ยุ่งกันใหญ่ : วีรพงษ์ รามางกูร

ยุ่งกันใหญ่

โรคโควิด-19 หรือไวรัสโคโรนา 2019 ชื่อตามที่องค์การอนามัยโลกบัญญัติขึ้น การระบาดครั้งนี้ร้ายแรงและน่ากลัวมากกว่าครั้งใดๆ อาจจะเทียบได้กับโรคไข้หวัดสเปนที่ระบาดในยุโรป เมื่อสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วข้ามไปที่สหรัฐอเมริกา ตามหลักฐานมีผู้คนล้มตายหลายสิบล้านคน เพราะขณะนั้นเรายังไม่รู้จักวิธีป้องกันโรคระบาด

โรคไข้หวัดใหญ่ต่อมาก็มีการระบาดอยู่เสมอ ที่แปลกก็คือมักจะเริ่มระบาดจากเมืองจีนก่อน แล้วก็ลุกลามไปที่ยุโรปและอเมริกา จึงมักจะถูกตั้งชื่อว่าไข้หวัดฮ่องกงบ้าง ไข้หวัดจีนบ้าง ไข้หวัดโคโรนาครั้งนี้โดยประธานาธิบดี “ปากเสีย” โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชอบโจมตีจีนจึงไปเรียกไข้หวัดโคโรนาครั้งนี้ว่าไข้หวัดจีนหรือไวรัสจีน เพราะเริ่มต้นระบาดที่เมืองอู่ฮั่นมณฑลหูเป่ย์ สร้างความไม่พอใจให้กับคนจีนเป็นอันมาก

เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายซึ่งเป็นโรคไวรัสชนิดใหม่ หรือที่เรียกกันว่า Novel Corona Virus ซึ่งยังไม่เคยรู้จักมาก่อนวัคซีนก็ยังไม่มี เมื่อเจ็บป่วยเพราะติดโรคแล้วก็ไม่มียารักษาต่อต้าน หมอที่ให้ยาก็ใช้ยาต่อต้านไวรัสโรคเอดส์ผสมกับยาต่อต้านไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่บ้าง ยาอื่นๆ บ้าง ลือกันว่าต้น “ฟ้าทลายโจร” ของไทยเราก็สามารถใช้รักษาคนไข้โรคเชื้อโควิด-19 ได้ ที่บ้านมีอยู่หลายต้น ขึ้นเอง ก็เลยต้องรักษารดน้ำพรวนดินเอาไว้ เผื่อเข้าตาจนจะได้เด็ดเอามาใช้

ที่อู่ฮั่นจำนวนคนป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางการจีนระดมบุคลากรทางการแพทย์จากทั่วประเทศมาปฏิบัติการป้องกันและรักษา ประกาศสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่างเร่งด่วนให้เสร็จภายใน 7 วัน และทำสำเร็จอย่างน่าทึ่ง

Advertisement

โรคร้ายได้ระบาดแพร่หลายไปที่อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ แม้แต่นายกรัฐมนตรีอังกฤษและเจ้าฟ้าชายชาร์ลก็ติดโรคนี้ด้วย แล้วก็ข้ามไปที่สหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว ศูนย์กลางการแพร่กระจายจึงย้ายจากอู่ฮั่นไปที่ยุโรป แล้วข้ามไปที่สหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหานครนิวยอร์ก รวมทั้งมลรัฐนิวยอร์กและขยายตัวไปยังมลรัฐอื่นๆ อีกด้วย โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศว่าคนที่ยังไม่ป่วยไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากป้องกันการแพร่เชื้อโรค แล้วก็ต้องออกประกาศเปลี่ยนใหม่ให้ทุกคนต้องสวมหน้ากากแม้จะอยู่ในบ้าน

บ้านเรารัฐบาลออกประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งปกติจะใช้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหาร พร้อมๆ กับกฎอัยการศึกหรือมีศึกสงคราม แต่คราวนี้ไม่ใช่สงครามกับมนุษย์ด้วยกัน แต่เป็นสงครามกับเชื้อโรค ประกาศหยุดกิจการธุรกิจห้างร้านต่างๆ เพราะเป็นที่มีผู้คนต้องมาชุมนุมกัน เช่น โรงแรม ร้านอาหาร มหรสพ งานเลี้ยง สนามกีฬา แม้แต่สวนสาธารณะ ผู้คนต้องอยู่ห่างกัน 1 เมตรบ้าง 2 เมตรบ้าง สวมหน้ากากไว้เสมอแม้ว่าจะอยู่ที่บ้านและไม่ออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น

เศรษฐกิจเริ่มซบเซามาตั้งแต่ก่อนโรคร้ายระบาด แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาประกาศหลายครั้งหลายหนว่าเศรษฐกิจใกล้จะฟื้นตัวแล้ว รายรับจากการส่งออกสินค้าและบริการจากการท่องเที่ยวที่มีมูลค่ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับที่เป็นเงินตราต่างประเทศทั้งหมด แทนที่จะขยายตัวมากบ้างน้อยบ้างอย่างที่เคยเป็นมา กลับกลายเป็นหดตัว ทางการคาดว่าจะหดตัวประมาณ 5.3 เปอร์เซ็นต์ แต่หลายคนคิดว่าคงจะมากกว่านั้น อาจจะถึงร้อยละ 10 ถึง 20 ก็ได้ เพราะการประกาศหยุดกิจการบริการ งดการเดินทาง ปิดประเทศ งดการจัดงานสงกรานต์ ให้รดน้ำขอพรปีใหม่กันทางอินเตอร์เน็ต ออนไลน์

Advertisement

งานสงกรานต์ที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ที่พระประแดง ที่เชียงใหม่ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศไทยเป็นอันต้องเลื่อนไปก่อน ประกาศห้ามจัดเด็ดขาด ตามถนนหนทางจึงเงียบเหงาเบาบางในตอนกลางวัน กลางคืนก็เหมือนเมืองร้าง ไร้รถรา ไร้ผู้คน ที่เคยเห็นเดินกันขวักไขว่ไปมาในยามค่ำคืนได้หายไปจากภาพจำโดยพลัน

ธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดกิจการ ทั้งเจ้าของกิจการ ทั้งพ่อค้าแม่ค้าขายปลีกขายส่ง นักท่องเที่ยวจีนและชาติอื่นๆ หายวับไปกับตา เมื่อโรคร้ายระบาดผ่านพ้นไปก็ไม่แน่ใจว่ารูปแบบธุรกิจต่างๆ ของโลกและของไทยจะเปลี่ยนไปขนาดไหน สถาบันการเงินตลาดทุนจะอยู่ได้หรือไม่
โชคดีที่หนี้สาธารณะต่อรายได้ประชาชาติยังอยู่ในระดับที่ต่ำ คือประมาณ 41-42 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินเกินดุลติดต่อกันมาหลายปี รัฐบาลยังสามารถก่อหนี้เพิ่มเติมได้อีกกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ยอดหนี้สาธารณะจึงจะชนเพดาน 60 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ และยังสามารถยืดหยุ่นไปได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ หรืออีก 1.6 ล้านล้านบาท ของรายได้ประชาชาติถ้ามีความจำเป็น ฐานะทางการคลังจึงมั่นคงไม่มีปัญหา

แต่การใช้มาตรการเข้มงวดเมื่อเทียบกับอัตราการติดโรคที่ลดลง

เห็นจำนวนคนที่ติดโรคใหม่อยู่ในระดับต่ำกว่าเลข 2 หลักติดต่อกันหลายวัน ซึ่งก็ต้องถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว หากดูสถิติของคนติดโรคไข้หวัดใหญ่โดยปกติประจำปีและเสียชีวิตก็ยังมีจำนวนมากกว่านี้

การปิดกิจการธุรกิจต่างๆ ย่อมสร้างความเสียหายกับธุรกิจจำนวนมาก ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องคงจะต้องล้มหายตายจากไป ธุรกิจการบินและการขนส่ง เมืองพัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ยิ่งนานวันยิ่งเป็นเมืองร้าง ความซบเซาและการเลิกล้มกิจการของธุรกิจต่างๆ ย่อมทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินย่อมมีปัญหาสภาพคล่อง

ใ นระยะหลัง 10-20 ปีมานี้ ตลาดทุนไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดตราสารหนี้ ทั้งของรัฐบาลและของเอกชน ได้พัฒนาเจริญเติบโตขึ้นมากและเป็นแหล่งระดมทุนของภาคเอกชนที่มีความสำคัญ พอๆ หรืออาจจะมากกว่าตลาดเงินอย่างเช่น ธนาคารพาณิชย์ ตลาดตราสารหนี้เหล่านี้ก็มีความสำคัญ ถ้าหากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการซบเซาของเศรษฐกิจโลก การหดตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว ความไม่แน่นอนของรายได้ของผู้ถือตราสารหนี้ระยะยาวและระยะปานกลางอาจจะทำให้ผู้ถือตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน เช่น หุ้นกู้ พากันแห่ขายตราสารหนี้เหล่านั้นและหรือเริ่มไถ่ถอนตราสารหนี้เมื่อครบกำหนด

ทางการจึงต้องมีมาตรการทางการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะจัดสรรวงเงินสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนไว้ให้ธนาคารพาณิชย์กู้ถ้ามีความจำเป็น ต้องเสริมสภาพคล่องจำนวน 5 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันทาง ธปท.ก็จะจัดสรรสภาพคล่องจำนวน 4 แสนล้านบาท ที่จะเข้าพยุงตลาดตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยตรง ซึ่งเป็นการทำผิดหลักการของการเป็นธนาคารกลาง ที่พึงจะทำการผ่านทางธนาคารพาณิชย์เท่านั้น การจะเพิ่มหรือลดปริมาณเงินในระบบที่ทำผ่านธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ไม่ทำการให้กู้หรือซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยตรง พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ได้ให้อำนาจ ธปท.ที่จะทำเช่นนั้น

ไม่มีใครเถียงว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงกำลังจะลุกลามมาที่ภาคการเงิน ธนาคารกลาง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่ธนาคารที่รับฝากเงิน อาจจะมีความจำเป็นต้อง “พิมพ์เงิน” เขียนเช็คสั่งจ่ายโดยไม่มีเงินฝากเข้ามาในระบบ ซึ่งขณะนี้ก็ไม่น่าจะมีอันตราย เพราะอัตราเงินเฟ้อต่ำมากอยู่แล้ว ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ขาดดุลมากนัก หรืออาจจะเกินดุลด้วยซ้ำ

แ ต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ควรแก้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้อำนาจตนเองเข้ามาซื้อขายตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน เข้ามาเป็นคู่ค้ากับบริษัทเอกชนโดยตรง หรือเท่ากับเข้ามาให้เอกชนกู้เงินจากธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง เพราะถ้าแก้กฎหมายเสียแล้วต่อไปอาจจะมีความกดดันจากฝ่ายการเมืองให้เข้ามาอุ้มหรือพยุงบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์รายใดรายหนึ่งหรือหลายรายก็ได้

การที่ทางการต้องเข้ามาดูแลธนาคารพาณิชย์ก็มิใช่การเข้ามาดูแลเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ แต่เข้ามาดูแลประชาชนผู้ฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคาดหวังว่าธนาคารพาณิชย์ต้องได้รับการดูแลจากทางการ ต่างกับบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจต่างๆ ผู้คนมิได้คาดหวังว่าทางการจะต้องเข้ามาโอมอุ้ม เพราะไม่มีเงินฝากของประชาชน
แต่ในยามวิกฤตถ้าเป็นนโยบายของทางการ ถ้าจะเข้ามาโอบอุ้มตลาดตราสารหนี้ก็ไม่ควรละทิ้งหลักการการเป็นผู้ให้กู้คนสุดท้ายแก่ธนาคารพาณิชย์ มีสถาบันการเงินของรัฐบาลหลายแห่ง เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปล่อยสินเชื่อให้สถาบันเหล่านี้ซื้อตราสารหนี้ของลูกค้าของเขาเองและรับความเสี่ยงเอง ซึ่งเป็นธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว

ไม่อยากเห็น ธปท.เป็นโจทก์ฟ้องร้องบริษัทเอกชนในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image