โปรดระวังของแท้ โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

 

เห็นเขาเอะอะโวยวายกันว่า มี “คำธิบายร่างรัฐธรรมนูญปลอม” ก็เลยนึกไปถึงเมื่อสักยี่สิบกว่าปีก่อนที่คนขายสินค้าของแท้กับของปลอมวางกันให้เกลื่อนตามท้องตลาด เพราะการบังคับตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ก้าวหน้าแพร่หลายเท่าสมัยนี้

ในยุคนั้น ใครคิดว่าตัวเองขายของแท้แต่ขี้คร้านจะไปต่อสู้ดำเนินคดี ก็จะต้องนำป้าย “โปรดระวังของปลอม” มาติดไว้ พร้อมบอกจุดสังเกตว่าสินค้าจริงของตัวเองแตกต่างจากของปลอมอย่างไร เช่น ตราไอ้เข้ต้องหันขวา อ้าปาก อาแปะบนฉลากต้องอมยิ้มเล็กน้อยแต่พองาม

คนขาย “ของปลอม” บางท่านมีอารมณ์ขัน นอกจากยอมรับตรงๆ ว่าตัวเองขาย “ของปลอม” แล้วก็ยังเอาป้าย “ระวังของแท้” มาติดให้เฮฮากันไป

ADVERTISMENT

เมื่อมีผู้อ้างว่ามี “ของปลอม” ก็แปลว่าต้องมีของแท้เสียก่อน การจะตัดสินว่าอะไรแท้อะไรปลอม ตัว “ผู้ผลิต” ของชิ้นนั้นคงจะตัดสินด้วยตัวเองไม่ได้ ไม่งั้นก็คงจะเหมือนกับคำพูดติดตลก ที่ว่า “มันจะปลอมได้อย่างไร ก็ปั๊มมากับมือหลังบ้านนี่เอง”

บางกรณี ความเป็นของแท้ของปลอมก็ออกจะเลื่อนไหลอยู่ เช่น พวกสินค้า “ของเทียบ” ทั้งหลาย คือเป็นของที่ผู้ผลิตไม่ใช่ “เจ้าของ” งานต้นฉบับก็จริง แต่สิ่งที่ผลิตนั้นพอจะใช้ “แทน” ของแท้ได้แบบไม่มีปัญหาอะไร อย่างนี้ต่อให้ผู้ผลิตของเทียบจะอ้างชื่อสินค้าตัวต้นแบบ ก็เคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาว่าไม่ถือว่าเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า พูดง่ายคือไม่เป็น “ของปลอม”

ADVERTISMENT

แต่ “ของเทียบ” ก็คือ “ของเทียบ” ซึ่งถึงจะ “ไม่ปลอม” แต่ก็ “ไม่แท้” อาจจะใช้แทนกันได้บ้าง หากก็จะมีอะไรสักอย่างที่ไม่เหมือนของแท้ เช่นถ้าเป็นอะไหล่ชิ้นส่วนก็อาจจะไม่ทนทานเท่าของยี่ห้อ ดังนั้น ใครที่อยากได้อะไรที่สมบูรณ์แบบ ก็จะหลีกเลี่ยงพวก “ของเทียบ” หรืออาจจะกลั้นใจใช้ไปพลางๆ แต่ถ้ามีของแท้ให้เลือก ก็คงจะถอดของเทียบทิ้งโดยไม่ลังเล

เมื่อเอาเรื่องขอแท้ของเทียบมาเปรียบกับเรื่องรัฐธรรมนูญที่โวยวายกัน ก็อาจจะมีอยู่เหมือนกันที่ (ร่าง) รัฐธรรมนูญบางฉบับถูกกังขาในความ “แท้” โดยผู้จัดทำอาจจะโฆษณาว่า “มันก็ใช้ได้เหมือนๆ กัน” หรือมีองค์ประกอบเหมือนๆ รัฐธรรมนูญก่อนหน้า รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีการเลือกตั้ง มีสองสภา ให้สภาตั้งนายกเหมือนกัน แต่ถ้าเอาเข้าจริงๆ สิทธิเสรีภาพของประชาชนกลับคืนมาแบบเว้าแหว่งเต็มไปด้วยข้อจำกัดหรือเปลี่ยนจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเสมอภาคไปสู่รูปแบบสังคมสงเคราะห์ วางระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ ผู้แทนจากประชาชนมีอำนาจแบบไม่สุด มีเงาใครอีกกลุ่มค้ำหัวอยู่ อันนี้ถึงเขาจะอ้างว่าเป็น “ของแท้แบบทำมากับมือ” ที่จะเรียกว่า “ของปลอม” ก็ไม่เชิง แต่จะให้ยอมรับว่าเหมือนของแท้ก็ยาก

เราก็อาจจะพอเรียกว่า “รัฐธรรมนูญของเทียบ” ได้อยู่เพื่อไม่ให้แสลงใจผู้จัด แต่ก็ไม่ต้องรู้สึกกระดากใจต่อตัวเอง และหากมีเหตุจำเป็นถูกเขาบังคับใช้ เราก็ควรจะรู้ว่ากำลังใช้ “ของเทียบ” เพื่อรอ “ของจริง” เมื่อมีโอกาส

ต่อให้ของเทียบนั้นจะทำได้แนบเนียนแค่ไหน อย่างที่ในวงการเรียกว่าของ “ก๊อปเกรดเอ” ที่ดูแล้วเหมือนของแท้เปี๊ยบๆ ชนิดว่าแยกได้ยาก เพราะผู้ผลิตนั้นเป็น “โรงงาน” เดียวกับที่ผลิตของแท้นั่นแหละ แต่ว่าเป็นการแอบผลิตเกินกว่าคำสั่งที่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาดั้งเดิมอนุญาตไว้ แล้วเอามาขายเอง ดังนั้น วัสดุเนื้องานอาจจะดูเหมือนกันไปหมด แต่คนที่ดูเป็นก็จะสังเกตได้ว่า ของที่ผลิตโดยเจ้าของที่มีสิทธิโดยตรงไม่ได้อนุญาต ไม่ให้อำนาจเอาไว้ อย่างไรเสียมันก็ต้องมีจุดที่แตกต่างจาก “ของแท้” ที่ได้รับอำนาจและการอนุญาตโดยชอบธรรมจากผู้ทรงสิทธิแน่ๆ

รัฐธรรมนูญที่ “ผู้ผลิต” ปั๊มกันขึ้นมาโดยไม่ถามความต้องการของ “เจ้าของอำนาจ” ก็คงคล้ายๆ กันกระมัง คือหน้าตาจะดูคล้าย งานดี งานเนี๊ยบ และดูเกรดเออย่างไร แต่เนื้อในของยากที่จะสมบูรณ์เหมือนของจริง

กลับมาถึงเรื่องที่เขาเต้นแร้งเต้นกากันว่ามีคนปลอมร่างและคำอธิบายรัฐธรรมนูญ ที่ในเรื่องนี้ต้องยอมรับว่า มันมีสิ่งที่ถือเป็นต้นฉบับอยู่ คือต้นร่างของรัฐธรรมนูญที่ท่านผู้จัดได้ยกร่างกันขึ้นมา ข้อความทั้งหมดตั้งแต่ตัวอักษรแรกยันตัวอักษรสุดท้าย ที่เป็น “ตัวบท” ของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นงานต้นฉบับที่เขาย่อมหวงห้ามมิให้เอาไปดัดแปลงได้

ดังนี้ถ้าใครเอา “ตัวบท” ไปดัดแปลงตัดทอนของเขาออกแม้แต่ตัวอักษรเดียว ย่อมถือเป็นการ “บิดเบือนข้อเท็จจริง” แน่นอนอยู่แล้ว

แต่สำหรับคำวิจารณ์เชิง “คุณค่า” หรือการตีความตัวบทนั้น จะมีของปลอมได้ด้วยหรือ? ในเมื่อเป็นความเห็นและการวิเคราะห์ ซึ่งมันเป็นของใครของมัน หากไม่มีการดัดแปลงส่วน “ตัวบท” ให้ผิดเพี้ยนไป หรือแสดงตนเป็นคนอื่นหรือเจ้าของร่าง จะเรียกว่าเขาปลอมงานได้อย่างไร ก็เหมือนเวลามีผู้วิจารณ์วรรณกรรม หากเขาเห็นว่างานชิ้นนั้นไม่ดีไม่งามอย่างไร โดยยกถ้อยคำจากงานต้นฉบับมาโดยครบถ้วน จะหาว่าเขา “ทำของปลอมวรรณกรรม” ขึ้นมาก็คงจะไม่ยุติธรรมนัก หากมีนักเขียนท่านใดยอมรับเฉพาะคำวิเคราะห์วิจารณ์เชิงบวก (ที่ตัวเองเขียนเองอีกต่างหาก) แล้วบอกว่าคำวิจารณ์ที่ไม่ถูกใจตัวเป็นของปลอม หนังสือปลอม อย่างนี้ก็ไม่น่าจะเป็นผู้ประพันธ์ที่เป็นธรรมเท่าไรนัก

ในทางวรรณกรรมมีคำว่า “ผู้ประพันธ์ตายแล้ว” ซึ่งหมายถึงว่าเมื่อเนื้อตัวงานเสร็จออกมา ผู้ประพันธ์นั้นถือว่าตายไปจากตัวงาน การวิจารณ์หรือตีความเป็นอำนาจของผู้อ่าน ผู้ประพันธ์ควรตายตาหลับยอมรับฟัง หาใช่ฟื้นขึ้นจากหลุมมาหลอกหลอนโต้เถียงกับผู้วิจารณ์ไม่

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวก็เห็นต่างนิดหน่อยว่า ฝ่ายที่ทำความเห็นแย้ง ก็ไม่น่าไปนำเอาส่วนที่เป็นการจัดรูปแบบ หรือหน้าปก ของงานต้นฉบับมาใช้ น่าจะออกแบบใหม่ไปเลยมากกว่า เพื่อไม่ให้ต้องครหาหรือถูกเล่นงานด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (เพราะรูปภาพและการจัดรูปแบบนั้นถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้ผลิตต้นฉบับ) ยิ่งเมื่อเจ้าของงานที่อ้างว่าเป็น “ของแท้” เขาหวงข้าวหวงของเขา แถมยังมีทั้งกฎหมายและอำนาจรัฐสนับสนุนอยู่ เพื่อการแสดงความเห็นต่างที่ปลอดภัยไร้ปัญหา ก็อาจจะจำเป็นที่เราจะต้อง “ระวังของแท้” กันสักหน่อย

แต่โปรดระวังว่า “ของแท้” อาจจะไม่ใช่ “ของจริง” โดยของแท้ก็อาจจะเป็นของเทียบแท้ๆ เลียนแบบเกรดเอแท้ๆ เจ้าของสิทธิที่แท้จริงไม่ได้ยินยอมหรือสั่งให้ผลิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image