เปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียน : สมหมาย ปาริจฉัตต์

เปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียน : สมหมาย ปาริจฉัตต์

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น ลดลง ไม่หมดไปอย่างสิ้นเชิง ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เกิดข้อถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวางทุกมิติ

ด้านสาธารณสุขจะใช้วิธีการป้องกันรักษาอย่างไรถึงจะได้ผลที่สุดในขณะที่การค้นพบวัคซีนฆ่าไวรัสยังไม่สำเร็จ ระหว่างการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ความเป็นอยู่ถึงจะกลับมาสู่ภาวะปกติ

ด้านเศรษฐกิจ ควรหยุดมาตรการสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดให้สถานประกอบการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเคลื่อนไหว เลิกล็อกดาวน์ เปิดประเทศเมื่อไหร่ เพื่อไม่ให้จำนวนคนตกงานขาดรายได้ เลิกคิดสั้นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ส่วนคนทำใจได้แต่ขาดแคลนมายืนต่อแถวรอรับการแจกเงินและอาหารยาวเหยียดเป็นกิโลเมตร

ด้านการเมือง รัฐบาลควรเปิดประชุมรัฐสภาให้ผู้แทนราษฎรได้ร่วมให้ความคิดเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหา การบริหารจัดการงบประมาณมหาศาลทำอย่างไรถึงทั่วถึง เกิดประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหลจำนวนมาก หยุดการซื้ออาวุธนำเงินมาใช้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หลังจากเปิดรับฟังความเห็นฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาเศรษฐี คนร่ำรวยเจ้าของกิจการขนาดใหญ่มาแล้ว

Advertisement

ด้านสังคม โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาสัยถูกสั่งปิด ขยายเวลาเปิดเทอมจาก 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม ทำให้เด็กเสียโอกาสทางการศึกษา แม้จะพยายามปรับการเรียนการสอนเป็นการเรียนทางไกล เรียนออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตก็ตาม ทำได้ไม่เต็มที่เพราะความไม่พร้อมหลายประการ โรงเรียนควรจะเปิดตามเวลาที่ประกาศไว้หรือควรขยายเวลาออกไปอีก เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลับมาอีกรอบ

การศึกษาของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ ควรจัดการอย่างไรกับวันเวลาที่เสียไปกับการรอคอย การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีล้ำยุค เป็นเครื่องมือช่วยได้เพียงพอหรือไม่

ข้อถกเถียงประการหลังนี้ เป็นสิ่งท้าทาย เด็กขาดเรียนเป็นเวลายาวนาน ซ้ำเติมปัญหาการขาดโอกาส ความเหลื่อมล้ำและคุณภาพการศึกษา ที่เป็นพื้นฐานเดิมอยู่ก่อนแล้วให้วิกฤตขึ้นไปอีก ส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพประชากรเยาวชนในระยะยาว

Advertisement

ก ระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขื้นพื้นฐาน สำนักงานการอาชีวศึกษา สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำอย่างไรกับปัญหาทางสังคมนี้

การดึงเอาสังคม ครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชนซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับเด็กมากกว่าครูในโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วม ให้ช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือกันเอง ให้ลูกหลานมีการศึกษาต่อไปได้ผลเพียงไร

ขึ้นอยู่กับปัจจัยการร่วมกันเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงเรียนอย่างไร สำเร็จแค่ไหน ตามจุดยืนของกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า โรงเรียนอาจหยุดได้แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดแนวทางปฏิบัติออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม มีนาคม-17 พฤษภาคม 2563 เริ่มจาก 1.สำรวจความพร้อมของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการ

2.ขออนุมัติการใช้สัญญาณโทรทัศน์จาก กสทช. (ทีวีระบบดิจิทัล 13 ช่อง) 3.ขออนุมัติการใช้ DLTV อนุบาล-ม.3 จากมูลนิธิการศึกษาทางไกล 4.ผลิต VTR ชั้น ม.4-6 จำนวน 8 สาระการเรียนรู้ 5.จัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกลสำหรับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ผู้ปกครองและนักเรียน
6.พัฒนาครูและบุคลากรสำหรับการเรียนการสอนทางไกล 7.รวบรวมสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ใน OBEC Content Center ชุดโปรแกรมและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ครบวงจรของ ศธ.เช่น Tuter ติวฟรี.com E-Book ฯลฯ

ระยะที่ 2 ทดลองการเรียนการสอน 17 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2563 1.ระดับอนุบาลผ่าน DLTV เน้นกิจกรรมเตรียมความพร้อมเด็ก 2.ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้น (ป.1-ม.3) ผ่าน DLTV 3.ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) ผ่านสื่อ สพฐ.

4. ทดลองเรียนที่โรงเรียนหรือชุมชนสำหรับนักเรียนทุกชั้นเรียน ในชุมชนพื้นที่ปลอดภัย แบ่งกลุ่มเล็ก สลับมาเรียนหรือครูลงพื้นที่บ้านเด็กและชุมชน 5.ประชาสัมพันธ์แนะนำช่องทางการเรียนทางไกลให้กับผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง 6.เปิดศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ HCEC Human Capital Excellence Center สำหรับพัฒนาครูและะบุคลากร 7.เปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นการเรียนการสอนทางไกลจากผู้ปกครอง ประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงพัฒนา

ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน ภาคเรียนที่ 1เริ่ม 1 กรกฎาคม-30 พฤศจิกายน 2563 ภาคเรียนที่ 2เริ่ม 1 ธันวาคม 2563-30 เมษายน 2564 หากโรงเรียนต้องการให้มีวันปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 สามารถยืดหยุ่นได้

ครับ ที่รายงานมานี้เป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ความเป็นไปได้ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ไม่ได้อยู่ที่ครู ผู้บริหารและโรงเรียน ซึ่งต้องทำงานหนักมากกว่าปกติเป็นสองเท่า แต่อยู่ที่ครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นสำคัญ

เปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงเรียน ให้ลูกหลานมีความสุข สนุกสนานกับการทดลองสิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่เพิ่มความเครียด ความขัดแย้งในบ้านจนกลายเป็นภัยเงียบ เพราะธรรมชาติของเด็กต้องการอิสระ ไม่ชอบการบังคับ

ผลในทางวิชาการอาจไม่เท่าการเรียนที่โรงเรียน แต่สิ่งที่ได้คือการอยู่ร่วมกัน ความใส่ใจของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อการเรียนของลูกหลาน ทำให้เขามีวินัย มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น กำกับตัวเองได้โดยไม่ต้องมีครูหรือพ่อแม่ผู้ปกครองมาบังคับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image