‘กำนัน’ขอด้วยช่วย5,000

เป็นอันว่า ยอดตัวเลขรวมล่าสุด ผู้ที่คิดว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยื่นขอรับความช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน ถึงก่อนวันสงกรานต์ 13 เมษายน 2563 มีทั้งสิ้น 24 ล้านคน

จากจำนวนทั้งหมดนี้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติที่เข้าเกณฑ์ได้รับการเยียวยา 8 ล้านคน ได้รับเงินช่วงแรก เดือนละ 5,000 บาทตั้งแต่เมษายนจนถึงมิถุนายน จากนั้นจะต่ออีก 3 เดือน รวมเป็น 6 เดือน ค่อยว่ากัน

ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ กระทรวงการคลังเปิดให้อุทธรณ์ได้ เมื่อถึงกำหนดปิดการรับคำขอแล้ว ผลการพิจารณาตัวเลขสุดท้ายเป็นเท่าไหร่ ต้องติดตามกันต่อไป

ตามประกาศชัดเจน ผู้ไม่เข้าเกณฑ์ได้แก่ ข้าราชการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา เกษตรกร พนักงานบริษัทห้างร้านที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ซึ่งได้รับการคุ้มครองประเภทว่างงานอยู่แล้ว

Advertisement

ขณะที่ตัวเลขผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือยังไม่นิ่ง มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง จะจัดว่าเป็นกลุ่มครึ่งๆกลางๆ หรือไม่ก็ไม่แน่ชัด ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน นำโดย นายกสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอรับความช่วยเหลือ เยียวยา รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือนบ้าง

อ้างเหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชน ทำให้พวกตนเป็นกลุ่มสุ่มเสี่ยงต่อเชื้อโรคร้าย อันตรายถึงชีวิต จึงสมควรได้รับความช่วยเหลือเยียวยาด้วย

ข้อเรียกร้องของสมาคม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ทุกฝ่ายไม่ว่ามีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจ่ายหรือรับก็แล้วแต่ มึนตึบ ตั้งคำถามกันทั่วไปหมดว่า ตกลงใคร คนกลุ่มไหนกันแน่ทีเข้าข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึงระดับที่สมควรจะได้รับความช่วยเหลือ

Advertisement

ไม่ว่าจะช่วยแบบให้เปล่า 5,000 บาท ฟรีไม่ต้องจ่ายคืนให้รัฐ หรือได้รับความช่วยเหลือประเภทต้องใช้คืน อาทิ ผู้ประกอบการธุรกิจ การค้า อุตสาหกรรม ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เป็นต้น

ไม่ว่าจะเข้าเงื่อนไขได้ฟรีหรือต้องใช้คืนก็ตาม ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ จะจำกัดขอบเขตเส้นแบ่งของผลกระทบที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของไวรัส อย่างไร ตรงไหน

ถ้าตีความแบบสุดโต่ง เข้าข้างตัวเอง ทุกคนไม่ว่ากลุ่มอาชีพไหน มีงานทำหรือไม่มีงานทำ รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา เกษตรกร แม่บ้าน ล้วนได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น อย่างน้อยที่สุดทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ หวั่นไหว
หวาดวิตก เป็นทุกข์ ไปไหนไม่สดวกกลัวเชื้อโรคร้ายจะระบาดมาถึงตัวเอง ถึงขั้นอาจเจ็บป่วยล้มตายได้

ตีความผลกระทบทำนองนี้ ไม่ว่าใคร ก็เข้าข่ายมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาเท่ากันหมดทุกคนไม่มียกเว้น

แ ต่รัฐจะเอาเงินที่ไหนมาแจกจ่ายได้ถึงขนาดนั้น จึงกำหนดกรอบของผลกระทบ มุ่งเน้นที่ผู้ที่มีงานทำ อาชีพอิสระ กิจการถูกปิดโดยคำสั่ง
ของทางราชการ เป็นหลัก

ส่วนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมีระบบการช่วยเหลือพื้นฐานอยู่เดิมแล้ว เป็นต้นว่า ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้อยู่ในระบบประกันสังคม จึงไม่เข้าข่ายได้รับ

ว่าไปแล้วกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ช่วยพนักงานของรัฐ การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ดูแลประชาชน เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้วเช่นเดียวกับข้าราชการ มีระบบการช่วยเหลือจากทางราชการกระทรวงมหาดไทย ปกติก็ได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดินทุกเดือนจนพ้นจากตำแหน่งหน้าที่

การเรียกร้องครั้งนี้จึงเป็นการขอในลักษณะพิเศษ เอ็กซ์ตร้า ไม่ได้เกิดจากการขาดรายได้เหมือนคนเดือดร้อนที่ผ่านเกณฑ์ส่วนใหญ่

เมื่อเห็นว่าชาวบ้านได้รับพวกตนก็ควรได้ด้วย เพราะได้รับผลกระทบเหมือนกัน
เลยทำให้เกิดเสียงสะท้อน ย้อนกลับว่า เป็นข้อเรียกร้องที่เข้าข่ายขูดรีดจากภาษีประชาชน หากไม่มีจิตสำนึกในการทำหน้าที่ ก็ลาออกไปซะ ดังขึ้นเรื่อยๆ

ครับ ลุงฉุนจะหงุดหงิดผิดหู หรือใจป้ำให้ตามคำขอ รออีกไม่นานก็รู้

เงินก้อนนี้ คิดออกมาแล้วเป็นเงินเท่าไรก็ตาม สมควรเอาไปใช้สำหรับซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาเล่าเรียนของเด็ก โดยเฉพาะการเรียนผ่านเครือข่ายการสื่อสารทางไกล น่าจะเข้าท่ากว่า

เสียดายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยกธงขาว ถอยหลัง ยังไม่ขอซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียนเพื่อพัฒนาระบบการเรียนออนไลน์ ไปเสียก่อนแล้ว

ถึงอย่างไร เงินที่จะขอไปแจก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ยังสมควรเอาไปใช้ในเรื่องการพัฒนาระบบการเรียนการสอนของลูกหลาน ที่ต้องปิดเรียนยาวนาน มากกว่าอยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image