อดีตและปัจจุบันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์พม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

โอ้ก จา มยัต เป้าก์ (Grass Grows between the Bricks) ภาพยนตร์ดีเด่นของพม่าในปี 2017

ในช่วงกักตัวอันแสนจะยาวนานนี้ ผู้อ่านหลายท่านคงมีเวลาว่างเพิ่มขึ้น กิจกรรมคลายเหงาที่ขาดไม่ได้ในช่วงเวลานี้คือการดูหนังฟังเพลง ทุกคนกำลังกล่าวถึงบริการรับชมทีวีและภาพยนตร์ออนไลน์อย่าง Netflix หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ในอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ Netflix ยังไม่ให้บริการ หรือไม่ได้รับความนิยม อย่างพม่า ที่พึ่งทางใจและแหล่งบันเทิงที่ได้รับความนิยมสูงสุดมีอยู่ 3 ที่ ได้แก่ วัด สวนสาธารณะ และโรงภาพยนตร์

ความเจริญและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไล่ตามพม่ามาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2010 ทำให้เมืองขนาดใหญ่ โดยเฉพาะย่างกุ้ง มีปริมาณห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้น พร้อมกับโรงภาพยนตร์ภายในห้างสรรพสินค้า หรือที่เรียกว่า “มัลติเพล็กซ์”ที่สะดวกและทันสมัยขึ้น แต่วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์แบบ “สแตนด์อโลน” ที่มีอยู่มากมายในย่างกุ้ง และจะยังมีอยู่ต่อไป ต่างกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทยที่แทบจะเป็นการผูกขาดจากเจ้าของมัลติเพล็กซ์ไม่กี่ราย

โรงภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือโรงภาพยนตร์ของกลุ่ม “มินกะลา” (Mingalar) หรือถ้าถอดเสียงแบบไทยๆ คือ “เครือมงคล” ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1994 เป้าหมายของเครือโรงหนังมงคลไม่ใช่การสร้างมัลติเพล็กซ์ขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นการซื้อโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเก่ามาปรับปรุงใหม่ และเปิดเป็นโรงภาพยนตร์สมัยใหม่ ปัจจุบันเครือมงคลมีโรงภาพยนตร์ 11 แห่ง ปัญหาของอดีตมหานครในยุคอาณานิคมอย่างย่างกุ้งคือยังมีอาคารเก่าๆ มากมาย ไม่เว้นแม้แต่โรงภาพยนตร์ที่มีอายุหลายสิบปี แต่ถูกทิ้งร้างไว้เพราะมูลค่าการบูรณะอาคารเก่าในลักษณะนี้สูงมาก งานของเครือมงคลจึงไม่ใช่การหาเงินจากการฉายภาพยนตร์และการขายน้ำกับขนมราคาแพง หากแต่ยังเกิดขึ้นควบคู่กับสำนึกการอนุรักษ์และรักษาวัฒนธรรมการดูภาพยนตร์ของพม่าไว้ให้ได้มากที่สุด

หลายปีมานี้ ผู้เขียนได้เรียนรู้มุมมองของโรงภาพยนตร์เก่าๆ ทั้งในไทยและพม่าจากงานเขียนของฟิลิป จาบลอน (Philip Jablon) มิตรผู้หลงใหลโรงภาพยนตร์แบบวินเทจทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาบลอนพยายามรณรงค์และกระตุ้นให้มีการอนุรักษ์โรงภาพยนตร์ในประเทศไทย แต่เจ้าของมัลติเพล็กซ์ทั้ง 2 เจ้าไม่มีนโยบายอนุรักษ์โรงภาพยนตร์เก่าๆ และประวัติศาสตร์ของโรงภาพยนตร์ไทยไว้

Advertisement

หากผู้อ่านสนใจภาพยนตร์เก่า หลงใหลในสถาปัตยกรรมแบบวินเทจและกลิ่นอายของวัฒนธรรมแบบตะวันตกที่ผสมผสานกับความเป็นท้องถิ่นอย่าลงตัว ก็อาจหาเวลาไปตามรอยความงดงามทางวัฒนธรรมภาพยนตร์ที่พม่าได้ โรงภาพยนตร์แห่งแรกในพม่าเปิดดำเนินการตั้งแต่ทศวรรษ 1920 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นาน ภาพยนตร์ที่นำมาฉายคือภาพยนตร์ต่างประเทศทั้งที่เป็นขาว-ดำ และภาพยนตร์เงียบ โรงภาพยนตร์ในพม่าเติบโตแบบก้าวกระโดดในยุคทองของภาพยนตร์ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เรื่อยมา บนถนนโบโจ้ก ออง ซาน (Bogyoke Aung San Street) ระหว่างถนนปานโซดาน (Pansodan Road) และถนนเจดีย์สุเหล่ (Sule Pagoda Road) มีโรงภาพยนตร์เรียงรายไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 แห่ง คือโรงภาพยนตร์วาซิยะ (Waziya) และตวิน (Thwin)

แม้จะมีโรงภาพยนตร์จำนวนมาก แต่เมื่อพม่าเข้าสู่ยุคเผด็จการเต็มตัวในต้นทศวรรษ 1960 สถานการณ์ของแวดวงภาพยนตร์ก็เปลี่ยนไป รัฐบาลใช้มาตรการควบรวมโรงภาพยนตร์ทั้งหลายมาเป็นของรัฐ และยังมีมาตรการเซ็นเซอร์เนื้อหาภาพยนตร์อย่างเข้มข้น และด้วยเศรษฐกิจที่ตกต่ำและการปิดประเทศ ทำให้ความนิยมการดูภาพยนตร์น้อยลงไปบ้าง แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ การไปดูหนังในโรงภาพยนตร์จริง ๆ นั้นเป็นเสมือนการหลีกหนีจากระบอบเผด็จการชั่วคราว แต่การเซ็นเซอร์นี้ได้กร่อนเซาะและทำลายรสนิยมการชมภาพยนตร์ของคนพม่าไป ในปัจจุบัน ในสถานการณ์ที่เราเห็นพัฒนาการด้านประชาธิปไตยในพม่ามากขึ้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โอกาสของคนทำภาพยนตร์ที่จริงจังกับเนื้อหาเชิงวิพากษ์สังคมยังไม่สามารถทำได้ถนัดถนี่นัก เพราะยังประสบกับการเซ็นเซอร์จากสังคมพม่าเอง ที่ยังนิยมดูภาพยนตร์แนวเดิมๆ ที่หากเปรียบเทียบแล้วคงไม่ต่างจากละครหลังข่าวในบ้านเรานัก

พล็อตเรื่องของภาพยนตร์พม่าส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องความรักที่มีทั้งสมหวังและไม่สมหวัง ตัวละครเอกถูกกีดกันจากครอบครัวของอีกฝ่าย เป็นพล็อตของละครที่วนเวียนกันไม่จบไม่สิ้น แต่สิ่งที่ยังยึดโยงประชาชนให้ไปดูภาพยนตร์ได้คือความชื่นชอบในดารานักแสดง จะเห็นว่าดารานักแสดงที่โด่งดังเป็นพลุแตกของพม่าจริงๆ นั้นมีไม่กี่ราย เดินไปทางไหนก็จะเจอโฆษณาของดารานักแสดงเหล่านี้ เพราะคนพม่ามีนิสัย “ติดแบรนด์” เมื่อได้ติดใจกับอะไรแล้วโอกาสที่จะเปลี่ยนไปนิยมแบรนด์อื่นๆ มีน้อยมาก ในปี 2017 มีภาพยนตร์พม่าออกมาทั้งหมด 53 เรื่อง ใกล้เคียงกับภาพยนตร์ไทยที่ออกมาในปีเดียวกัน ที่มี 61 เรื่อง

Advertisement

ภาพยนตร์พม่าที่ออกมานั้นผ่านการเซ็นเซอร์มาแล้วก็จริง แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือของขบวนการชาตินิยมขวาจัดที่ยิ่งสร้างความเกลียดชังให้ชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชาวมุสลิม ที่เป็นเป้าโจมตีของสังคมพุทธพม่ามาตั้งแต่ปี 2012 ในบทความชื่อ Military Rule May Be Over, But Myanmar’s Film Industry Remains in a Tawdry Time Warp (เผด็จการทหารอาจจะหมดไปแล้ว แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์พม่ายังอยู่ในวงจรของหนังไร้รสนิยม) ของอ่อง กอง มยัต (Aung Kaung Myat) ที่เขียนให้นิตยสาร Time มาตั้งแต่ปี 2018 ยกตัวอย่างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากในปี 2017 เรื่อง โอ้ก จา มยัต เป้าก์ หรือที่แปลเป็นไทยว่า หญ้าที่ขึ้นระหว่างอิฐ ซึ่งได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพม่าไปถึง 3 รางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ดารานำชายยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม) ว่ามีเนื้อหาดูหมิ่นดูแคลนชาวมุสลิมอย่างชัดเจน และตีความตามวาทกรรมนักชาตินิยมพม่าว่าชาวมุสลิมในพม่าเอารัดเอาเปรียบชาวพุทธที่เรียกได้ว่าเป็น “เจ้าของบ้าน” ที่แท้จริง

ในบทสนทนาของตัวละครเอกในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้ ยังมีฉากที่เน โต (Nay Toe) ดาราชายระดับท็อปของพม่า พูดถึงนกและรังนก ตัวละครกล่าวว่าหากมีนกตัวอื่นมาบุกรังของตนเอง นกที่เป็นเจ้าของรังก็มีสิทธิจะปกป้องรังของตนเอง หรือแม้แต่ “หักปีก” ของนกผู้บุกรุก และโยนผู้บุกรุกนั้นไปในทะเล ผู้ชมภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่ได้ฟังฉากสนทนาของเน โตฉากนี้คงไม่มีใครฟังไปผ่านๆ ข้อความแบบอนุรักษนิยมจัดในลักษณะนี้ยังปรากฏทั้งในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ที่ยังมีผู้ชมหนาแน่นในพม่า

การจะฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในพม่าให้กลับมามีความยิ่งใหญ่ดังเช่นในยุคทองทศวรรษ 1950 นั้น ไม่ได้มีเพียงการบูรณปฏิสังขรณ์โรงภาพยนตร์รุ่นเก่าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้กับสังคมพม่าในทุกระดับ เพื่อไม่ให้ภาพยนตร์กลายเป็นอาวุธของฝ่ายคลั่งชาติ ที่มีเป้าหมายเพียงรักษาสถานะทางอำนาจของชาวพุทธพม่า และผลักชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มออกไปให้เป็นเพียงคนชายขอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image