สถานการณ์ ไวรัส งบประมาณ พ.ศ.2564 และ แรงกระแทก

สถานการณ์ ไวรัส งบประมาณ พ.ศ.2564 และแรง กระแทก

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จะอยู่ในความสนใจเชิงเปรียบในทางสังคมอย่างเป็นพิเศษ

เปรียบเทียบกับงบประมาณ พ.ศ.2563

ต้องยอมรับว่า การจัดทำงบประมาณอันปรากฏผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประ มาณ พ.ศ.2563 เกิดขึ้นก่อนสถานการณ์ “ไวรัส”

จึงมีข้อเรียกร้องให้มีการปรับปรุง แก้ไข

Advertisement

เป็นการเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยน ยกเลิกและเกลี่ยงบประมาณโดยให้เน้นไปยังปัญหาทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจเป็นหลัก

แต่ได้รับการแก้ไขจาก “รัฐบาล” ไม่มากนัก

ยิ่งหากกระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ยังแทบไม่ต่างไปจากของปีงบประมาณ 2563 จะยิ่งเกิดคำถาม

เป็นคำถามถึง “กระบวนทัศน์” ในทาง “ความคิด”

ขณะนี้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแล้วว่า สถานการณ์ไวรัสเป็นสถานการณ์ในระดับ Big Bang ซึ่ง ดร.ระวี ภาวิไล ถอดออกมาว่า

เป็นสถานการณ์ “บิ๊ก เปรี้ยง”

คำว่า Big Bang อาจจำกัดในเรื่องของ “จักรวาล” แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่าแรงกระแทกของมันส่งผลอย่างลึกซึ้งในทาง “ความคิด”

มีความจำเป็นต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่”

ความจำกัดก็คือ รัฐบาลก็ยังมีนายกรัฐมนตรีคนเก่า ก็ยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนเก่า ก็ยังมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนเก่า

แล้วจะเกิดงบประมาณ “ใหม่” ในทางความคิดได้อย่างไร

นี่จึงมิได้เป็นปัญหาในงานอันเกี่ยวกับ “งบประมาณ” เท่านั้น หากแต่ยังสัมพันธ์กับโครงสร้างของระบบที่ดำรงอยู่ในลักษณะ “รัฐราชการรวมศูนย์” มากกว่า

จึงยังเน้น “ความมั่นคง” ในแบบเดิม มิใช่ความมั่นคงในแบบใหม่

รัฐบาลอาจยังมีความมั่นใจใน “อำนาจ” ทางการเมืองที่ดำรงอยู่บนรากฐานแห่งความมั่นคงแบบเก่า อันเป็นความมั่นคงในยุคสงครามเย็น

กระทั่งมองไม่เห็นความจำเป็นต้อง “เปลี่ยน”

แม้ไวรัสจะส่งแรงกระแทกอันเหมือนกับเป็น “สัญญาณใหม่” ที่มีศักยภาพรุนแรง ลึกซึ้งและกว้างขวางอย่างยิ่ง

แต่ก็ไม่เกิดภาวะสั่นไหวในทาง “ความคิด”

กระนั้น หากดูคำถามอันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในเชิงคาดทำนายต่ออนาคตทั้งในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมืองและในทางวัฒนธรรมอันเซ็งแซ่อยู่ในขณะนี้

ก็มิอาจดูเบาได้อย่างเด็ดขาด

แรงกระแทกจากการเข้ามาของ “ไวรัส” เหมือนกับเป็นระฆังบ่งบอก “ฤดูกาล” ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างใหญ่หลวง

จำเป็นต้องถอด “เสื้อเก่า” และสวมใส่ “เสื้อใหม่” แทนที่

กรณีของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จึงดำเนินไปเหมือนกับเป็นกรณีตัวอย่าง กรณีศึกษา

ตรวจสอบ อุณหภูมิ สังคม การเมือง

หากสังคมไม่ตั้งข้อสงสัย หากสังคมยังดำรงอยู่ในกระสวนแบบ “พวกมาก ลากไป” ไม่สนใจกับแรงกระแทกใดๆ ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

ไม่นาน “คำตอบ” คงปรากฏให้เห็นเป็น “รูปธรรม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image