ผู้เขียน | โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ |
---|
วันนี้เป็นวันที่ผู้เขียนอยู่แต่ในบริเวณบ้านเป็นวันที่ 41 แล้วรู้สึกแปลกใจที่ตัวเองยังอยู่เป็นปกติดีทั้งๆ ที่กิจวัตรประจำวันของผู้เขียนเมื่อก่อนไวรัสโควิด-19 จะระบาดนั้นต้องออกจากบ้านแทบทุกวัน ปรากฏว่าเมื่ออยู่แต่ในบ้านนานๆ ครั้งนี้ผู้เขียนก็ใช้เวลาหวนระลึกถึงอดีตของผู้เขียนที่ผ่านมาเป็นส่วนใหญ่และเพลิดเพลินไปกับการคิดถึงเรื่องเก่าๆ ซึ่งมีดราม่า ตื่นเต้น ตลกขบขัน หวาดเสียวสารพัดจนตระหนักได้ดีว่าตัวผู้เขียนนั้นแก่มากเสียแล้วจึงสามารถนั่งคิดนอนคิดถึงอดีตของตัวเองอยู่ได้เป็นวรรคเป็นเวรสร้างความบันเทิงให้กับตัวเองจนไม่เบื่อที่จะต้องกักตัวเองอยู่แต่ที่บ้านได้กว่า 40 วันแล้ว
สำหรับวันนี้นั่งระลึกถึง พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) ตั้งแต่เช้าทั้งๆ ที่
ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้ไปกราบท่านเลยในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ผู้เขียนรู้จักท่านเป็นอย่างดีโดยผ่านทาง ศาสตราจารย์อานนท์ อาภาภิรม อาจารย์พี่เลี้ยงของผู้เขียนช่วงระหว่าง พ.ศ.2515-2517 เนื่องจากท่านอาจารย์อานนท์เคยบวชที่วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหารเมื่อครั้งที่พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิตจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพศิรินทร์นี้เอง โดยท่านอาจารย์อานนท์ได้พาผู้เขียนไปกราบอัฐิของพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิตอยู่หลายครั้ง ทำให้ผู้เขียนเกิดศรัทธาแรงกล้าทำการศึกษาประวัติความเป็นมาของพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิตมาเล่าให้ท่านผู้อ่านที่เคารพเพื่อระลึกถึงบุคคลที่ควรแก่การเคารพบูชาท่านหนึ่งในยามที่เราหาที่พึ่งทางจิตใจได้ยากในยามนี้บ้าง
ท่านเจ้าคุณนรฯ ชื่อเดิมคือ นายตรึก จินตยานนท์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2440 ที่บ้านหลังวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ บิดาชื่อ พระยานรราชภักดิ์ (ตรอง จินตยานนท์) มารดาชื่อ พุก ท่านเป็นลูกชายคนโตมีน้อง 4 คน ตรึกเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนโสมนัสวิหารจนจบประถมต้นและเรียนระดับมัธยมศึกษาจนจบที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร แล้วเข้าศึกษาต่อในสาขารัฐศาสตร์ ที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่หอวัง (ต่อมาคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ท่านจบรัฐศาสตร์รุ่นแรกเมื่อ พ.ศ.2457 เมื่อท่านมีอายุได้ 17 ปี
นายตรึก จินตยานนท์ ได้เข้ารับราชการในกระทรวงวังในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่ออายุย่าง 18 ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเมื่ออายุเพียง 25 ปี เป็นพระยาพานทองที่หนุ่มที่สุดในยุคนั้น ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ทรงแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีเมื่ออายุ 27 ปี
ในบรรดาพระยาที่ได้รับพระราชทานที่ดินจากล้นเกล้าฯ ร.6 รุ่นเดียวกับท่าน ซึ่งมีอยู่ 4 ท่านด้วยกัน ต่างสร้างบ้านช่องกันใหญ่โตระดับคฤหาสน์กันทุกท่าน โดยท่านหนึ่งสร้างบ้านด้วยหินอ่อนจากอิตาลี แล้วตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านนรสิงห์” ปัจจุบันก็คือทำเนียบไทยคู่ฟ้าเป็นที่ทำการของนายกรัฐมนตรีนั่นแหละ
ท่านที่สองสร้างบ้าน “บรรทมสินธุ์” ซึ่งใหญ่โต มีรูปปั้นนารายณ์บรรทมสินธุ์เด่นเป็นสง่า ปัจจุบันคือบ้านพิษณุโลก เคยใช้เป็นบ้านรับรองแขกเมืองของรัฐบาล ต่อมาจะให้เป็นบ้านประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีแต่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนย้ายไปอยู่จริงๆ จังๆ นัยว่าผีดุ
ท่านที่สามก็สร้าง “บ้านมนังคศิลา” ที่ถนนหลานหลวงนี่เอง เมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา ก็ได้ใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ทำการพรรค
ในขณะที่พระยานรรัตนราชมานิตเมื่อได้รับพระราชทานที่ดินแล้วก็ปล่อยที่ให้ว่างอยู่ดังเดิม จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นภาระจะสร้างบ้านให้ โดยทรงใช้ให้สถาปนิกจัดการออกแบบเพื่อจะสร้างบ้านให้ทัดเทียมกับบ้านอีก 3 หลังดังกล่าว เมื่อท่านเจ้าคุณนรฯทราบเรื่องพระมหากรุณาธิคุณ ก็ได้เข้ากราบบังคมทูลคัดค้านพระราชประสงค์อย่างไม่กลัวว่าจะถูกกริ้วว่า “หากทรงสร้างขึ้นตามพระราชดำริแล้ว จะขอถวายคืนทั้งบ้านและที่ดินที่พระราชทานให้” ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 6 ก็ทรงผ่อนตาม ที่ดินผืนนี้ก็ถูกปล่อยให้ว่างเปล่าตราบจนกระทั่งเจ้าคุณนรฯ ถวายเป็นสมบัติของวัด เมื่อท่านอุปสมบทในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยท่านไม่ยอมฟังคำทัดทานของผู้ที่หวังดีที่จะให้เก็บที่ดินผืนนี้ไว้เพื่อเป็นหลักประกันชีวิตในบั้นปลาย ที่ดินผืนนี้คือซอยนรรัตน์ ใกล้กับเขตราชเทวี กทม. นี่เอง ปัจจุบันก็มีราคาเป็นร้อยๆ ล้านแล้วละครับ
ท่านเจ้าคุณนรฯ เมื่ออยู่ในเพศบรรพชิตก็อยู่อย่างมักน้อยสันโดษ ในกุฏิจะว่างเปล่ามีเพียงโลงศพเก่าๆ อยู่ 1 โลง และโครงกระดูกคนตายแขวนไว้เพื่อใช้ประกอบการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปาใช้ในกุฏิ เมื่อมีคนไปไต่ถาม ท่านก็อธิบายว่า
“ธรรมชาติให้มนุษย์เพียงพอแล้วจะวุ่นวายไปทำไม ยิ่งเป็นภิกษุสงฆ์ปฏิบัติอยู่ในธรรมวินัยก็ยิ่งสบายมาก น้ำฝนเป็นน้ำบริสุทธิ์ ดื่มฉันก็เกิดอาบัติน้อย ยิ่งไฟฟ้าด้วยแล้วถือว่าไม่สำคัญเลย เพราะพระอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่โลกมนุษย์ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น เราจะทำอะไรก็รีบๆ ทำเสีย เมื่ออาทิตย์สิ้นแสงแล้ว ก็หมดเวลาที่เราจะทำอย่างอื่น นอกเสียจากทำสมาธิให้จิตใจสงบและเจริญวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น”
เจ้าคุณนรฯ ฉันเอกา คือฉันวันละ 1 มื้อ และเป็นอาหารมังสวิรัติ อย่างเดียวกันซ้ำทุกวัน เมื่อแรกบวชท่านก็ออกบิณฑบาต แต่ต่อมาก็งดเนื่องจากเล็งเห็นว่าท่านจะตัดลาภพระองค์อื่น และอาหารมังสวิรัติทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนวุ่นวายในการจัดเตรียมและทางครอบครัวของท่านก็จัดอาหารมาส่งทุกวันอยู่แล้ว นอกจากไม่ออกบิณฑบาตแล้วท่านยังไม่ยอมรับของถวายใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมีคนเอาของมาถวายท่านก็บอกให้เอาไปถวายพระรูปอื่น โดยบอกว่าพระทุกองค์ถือศีล 227 ข้อเหมือนกัน ถวายใครก็ได้บุญเช่นกัน มิหนำซ้ำท่านยังไม่ยอมรับแขกในกุฏิทุกกรณี ใครจะพบหรือสนทนากับท่านก็จะมีโอกาสเฉพาะช่วงที่ท่านออกจากกุฏิไปทำวัตรเช้า-เย็นเท่านั้น บรรดาญาติโยมที่ศรัทธาท่านและเห็นว่าพระอย่างเจ้าคุณนรฯนั้นเป็นเนื้อนาบุญอันไพศาล จึงนำเรื่องที่ท่านไม่ยอมรับของถวายไปฟ้องต่อท่านเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์องค์อุปัชฌาย์ของท่านเจ้าคุณนรฯ นัยว่าญาติโยมกลัวจะไม่ได้บุญอย่างนั้นแหละ คล้ายๆ กับญาติโยมรุ่นสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ถวายฎีกาเรื่องที่พระภิกษุไม่ยอมรับสตางค์ที่ญาติโยมถวาย สาเหตุที่พระท่านไม่ยอมรับสตางค์ก็เนื่องจากผิดพระวินัยตามโกสิยวรรคที่ 2 ข้อ 8 และข้อ 9
เจ้าคุณนรฯ ต้องชี้แจงต่อท่านเจ้าอาวาสว่า “การอุปสมบทของท่านครั้งนี้เพื่อถวายพระราชกุศลแด่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 พร้อมกับต้องการที่จะศึกษาหลักธรรม คำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นส่วนตัว เวลานี้ยังไม่รู้แจ้งแตกฉานในธรรมะซึ่งเป็นของละเอียดอ่อน จึงต้องการที่จะใช้เวลาให้มากที่สุดและต้องการความสงบเพื่อศึกษาธรรมะ ถ้ามัวแต่สาละวนคอยรับแขก เรื่องยุ่งๆ ทางโลกอยู่อย่างนี้ ทำให้ไม่มีเวลาศึกษาปฏิบัติธรรม การรับแขกที่นำเรื่องยุ่งเรื่องทุกข์มาเล่าให้ฟัง ไม่ใช่ธุรกิจของสงฆ์” ท่านเจ้าอาวาสเมื่อได้ฟังเหตุผลของเจ้าคุณนรฯ แล้วก็เห็นใจไม่ได้ว่ากระไร
เจ้าคุณนรฯเคร่งครัดในการทำวัตรเช้า-เย็น ตลอด 46 พรรษา ท่านขาดทำวัตรเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น โดยคำสั่งขององค์อุปัชฌาย์เนื่องจากท่านถูกสัตว์มีพิษไม่ทราบชนิดทำร้ายท่านที่เท้าจนเท้าบวมโต จนท่านอุปัชฌาย์ต้องสั่งห้ามการมาทำวัตรเพื่อให้อาการเท้าบวมทุเลาลง ท่านเจ้าคุณนรฯเคยบอกกับพระสงฆ์ว่า ถ้าวันใดไม่มาลงโบสถ์ก็คือวันละสังขารของท่าน ในตอนเช้าวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2514 เจ้าคุณนรฯบอกกับเด็กที่นำอาหารไปถวายว่า วันนี้ไม่ฉันและสั่งบอกพระข้างกุฏิว่าวันนี้ไม่ลงโบสถ์ตามธรรมดาเจ้าคุณนรฯพอเข้ากุฏิแล้วก็จะปิดประตูลงกลอนเนื่องจากท่านไม่รับแขกในกุฏิอย่างเคร่งครัด แต่ท่านเคยบอกไว้ว่า “วันที่อาตมาจะลาจากไปเท่านั้นที่จะไม่ลงกลอน”
จนกระทั่งเวลา 1 ทุ่มเศษ จึงมีคนเข้าไปหาท่านที่กุฏิ เมื่อผลักประตูเข้าไป ปรากฏว่าไม่ได้ลงกลอน พบว่าท่านมรณภาพไปแล้วห่มจีวรเรียบร้อยในมุ้งหลังเล็กๆ เหมือนกับท่านนอนหลับธรรมดา สันนิษฐานว่าท่านมรณภาพตั้งแต่เวลาประมาณ 11.00 น.