คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : กฎหมายที่ไร้หัวใจ : โดย กล้า สมุทวณิช

วันก่อนได้ฟังเรื่องราวหนึ่งจาก Podcast รายการ Mission to the Moon ซึ่งทำให้นำมาขบคิดได้อีกหลายเรื่องต่อยอดจากนั้น

ในรายการตอนดังกล่าวเล่าว่า ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนัก ประเทศต่างๆ ในยุโรปต่างปิดพรมแดนของตนไม่ให้มีการเดินทางเข้าออกเป็นการชั่วคราว แต่เพราะไม่ใช่การปิดน่านฟ้า บนท้องฟ้าจึงมีเครื่องบินสัญจรไปมากันตามปกติ

แม้ว่าเครื่องบินหลายเครื่องบนท้องฟ้านั้นเป็นเครื่องบินเปล่าๆ นอกจากลูกเรือแล้วก็ไม่มีผู้โดยสารแม้แต่คนเดียว นั่นเพราะคำสั่งปิดพรมแดน ทำให้ไม่มีการเดินทางไปมาระหว่างประเทศได้อีก หากเครื่องบินก็ยังจำเป็นต้องบินเครื่องเปล่าในเส้นทางระหว่างประเทศตามที่แต่ละสายการบินได้สิทธิการบินอยู่ นั่นเพราะกฎหมายและกฎเกณฑ์ว่าด้วยการเดินทางทางอากาศนั้นกำหนดเที่ยวบินขั้นต่ำเพื่อรักษาสิทธิการบินแต่ละเส้นทางเอาไว้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าสายการบินที่ได้สิทธิการบินนั้นจะต้องจัดให้มีเที่ยวบินเพื่อการเดินทางจริงๆ ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็สมเหตุสมผลดี เพราะมันมีมิติในการคุ้มครองผู้บริโภคว่าอย่างน้อยซื้อตั๋วโดยสารไปแล้วต้องได้เดินทาง สายการบินจะอ้างว่าคนน้อยบินไปก็ไม่คุ้มแล้วยกเลิกเที่ยวบินหรือเส้นทางบินนั้นดื้อๆ ก็ไม่ได้

แต่นั่นคือหลักเกณฑ์ในสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่ในภาวะอันคาดไม่ถึงที่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์การบินที่ว่านั้นก็อาจจะไม่ได้กำหนดกรณีแบบนี้ไว้ชัดเจน ทำให้สายการบินต่างๆ ต้องจำใจบินเครื่องบินเปล่ากันไป ดีกว่าเสี่ยงต่อการถูกลงโทษและเสียโอกาสทางธุรกิจไปในระยะยาว

Advertisement

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ากฎเกณฑ์และกฎหมายที่ไม่ได้คาดหมายกรณีคาดไม่ถึงบางอย่าง ทำให้เราต้องตัดสินใจทำเรื่องแปลกประหลาดเพียงเพื่อรักษากฎนั้นไว้ กรณีนี้ก็ทำให้เกิดความเปล่าเปลืองทางเศรษฐกิจและทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่จำเป็น แต่บางครั้งมันก็กลายเป็นเรื่องไร้มนุษยธรรมไปได้เลย เช่นกรณีของบางประเทศที่กำหนดห้ามคนออกนอกเคหสถานโดยสมบูรณ์ หรือการ Lockdown แบบ 100% ก็ทำให้มีการจับกุมดำเนินคดีกับ “คนไร้บ้าน” ด้วยข้อหา “ไม่ยอมอยู่บ้าน” เรื่องนี้เกิดขึ้นทั้งในประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทย

ทั้งสองกรณี ทั้งเรื่องเที่ยวบินเปล่า และเรื่องการจับคนไร้บ้าน คือการบังคับใช้กฎหมายที่สมบูรณ์แบบหมดจด แต่อาจจะเหมือนไร้ความคิดในกรณีแรก และไร้หัวใจในกรณีที่สอง

แต่นั่นก็เพราะกฎหมายถูกออกแบบมาให้เป็นระบบ “ไร้หัวใจ” มาตั้งแต่ต้นมิใช่หรือ

Advertisement

เพราะกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์กลางในสังคมในการที่จะจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันของผู้คนและจัดสรรการใช้อำนาจรัฐมาตั้งแต่ต้น เป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปที่กำหนดกระบวนการอัตโนมัติเพื่อจะได้ไม่จำเป็นต้องต่อรองหรือหาวิธีจัดการกันเป็นรายกรณี เช่นแทนที่จะต้องมาตัดสินว่าจะลงโทษขโมยแต่ละคนอย่างไรเป็นรายคน ก็กำหนดไว้เลยว่าใครขโมยของต้องติดคุกเท่านั้นเท่านี้ รวมถึงเพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจ เช่นหากบ้านนั้นเมืองนั้นห้ามทำเรื่องอะไรก็ต้องกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าการกระทำต้องห้ามใดหากฝ่าฝืนแล้วเป็นความผิดและต้องรับโทษทางอาญาที่กำหนดเพดานไว้ชัดเจน หรือในการติดต่อทำนิติกรรมระหว่างกัน ก็มีแบบพิธีหรือกำหนดหลักฐานกันชัดเจนว่าจะซื้ออะไรขายอะไรต้องทำอย่างไร และใครจะต้องรับผิดแค่ไหนหรือเพียงไรหากเกิดเหตุที่ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญากันได้ หรือในการขออนุญาตทำนี่ทำนั่นจากรัฐจะต้องทำอย่างไร ต้องใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง และถ้าอยู่ในสังคมประเทศที่ระบบนิติรัฐได้รับการเคารพ ก็แทบจะกำหนดได้เลยว่าผลการพิจารณาจะออกมาเมื่อไรอย่างไร

ความคาดหวังต่อความยุติธรรมตามกฎหมายคือกรณีที่เหมือนกันโดยสาระสำคัญต้องได้รับการตัดสินหรือปฏิบัติอย่างเดียวกัน ดังภาพแทนของเทพีแห่งความยุติธรรมที่ต้องมีผ้าคาดตา เพราะกระบวนการทางกฎหมายที่ดีนั้นจะต้องไม่ “ดูหน้า” คน ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอน เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคาดเดาได้ว่าการกระทำของตนนั้นจะส่งผลอย่างไรในมิติความสัมพันธ์เชิงสิทธิหน้าที่กับบุคคลอื่นและต่อรัฐ

แต่ในหลายสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง กฎหมายที่ไม่ดูหน้าคน ซึ่งเราคิดว่านั่นคือความยุติธรรม ก็กลับกลายเป็นกฎหมายที่ไร้หัวใจหรือไร้เหตุผลไปได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตที่ไม่มีใครคาดหมายมาก่อนเช่นการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้ ที่มีผู้เปรียบว่านี่คือเหตุคุกคามระดับเปลี่ยนโลกครั้งสำคัญนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

มาตรการต่างๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดถูกนำมาปรับใช้ แต่ด้วยความซับซ้อนทางสังคมและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สะสมมาก่อนหน้าของสังคมมนุษย์หลายสิบปี ทำให้มาตรการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตไวรัสนี้ ก็อาจจะก่อให้เกิดเรื่องกระทบกระเทือนต่อกลไกแห่งกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ดังตัวอย่างข้างต้นคือ เราไม่เคยมีกรณีไหนที่เกือบทุกประเทศจะห้ามการสัญจรเข้าออกแทบจะเด็ดขาด แต่ในยุคสมัยที่เครื่องบินเต็มฟากฟ้า มาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เดินอากาศจึงกลายเป็นกฎเกณฑ์ไร้เหตุผลและเปลืองเปล่า เช่นเดียวกับไม่เคยมีครั้งไหนที่เราจำเป็นต้องห้ามผู้คนออกนอกบ้านเรือนอย่างเข้มงวดขนาดนี้ เราจึงไม่ทันคิดว่าถ้าเราเอาผิดหรือจับกุมผู้ไม่อยู่ในบ้านแล้วเราจะวินิจฉัยอย่างไรในกรณีของผู้ที่ไม่มีบ้านจะอยู่

นอกจากนี้ ก็มีปัญหาที่เกิดจากกฎหมายที่ไม่ชัดเจน แต่กลับถูกใช้บังคับอย่างเข้มงวด เช่นคำว่า “ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นหมายถึงกิจกรรมใดอย่างไรบ้าง ความไม่ชัดเจนแต่นำมาใช้บังคับเข้มงวดนี้จึงเกิดภาพที่ไม่ใครก็ใครคงรู้สึกว่าการบังคับใช้กฎหมายช่างใจร้ายใจดำเหลือเกิน เช่นกรณีของผู้ที่ยังพอมีและเป็นห่วงผู้คนที่ลำบากกว่า จัดหาอาหารมาแจกจ่ายเพื่อหมายให้พวกเขาได้ประทังชีวิต แต่กลับถูกจับกุมและตั้งข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินและส่งฟ้องศาล จริงอยู่ว่าแม้ในที่สุด ศาลจะพิพากษาให้รอการลงโทษไว้ แต่นั่นก็ทำให้ผู้ที่มีความตั้งใจจะช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อมนุษยธรรมนั้นจะต้องตกเป็นจำเลย และถือว่าเป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และมีประวัติทางคดีอาญา ด้วยความผิดที่เริ่มมาจากการแจกอาหารให้ผู้คนที่กำลังจะอดตาย

เพราะในบางครั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ปฏิบัติหน้าที่แบบ “ปลอดภัยไว้ก่อน” หรือเพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ก็กวาดกองไปว่าการกระทำต้องสงสัยนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายไปเสียให้พ้นตัวแล้วค่อยให้องค์กรที่อยู่เหนือขึ้นไปตัดสิน พวกเขาอาจจะอาศัยความ “ไร้หัวใจ” ของกฎหมายเป็นเครื่องอำพรางความรู้สึกผิด ที่นึกปลอบใจตัวเองว่าตัวเองไม่ใช่คนใจร้ายใจดำ แต่เพราะกฎหมายว่ามาอย่างนี้ก็ต้องทำไปตามกฎหมาย ไม่ใช่เจตจำนงของตัวเอง

ยังไม่นับว่าก็มีอยู่อีกประมาณหนึ่งที่อาศัยช่องของอำนาจรัฐที่ได้อำนาจพิเศษมาจากกฎหมายเหมือนถูกหวย ก็ฉวยโอกาสใช้อำนาจนั้นไปในทางที่กดขี่ข่มเหง หรือเพื่อละเมิดสิทธิของผู้คนเพียงเพื่ออยากสำแดงอำนาจแห่งตน คนพวกนี้ก็อาศัยอ้างว่า พวกเขาไม่ได้ทำอะไรไปเกินเลย แค่ทำไปตามกฎหมายเท่านั้น

ดังมีผู้กล่าวว่า COVID-19 เป็นสิ่งที่มาเผยแผลหรือเปิดโปงปัญหาและความล้มเหลวในแต่ละด้านของสังคม ความซับซ้อนของการมีอยู่และการบังคับใช้กฎหมายที่ไร้หัวใจไม่ดูหน้าคน (ซึ่งที่จริงมันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น) ก็ถูกแสดงออกมาด้วยวิกฤตการณ์นี้เช่นกั้น และก็เป็นปัญหาไปทั่วโลกมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ระดับความเป็นนิติรัฐของประเทศและจิตสำนึกแห่งนิติธรรมของผู้บังคับใช้กฎหมาย

แต่กระนั้นการจะยกกฎหมายทิ้งแล้วว่ากันตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีๆ ไปก็เป็นความเสี่ยงอีกแบบหนึ่ง จริงอยู่ว่ากฎหมายนั้นเป็น “ระบบที่ไร้หัวใจ” แต่การเอาระบบไปฝากไว้กับ “หัวใจ” ของผู้ใช้อำนาจรัฐแบบปัจเจก ก็เสี่ยงที่จะเกิดสิ่งที่กฎหมายมุ่งป้องกัน
และแก้ปัญหานี้มานับพันปี คือการใช้อำนาจตาม “อำเภอใจ” ได้เช่นกัน

อันที่จริงแล้ว หลักการใช้กฎหมายที่ไม่มีหัวใจแต่ไม่ไร้เหตุผลนั่นก็ทำได้ เช่นหลักการตีความและปรับใช้กฎหมายที่ถือเป็นหลักการสำคัญที่เรียกว่า Golden Rule หรือกฎทองคำนั้นก็มีอยู่ นั่นคือ “ในการตีความกฎหมายต้องไม่ทำให้เกิดผลประหลาด” ซึ่งถ้าเรายึดถือหลักนี้ เรื่องประหลาดเช่นการให้เครื่องบินบินเครื่องเปล่าที่ไม่อาจมีผู้โดยสารอย่างแน่แท้เพียงเพื่อรักษาสิทธิการบิน หรือการจับคนไร้บ้านด้วยข้อหาไม่ยอมอยู่ในบ้านก็คงไม่เกิดขึ้น

หรือในการตีความเพื่อบังคับใช้กฎหมายอาญา จริงๆ แล้วหลักการสำคัญที่สุดของความรับผิดทางอาญาก็เป็นสิ่งที่ควรนำมาปรับใช้ คือ “หลักเจตนา” ว่าผู้ที่ควรจะต้องมีความผิดและรับโทษในทางอาญา จะต้องมีเจตนาที่จะละเมิดในสิ่งที่กฎหมายห้ามและกำหนดความผิดไว้ ซึ่งการจะหยั่งทราบเจตนาของผู้กระทำการ ก็อาศัยหลัก “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”

เราเอาหลักเรื่อง “เจตนา” และ “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” มาจับ โดยดูว่าวัตถุประสงค์ของการลงโทษผู้คนที่ฝ่าฝืนประกาศที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น น่าจะมุ่งหมายเอากับคนที่รู้แล้วแต่ก็มีเจตนาที่จะฝ่าฝืน แต่ไม่น่าจะหมายถึงคนที่มีเจตนาตั้งต้นในการช่วยเหลือผู้คน หรือแม้แต่ในการออกนอกเคหสถานในยามเคอร์ฟิว บางครั้งก็ต้องพิจารณาด้วยว่ามันเป็นเพราะเขาอยู่ระหว่างทางกลับบ้าน หรือมีภาระสำคัญที่พอฟังได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าเห็นใครอยู่นอกบ้านในเวลาที่กำหนดถือเป็นความผิดไปเสียหมด

อย่าลืมว่ากฎหมายและอำนาจรัฐทั้งปวงนั้นมีขึ้นเพื่อรักษาสภาวะอันสงบเรียบร้อยของสังคม ไม่ให้เป็นอนารยะโกลาหลที่ต่างคนต่างทำอะไรเพื่อเอาตัวให้รอดเข้าไว้แบบไม่มีใครฟังใคร กฎหมายและอำนาจรัฐมีขึ้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดสิ่งนี้ ดังนั้น มันจึงไม่ควรเป็นสาเหตุให้ไปถึงจุดนั้นเพราะตัวของมันเอง

ภาพข่าวเล็กๆ ที่ผู้อดหิววิ่งไล่กระทืบเจ้าหน้าที่เทศกิจที่ไปห้ามปรามผู้ที่มาจ่ายแจกอาหารช่วยเหลือ อาจจะเป็น “คำเตือน” เบื้องต้นต่อการใช้กฎหมายแบบไม่มีหัวใจและไร้หัวคิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image