กองทัพพม่ากับวิกฤตโควิด-19 โดย ลลิตา หาญวงษ์

จากประสบการณ์ตลอดหลายปีที่คลุกคลีกับผู้คนและสังคมพม่า และการสังเกตการณ์พม่าในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังสร้างความปั่นป่วนอย่างหนักให้แทบทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงพม่าเอง ผู้เขียนย้อนกลับมานึกถึงลักษณะเด่นของสังคมพม่า อาจจะเป็นการเหมารวมไปสักหน่อย แต่รัฐและสังคมพม่ายังเป็นโรคกลัวชาวต่างชาติ (xenophobia) กันอยู่ค่อนข้างมาก หากผู้อ่านได้ติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพม่าบ้าง ก็อาจจะได้ยินหรือได้อ่านข้อความหนึ่งซ้ำๆ กันในทุกข่าว นั่นคือผู้ติดโรคโควิด-19 ล้วนมีประวัติเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หรือเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปในพม่า ในขณะที่การติดกันภายในชาวพม่าเองยังมีจำนวนไม่มากนัก

ด้วยความคิดว่าโควิด-19 เป็นโรคที่ถูกนำเข้ามาในประเทศ ทำให้รัฐบาลพม่าใช้มาตรการคุมเข้มไม่ให้ชาวต่างชาติทุกชาติเข้าประเทศ ผ่านการหยุดให้วีซ่า ยกเว้นนักการทูต เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และลูกเรือบนเครื่องบินและเรือสินค้า มาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลพม่านำมาใช้กับคนพม่าเองยังมีการสั่งให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดการเดินรถประจำทางทุกสาย และยกเลิกการเฉลิมฉลองเทศกาลตินจาน (สงกรานต์พม่า) ที่กำลังจะมาถึงเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส

จนถึงวันที่ 7 เมษายน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพม่ายังมีน้อยที่ 22 คน และเสียชีวิต 1 คน อีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลหยิบมาใช้คือการตั้งศูนย์กักตัวเฉพาะกิจขึ้น มีประชาชนถึง 6 หมื่นกว่าคนที่ยังอยู่ในศูนย์กักตัวเหล่านี้ ความกลัวเชื้อโควิด-19 อาจไม่ได้เป็นเพียงความกลัวพยาธิสภาพของโรค แต่ยังกลัวว่าภัยที่มาจากต่างประเทศนี้จะเข้าไป “ดิสรัปต์” วิถีชีวิตของคนพม่า ดังนั้นเราจึงเห็นมาตรการป้องกันและสกัดกั้นให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายออกไปได้น้อยที่สุด

แม้แต่กองทัพพม่า อันเป็นหน่วยงานที่มีความอนุรักษนิยมสุดขั้ว และไม่ค่อยเห็นออกมาทำงานสาธารณประโยชน์ ยังร่วมบริจาคและนำบุคลากรของตนเองมาเป็นด่านหน้าของการรักษาผู้ป่วย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลย่างกุ้งประกาศตั้งโรงพยาบาลสนามขนาด 200 เตียง แถบชานเมืองย่างกุ้ง เพื่อรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ แต่ข้อจำกัดของพม่าคือมีบุคลากรทางการแพทย์น้อย และไม่สามารถผลิตนักศึกษาแพทย์ป้อนได้ทันช่วงวิกฤตนี้ รัฐบาลย่างกุ้งจึงร้องขอไปทางกองทัพเพื่อให้ส่งบุคลากรทางการแพทย์ 2 ทีม มาประจำที่โรงพยายามสนาม ที่ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านพักบุคลากรของสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือนในเขตเหล่กู (Hlegu) ทางตอนเหนือของย่างกุ้ง

Advertisement

มาตรการช่วยเหลือการต่อสู้โควิด-19 ของกองทัพ ยังรวมถึงการขอรับบริจาคเงินภายในกองทัพ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด บริจาคเงินเดือน 1 เดือน และนายทหารคนอื่นๆ ก็ร่วมบริจาคกันตามกำลัง ทำให้มียอดบริจาคจากกองทัพพม่าแล้ว 2.2 พันล้านจ๊าต หรือ 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเป็นเรี่ยวแรงหลักฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในวัดและโรงพยาบาลทั่วประเทศ

บทบาทนำของกองทัพในการต่อสู้กับโควิด-19 ในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะกองทัพส่งคนของตนเอง รองประธานาธิบดีคนแรก อู มยิ้น ส่วย (U Myint Swe) เข้าไปนั่งเป็นประธานในคณะกรรมการควบคุมโควิด-19 และการเตรียมพร้อมตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน เห็นได้ชัดว่าคณะกรรมการที่เพิ่งตั้งขึ้นมานี้เป็น “เรื่องของกองทัพ” มากกว่าเรื่องของรัฐบาลพลเรือน นอกจากรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งที่นั่งอยู่หัวโต๊ะแล้ว คณะกรรมการคนอื่นๆ ก็ล้วนเป็นคนจากกองทัพเกือบทั้งหมด มีรัฐมนตรีสายพลเรือนที่สอดแทรกเข้ามาเพียงไม่กี่คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, กระทรวงคนเข้าเมืองและประชากร, กระทรวงศาสนาและวัฒนธรรม, กระทรวงคมนาคมและสื่อสาร และกระทรวงสวัสดิการสังคม ในขณะที่ไม่มีรายชื่อของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว

ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ คณะกรรมการผสมกองทัพกับพลเรือนจะร่วมกันหามาตรการเพื่อป้องกันโรคและรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ที่เราเห็นการร่วมมือกันระหว่างข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหาร ในขณะเดียวกัน รัฐบาลพม่า ที่นำโดยด่อ ออง ซาน ซูจี ก็ได้ตั้งคณะกรรมการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มยิ้น ทวย (Myint Htwe) ด้วย

Advertisement

บทบาทของกองทัพที่ออกมาเป็นผู้นำในสถานการณ์เช่นนี้เป็นที่น่าจับตามอง ในความเป็นจริง ตัวเลขผู้ติดเชื้อในพม่าอาจมีสูงมากกว่าสถิติของทางการ แต่ด้วยระบบสาธารณสุขที่ไม่ทั่วถึง ทำให้มีการตรวจคัดกรองผู้ที่ป่วยด้วยเชื้อโควิด-19 น้อย สิ่งที่พม่าทำมาโดยตลอดคือพยายามไม่เป็นเป้าสายตาของประชาคมโลก เพียงปัญหาโรฮีนจา และการปะทะกันระหว่างกองกำลังชน
กลุ่มน้อยในรัฐฉิ่นและรัฐยะไข่กับกองกำลังของรัฐบาลก็ทำให้พม่าเป็นที่สนใจมากเพียงพอแล้ว และอาจเป็นด้วยเหตุนี้ที่กองทัพจำเป็นต้องเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาอย่างเด็ดขาด ภายใต้รัฐธรรมนูญพม่า กองทัพมีอำนาจดำเนินกิจกรรมที่เป็นเอกเทศ รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถตรวจสอบได้ แม้แต่ประชาชนทั่วไปที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมาหลายสิบปี (ก่อนการปฏิรูปทางการเมืองในปี 2010) ก็ยังเห็นดีเห็นงามกับการที่กองทัพพม่าใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อป้องปรามไม่ให้ประชาชนออกนอกเคหสถาน และเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายให้สังคมกลับสู่ความสงบเร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิด-19 ในพม่าไม่สู้ดีนัก เว็บไซต์ Frontier Myanmar อ้างตัวเลขว่าภายในปีนี้อาจมีผู้เสียชีวิตด้วยเชื้อโควิด-19 ในพม่ามากถึง 50,000 คน จำนวนนี้อาจฟังดูมาก แต่เมื่อเทียบกับโรคภัยอื่นๆ ที่ประชาชนในพม่าต้องเผชิญ เช่น มีคนพม่าเสียชีวิตด้วยวัณโรคถึง 100,000 คนต่อปี และมีผู้ติดเชื้อมาลาเรียมากถึง 700,000 คน ทำให้โควิด-19 ไม่ใช่เพียงโรคติดต่อร้ายแรงโรคเดียวที่เป็นอันตรายต่อประชากรในพม่า ดังนั้นการให้กองทัพออกมาบังคับประชาชนไม่ให้ออกนอกบ้าน หรือการใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพในช่วงเวลาวิกฤตนี้จึงไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ภายหลังวิกฤตโควิด-19 นี้สิ้นสุดลงมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image