สถานการณ์ผู้ลี้ภัยท่ามกลางภัยโควิด-19 โดย ลลิตา หาญวงษ์

ชาวโรฮีนจาที่มาขึ้นศาลในเมืองพะสิม (Pathein), ธันวาคม 2019 (ภาพจาก Frontier/AFP)

การระบาดของโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่าโรคระบาดไม่มีพรมแดน และเกิดขึ้นกับทุกคนได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะยากดีมีจน ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังจะเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่อาจนำไปสู่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกก็จะมีผลกระทบกับทั้งคนรวย ชนชั้นกลาง และคนระดับล่างด้วยเช่นกัน แม้พม่าจะยังไม่ได้เป็นแหล่งแพร่เชื้อ
โควิด-19 แหล่งใหญ่ ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั้งในและนอกภูมิภาค แต่สื่อในพม่าเริ่มตั้งคำถามมาร่วมเดือนแล้วว่าหากเกิดมีการแพร่ระบาดในวงกว้างจริง พม่าจะไม่สามารถรับมือกับโรคโควิด-19 ได้เลย เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการสาธารณสุข ทั้งในเชิงบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์

ในค่ายผู้อพยพ หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือโรคระบาดอื่นๆ ผู้อพยพจะตกที่นั่งลำบากทันที ด้วยเหตุนี้ทำให้ทางการบังกลาเทศสั่งล็อกดาวน์ค่ายผู้ลี้ภัยโรฮีนจา 34 แห่งที่อยู่ในเมืองค็อกซ์บาซาร์ ติดชายแดนรัฐยะไข่ รัฐบาลบังกลาเทศขอให้ผู้อพยพโรฮีนจาเกือบหนึ่งล้านคนอยู่เฉพาะในค่ายผู้อพยพจนกว่าจะมีประกาศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ชาวโรฮีนจาภายในค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศมีความเป็นอยู่อย่างแออัด สถานการณ์ในค่ายผู้อพยพเริ่มแย่ลงตั้งแต่เดือนกันยายน 2019 เมื่อรัฐบาลบังกลาเทศตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตและจำกัดสัญญาณโทรศัพท์ในบริเวณค่ายผู้อพยพ โดยให้เหตุผลเรื่องความมั่นคง สถานะของชาวโรฮีนจาในบังกลาเทศขณะนี้จึงถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง เมื่อไม่มีอินเตอร์เน็ต ทำให้ชาวโรฮีนจาในค่ายผู้อพยพไม่สามารถติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ได้ และยิ่งทำให้ชาวโรฮีนจาอยู่ในจุดเสี่ยงที่สุดอีกครั้ง แม้แต่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานภายในค่ายก็ไม่สามารถติดต่อถึงกันผ่านแอพพลิเคชั่นและหาข้อมูลล่าสุดได้

นอกจากประเด็นเรื่อง “ความมั่นคง” แล้ว ทัศนคติของทั้งรัฐบาลบังกลาเทศและพม่าที่มีต่อชาวโรฮีนจาอาจมาจากความคิดที่ว่าผู้อพยพชาวโรฮีนจาเป็นเพียง “ชาวบ้าน” และผู้อพยพ อินเตอร์เน็ตจึงไม่มีความจำเป็น แต่ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ คงไม่เกิดจริงนักหากจะกล่าวว่าอินเตอร์เน็ตคือเครื่องช่วยชีวิตผู้อพยพชาวโรฮีนจาจากโรคระบาด การกดดันจากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน และแม้แต่จดหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศบังกลาเทศที่ส่งตรงไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำให้ผู้อพยพและเจ้าหน้าที่ในค่ายผู้อพยพกลับมาใช้งานอินเตอร์เน็ตได้อีกครั้ง แม้ความเร็วอินเตอร์เน็ตจะไม่เสถียรและยังช้าอยู่มากก็ตาม

ความกลัวการแพร่กระจายของโควิด-19 ภายในพม่ายังทำให้รัฐบาลพม่าถอนฟ้องชาวโรฮีนจานับร้อยคน จากเดิมที่พวกเขาถูกจับกุมในข้อหาพยายามหลบหนีออกนอกประเทศ ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา มีชาวโรฮีนจาหลายแสนคนที่อพยพออกจากรัฐยะไข่ เพื่อข้ามเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ ในปัจจุบัน ยังมีชาวโรฮีนจาอีกจำนวนหนึ่งที่หลงเหลืออยู่ในรัฐยะไข่ แต่ก็ต้องประสบกับการเหยียดผิวอย่างรุนแรง ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ทำให้คนที่ยังอยู่ในรัฐยะไข่ต้องการหลบหนีไปบังกลาเทศเรื่อยๆ

Advertisement

แต่หลายเดือนที่ผ่านมา มาตรการการควบคุมการเข้าเมืองที่เข้มงวดขึ้นของทั้งพม่าและบังกลาเทศทำให้มีชาวโรฮีนจาที่ถูกจับกุมระหว่างเดินทางไปบังกลาเทศจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี

อ ย่างไรก็ดี ในต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศาลพม่าตัดสินใจไม่ฟ้องจำเลยชาวโรฮีนจา 128 คน ซึ่งมีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และมีความเป็นไปได้ว่าศาลจะยกฟ้องชาวโรฮีนจาที่ถูกยื่นฟ้องในคดีเดียวกันนี้ ที่มีจำนวนรวม 250 คน ชาวโรฮีนจาทั้งหมดจะถูกส่งกลับไปรัฐยะไข่ ศาลพม่าไม่ได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงยกฟ้องจำเลยชาวโรฮีนจาทั้งหมด แต่คาดกันว่าอาจเป็นการอภัยโทษที่มีเป็นประจำทุกปีในช่วงปีใหม่พม่า แต่บ้างก็ตั้งข้อสังเกตว่ากรมราชทัณฑ์ต้องการระบายผู้ต้องขังออกไป เพราะในปัจจุบันเรือนจำในพม่ามีความแออัดและกลายเป็นสถานที่เสี่ยงหากเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นจริง

สถานการณ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (ตัวเลขวันที่ 14 เมษายน) พม่ามีผู้ที่ติดโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 21 ราย ทำให้จนถึงวันที่ 14 เมษายน มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 62 คน ในจำนวนนี้มีศิลปินเพลงร็อก
ชื่อดัง เมี้ยว จี (Myo Gyi) รวมอยู่ด้วย ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่คนใดที่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ และที่น่าสนใจคือมีชายอายุ 26 ปี ผู้หนึ่งเคยมีประวัติเดินทางไปอังกฤษ แต่ผ่านการกักตัว 14 วัน ในศูนย์กักตัวที่รัฐบาลพม่าจัดไว้ให้แล้ว และตรวจพบเชื้อหลังการกักตัว และยังมีกรณีแรกที่บุคลากรทางการแพทย์รับเชื้อจากผู้ป่วย (ผู้ป่วยเสียชีวิตไปเมื่อสัปดาห์ก่อน)

Advertisement

รัฐบาลพม่าประกาศให้ร้านอาหาร ร้านน้ำชา และบาร์ในย่างกุ้งขายอาหารแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้นมาหลายสัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังมีร้านอาหาร โดยเฉพาะบาร์ที่ขายเหล้า เบียร์ และกับแกล้มที่ฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาล ในพม่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติ แอลกอฮอล์มีราคาถูก และทุกคนสามารถเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ ทำให้เกิดวัฒนธรรมที่คนพม่านิยมนั่งตามร้านน้ำชาหรือบาร์ เพื่ออภิปรายข่าวสารบ้านเมือง หรือเพื่อพักผ่อนในสถานการณ์ที่ตึงเครียดอย่างเช่นทุกวันนี้ รายงานข่าวจาก Frontier Myanmar กล่าวว่า แม้แต่ตำรวจในท้องที่ยังเกรงกลัวไม่กล้าเข้าไปตักเตือนหรือจับกุมผู้ที่ละเมิดกฎห้ามประชาชนนั่งในร้านอาหาร
เพราะเกรงว่าจะทำให้ประชาชนไม่พอใจเพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นว่าร้านน้ำชาและบาร์เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของ
เจ้าหน้าที่ภาครัฐ

กฎหมายที่หละหลวมและการสาธารณสุขที่ไม่ก้าวหน้าจะทำให้พม่าต้องรับภาระหนักในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image