แท็งก์ความคิด : ปัญหาไม่ใช่ปัญหา

เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติ

คนเราเมื่อป่วยสิ่งที่เคยทำได้ ก็กลายเป็นทำได้ไม่ถนัด

เคยลุกนั่งเดินเหินอย่างสบายเนื้อสบายตัว ก็กลายเป็นปวดนั่นเจ็บนี่…เป็นธรรมชาติ

แม้ว่าคนป่วยมักจะได้รับโอกาสให้นอนพัก แต่คนป่วยก็มักนอนไม่ค่อยหลับ

Advertisement

แถมยังตื่นเช้าอีกต่างหาก

เรื่องนี้ใครที่ป่วยคงมีประสบการณ์เหมือนๆ กันมา

สัปดาห์ที่แล้วป่วย นอนไม่หลับ แต่ตื่นเสียเช้าตรู่ ต้องหาวิธีกล่อมตัวเอง

Advertisement

เปิดวิทยุหาคลื่นไปเรื่อยๆ เผลอแผล็บเดียวเวลาปาไป 8 โมงเช้า

วันหนึ่งหลังเคารพธงชาติได้ฟังพระธรรมเทศนา เสียดายที่จำนามพระรูปที่เทศน์ไม่ได้

แต่เนื้่อความที่เทศน์ให้ฟังนั้น ฟังแล้วสบายจิตจริงๆ

เนื้อหาที่ฟัง ไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดารใดๆ แต่เป็นเรื่องของการมองโลก

มอง “ปัญหา” ว่าไม่ใช่ปัญหา

แล้วมองปัญหาเป็นอะไร?

พระท่านชักชวนให้เห็นคุณค่าของปัญหา โดยบอกว่าปัญหาคือสิ่งที่ทำให้โลกใบนี้พัฒนา

ปัญหาจึงไม่ใช่ทางวินาศ หากแต่เป็นหนทางสู่วิวัฒน์

พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ทั้งการพัฒนาของโลก การพัฒนาของประเทศ

การพัฒนาองค์กร รวมไปถึงการพัฒนาตัวเอง

สรุปได้ว่า เมื่อใดที่สามารถแก้ปัญหาได้ เมื่อนั้นก็จะเกิดพัฒนาการ

แหม…ฟังแล้วมีกำลังใจขึ้นเยอะ

เพราะคิดถึงพัฒนาการของโลกแล้วเห็นด้วย

ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยมาถึงยุคประวัติศาสตร์

จากยุคเกษตรกรรม สู่ยุคอุตสาหกรรม แล้วมาถึงยุคปัจจุบัน

แต่ละขั้นแต่ละตอนขับเคลื่อนมาได้ เพราะสามารถทะลุทะลวงปัญหา

โลกปัจจุบันอยู่ในยุคแท็บเล็ต พัฒนาการของเทคโนโลยีกระทบต่อชีวิตชาวโลก

ยกตัวอย่างสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

แต่เมื่อสามารถปรับได้ สามารถเข้าถึงออนไลน์ และขับเคลื่อนตัวเองไปพร้อมกับเทคโนโลยี

ขับเคลื่อนไปด้วยความเร็วที่ไม่มากไป-ไม่น้อยไป

สุดท้ายปัญหาที่แลเห็นในตอนแรก กลายเป็นตัวกระตุ้นให้สื่อเกิดการพัฒนา

ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่สนใจแต่เรื่องตนเอง

หากใครสามารถทำเช่นนี้ได้ ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไข

และเมื่อแก้ไขปัญหาได้ “วิวัฒน์” ก็จะมาเยือน

การพัฒนาก็จะมาถึง

ทั้งพัฒนาตัวเอง พัฒนาองค์กร พัฒนาประเทศ

หรือแม้แต่จะพัฒนาโลก

เชื่อว่าอีกปีสองปี คงเห็นพัฒนาการในสังคมสื่ออย่างสัมผัสได้

เช่นเดียวกับปัญหาขององค์กรและประเทศ ที่มีตัวอย่างปรากฏในหนังสือชื่อ “ถอยก็ตาย วิกฤตยังไงก็ต้องสู้”

คนเขียนหนังสือเล่มนี้คือ อินาโมริ คาซึโอะ ที่เข้าไปฟื้นฟูสายการบินแจแปน แอร์ไลน์ส

พอทำสำเร็จก็เขียนเป็น “ฮาวทู” ออกมาเผยแพร่

หนังสือเล่มดังกล่าว สุดารัตน์ เอื้อเปี่ยมมงคล เป็นผู้แปล

อ่านแล้วจับใจความได้ว่า อินาโมริ คาซึโอะ ตัดสินใจเข้าไปฟื้นฟูสายการบินแห่งนี้ ทั้งๆ ที่มีอายุมากโขแล้ว เพราะสาเหตุ 3 ข้อ

ข้อแรก คือ การฟื้นฟูแจแปน แอร์ไลน์ส ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่น แต่ถ้าฟื้นฟูไม่ได้ ความเชื่อมั่นก็จะทรุด

ดังนั้น ต้องฟื้นฟูแจแปน แอร์ไลน์ส ให้ได้

ข้อสอง คือ ต้องการปกป้องพนักงานเอาไว้ให้ได้

ข้อสาม คือ ต้องการรักษาความสะดวกสบายของประชาชนไว้

หากแจแปน แอร์ไลน์ส ฟื้นฟูไม่ได้ สายการบินจะเหลือแห่งเดียว ซึ่งจะทำให้ราคาค่าบริการแพงขึ้น แต่การบริการแย่ลง

และเมื่อ อินาโมริ คาซึโอะ ตัดสินใจรับงานฟื้นฟูแล้วก็ดำเนินการ

การดำเนินการมีขั้นตอนหลากหลาย เช่น เรียกประชุมผู้บริหาร และร่วมกันจัดทำปรัชญาธุรกิจ

ตอนนั้นมีข้อสรุปร่วมกันของผู้บริหารว่า จะทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข จะนำเสนอบริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า

และจะอุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าของสังคม

นอกจากนี้ยังมีมาตรการการเติบโตในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

อาทิ สร้างสายสัมพันธ์กับพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายการดำเนินกิจการ

ปลุกให้ทุกคนเป็นพนักงานขาย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และสินค้าใหม่ขึ้นมา

เมื่อพนักงานมีความสุข ลูกค้าก็มีความสุข และผลตอบรับก็ย้อนกลับมา

กลายเป็นความสำเร็จของแจแปน แอร์ไลน์ส

แต่ความสำเร็จที่ อินาโมริ คาซึโอะ คิดว่า ทำให้วิกฤตทั้งหลายหายไปได้ คือ จิตวิญญาณนักสู้

จิตวิญญาณนักสู้ที่พร้อมฝ่าฟันอุปสรรค เพื่อให้เป้าหมายสำเร็จ

จิตวิญญาณนักสู้ที่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ จนบรรลุผล

แต่จิตวิญญาณเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ นักสู้เหล่านั้นต้องมีคุณธรรม

นักสู้ต้องไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

และเมื่อสามารถแก้ปัญหา-ฟันฝ่าอุปสรรคไปได้

หนทางแห่งความก้าวหน้า พัฒนา วิวัฒน์กันต่อไป ย่อมมาเยือน

หากเป็นการแก้ปัญหาตัวเอง ตัวเองจะก้าวหน้า

ถ้าเป็นการแก้ปัญหาครอบครัวหรือองค์กรสำเร็จ ครอบครัวและองค์กรก็จะพัฒนา

ยิ่งเป็นการแก้ปัญหาให้ประเทศ หรือใครเก่งกาจแก้ปัญหาให้โลกได้

ก็ถือเป็นโชคของชาติ และโลกในยุคดังกล่าว

เพราะหลังจากปัญหาผ่านพ้น ประเทศชาติก็จะพัฒนา

โลกอันกว้างใหญ่ก็จะอัพเกรดเวอร์ชั่นไปอีกระดับ เหมือนที่เคยอัพจากยุคเกษตรกรรม สู่ยุคอุตสาหกรรม

และเคยอัพเกรดจากยุคอุตสาหกรรม สู่ยุคดิจิตอล

ดังนั้น หากใครมองอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ปัญหาก็ไม่ใช่ปัญหาแล้วล่ะ

เพราะมุมมองดั่งว่า ปัญหาคือหนทางสู่การเติบโต

ปัญหาคือโอกาส โอกาสสู่ความก้าวหน้า…

โอกาสแห่งการพัฒนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image