผู้นำและรัฐบาลที่เหมือนจะไม่อินังขังขอบกับ “คนไทย” ที่ติดตายอยู่ที่นั่น ในตอนนั้นแทบทุกสายการบินเสนอขอให้รับคนไทยกลับมา และพวกเราส่วนใหญ่ต่างเอาใจช่วยว่าเมื่อไรที่คนไทยกลุ่มนั้นจะได้กลับบ้านเสียที

ช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความรู้สึกของสังคมเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลออกมาตรการกีดกันสร้างความยากลำบากในการกลับมาตุภูมิของคนไทยในต่างแดนด้วยมาตรการ Fit to fly ที่มีข้อท้วงติงว่าไม่ได้สัดส่วน มีปัญหาในทางปฏิบัติ และน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่กระนั้นเสียงส่วนใหญ่ของสังคมก็มองในแง่ที่ว่า มาตรการดังกล่าวดีแล้ว ชอบแล้ว หรือที่ใจร้ายไปเลยก็รังเกียจเดียดฉันท์ว่า จะกลับมาทำไมให้เป็นอันตรายและเพิ่มความเสี่ยงต่อประเทศ

และชัดเจนยิ่งต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายในคืนวันศุกร์ที่แล้ว เมื่อการจัดการที่ขาดการเตรียมพร้อมและความเละเทะมั่วซั่วในการสื่อสาร อันเป็นเหตุให้คนไทยจำนวนหนึ่งซึ่งกลับมาอย่างถูกต้องตามมาตรการ Fit to fly และปฏิเสธการกักตัวที่ไม่ชัดเจน จนได้รับการปล่อยตัวออกมาอย่างงงๆ โดยการอนุญาตจากบุคคลในเครื่องแบบ กลับนำไปสู่การ “ล่าแม่มด” อย่างใหญ่โตในวันรุ่งขึ้น

เพราะความหวาดกลัวต่อโรค COVID-19 ที่เรารู้แล้วว่าใครๆ ก็อาจจะติดได้แม้ป้องกันอย่างดี และเมื่อติดแล้วก็ไม่มีอะไรรับรองได้ว่าจะส่งผลรุนแรงถึงขั้นไหน ให้ยากดีมีจน เป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นคนหนุ่มสาวหรือคนมีอายุ จะมีโรคประจำตัวหรือไม่ก็ตาม หากไวรัสสุ่มความตายให้แล้วก็ตายได้ หรือที่ไม่ตายก็ต้องทุกข์ทรมานทั้งร่างกายจากเชื้อไข้ และทางใจจากการที่ต้องแยกจากคนที่รักที่ผูกพันเป็นเวลานานนับเดือน

ความน่ากลัวและอันตรายถึงชีวิตนี้เองที่ผลักดันให้คนส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ถูกยึดครองความคิดการตัดสินใจและการแสดงออกตอบโต้ด้วยกลไก “สู้หรือหนี” ที่มาพร้อมกับความก้าวร้าวและหวาดกลัว

หากสมองอันซับซ้อนของมนุษย์เราไม่ได้มีแค่โหมดพื้นฐานอย่างการสู้หรือหนี หรือโหมดชั้นสูงที่เป็นการตัดสินใจด้วยเหตุผลซับซ้อนเท่านั้น แต่มันยังมีระบบกลไกอันน่าทึ่งอยู่อีก

นั่นคือเซลล์ประสาทอยู่กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าประสาทกระจกเงา (The Mirror Neuron) ซึ่งจะเป็นระบบที่ทำให้เราสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกและความเจ็บปวดของผู้อื่นได้

โดยปกติแล้วเมื่อเราได้รับความเจ็บปวด เช่นถูกเข็มตำหรือมีดบาด เซลล์ประสาทในศูนย์ควบคุมความเจ็บปวดในสมองจะถูกกระตุ้น ซึ่งหากมีการสแกนดูจะเห็นว่าเซลล์กลุ่มนั้นสว่างวาบขึ้น และสมองจะตีความว่านี่คือความเจ็บปวดที่เราต้องทำอะไรสักอย่าง เช่น หนีให้พ้นหรือบรรเทาอาการรักษาบาดแผล

แต่เรื่องน่าแปลกคือ เมื่อใดก็ตามที่เราได้เห็นภาพของคนอีกคนหนึ่งได้รับความเจ็บปวด เช่นเห็นคนอื่นถูกเข็มตำ เซลล์ประสาทกลุ่มนี้ก็จะมีปฏิกิริยาสว่างวาบขึ้นมาราวกับเราถูกเข็มตำจริงๆ ทั้งที่เราไม่ได้ถูกเข็มตำเอง นี่คือคำตอบว่า ทำไมเมื่อเราเห็นภาพอันหวาดเสียว เช่นคนประสบอุบัติเหตุในคลิปหรือในโทรทัศน์ ในบางครั้งเราจึงมีความรู้สึก “เจ็บ” ราวกับความเจ็บปวดในจอภาพนั้นถ่ายทอดออกมาได้จริงๆ บางคนอาจจะเผลอเอามือสัมผัสร่างกายตัวเองในบริเวณที่เห็นว่าคนอื่นเจ็บปวดด้วย

นี่คือผลของเซลล์ประสาทกระจกเงา ที่อาจจะเป็นสิ่งยืนยันว่าสิ่งที่เรียกว่า “มนุษยธรรม” หรือ “ภราดรภาพ” นั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติธาตุแท้ของพวกเรา

ในวันนี้เราคงคาดเดาสถานการณ์ได้ยากว่า COVID-19 จะพาเราไปได้ถึงไหน ในที่สุดรัฐบาลจะผลักดันมาตรการใดๆ มาเพื่อระงับยับยั้งการแพร่ระบาด แต่ไม่ว่าจะใช้มาตรการใด ต่อให้สมเหตุสมผลหรือได้สัดส่วนแก่ความร้ายแรง แต่จะต้องมีคนเจ็บปวดหรือเดือดร้อนจากมาตรการเหล่านั้นไม่ว่าจะน้อยหรือมาก

นี่เองที่เราอาจจะต้องปลุกประสาทกระจกเงาของเราให้ตื่นขึ้นเพื่อรับรู้ความทุกข์ของคนอื่นในสังคม แม้ว่าเราเองอาจจะไม่ได้ทุกข์ร้อนเจ็บปวดเช่นนั้น

แม้ว่าเราจะอยู่ในบ้านซึ่งปลอดภัย ปรับอากาศให้อยู่สบาย อาหารการกินมีพร้อม อินเตอร์เน็ตและความบันเทิงยังพอเข้าถึงได้แม้จะขาดความสะดวกสบาย ได้อยู่กับคนที่รักหรือคนในครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา บางท่านอาจจะโชคดียังมีการมีงานทำจากที่บ้านได้ รายได้ไม่ได้ลดหรือไม่ได้แย่อะไร

แต่เราก็ควรจะใช้ประสาทกระจกเงา “รับรู้” ความทุกข์ร้อนและความยากลำบาก ของคนที่ไม่มีบ้าน หรืออยู่ในห้องหับที่อุดอู้ อาหารการกินมีมื้อต่อมื้อ ไม่มีแม้แต่โทรศัพท์หรือการสื่อสาร ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่รู้ว่าวันต่อไปจะใช้ชีวิตรอดอย่างไร

คนที่พลัดที่นาคาที่อยู่ ห่างจากคนที่รักและครอบครัว อย่างที่ไม่สามารถกลับไปเจอกันได้ หรือคนที่หวาดกลัวเหน็บหนาวอยู่ในต่างแดน

เซลล์ประสาทกระจกเงาของเราที่ทำงานจะส่องแสงไปบอกสมองเราว่า เราจะสามารถช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับความลำบากนั้นอย่างไร เสมือนกับเราเป็นผู้ตกทุกข์ได้ยากนั้นเอง แต่โชคดีว่าเรายังมีพลังและโอกาสมากกว่า

หรือแม้แต่อาจจะทำอะไรไม่ได้ อย่างน้อยก็ขอให้เราสัมผัสถึงความทุกข์ร้อนหวาดกลัวของพวกเขา ก็น่าจะทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสินว่าร้ายหรือทำร้ายพวกเขาอย่างทารุณกราดเกรี้ยว แค่นั้นก็อาจจะเพียงพอแล้ว

เพราะอย่าลืมว่า หากสถานการณ์มันเลวร้ายลงไปกว่านี้ กฎหมายหรือศีลธรรม มันก็คือคุณค่าหรือเรื่องเล่าทางศาสนาหรือสังคม ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอหรอกที่จะกดข่มสัญชาตญาณการเอาตัวรอดพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต อย่างการต่อสู้ปล้นชิง หรือการทิ้งใครบางคนไว้ข้างหลังแล้วหนีไปเสียดื้อๆ

ในตอนนั้น กำลังทางกายภาพจะเป็นทางรอดเดียว ไม่แตกต่างจากสังคมสัตว์ป่า ซึ่งเราคงไม่อยากให้ลูกหลานตัวเล็กๆ ของเราถูกฆ่าตายเพื่อชิงข้าวไปสักถุงหรือไข่สักถาดหรอกกระมัง

เรายั้งสังคมไม่ให้ไปถึงจุดนั้นได้ด้วยภราดรภาพ ด้วยระบบประสาทกระจกเงาที่มีอยู่ในเราทุกคน

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image