สุจิตต์ วงษ์เทศ : ของดีมีค่าราคายิ่ง ในตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา

ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์

“ของดีมีค่าราคายิ่ง อยู่กับลิงรู้ค่าราคาหรือ” เป็นกลอนเก่าแก่ที่ขรรค์ชัย บุนปาน จดให้ผมเกือบ 50 ปีมาแล้ว ยังจำได้ แต่จำได้ไม่หมดทุกวรรค เลยเอามาฝากได้แค่นี้

ภาพจิตรกรรมล้ำค่ามหาศาลในตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา เป็นของดีมีค่าราคายิ่ง

เฟื้อ หริพิทักษ์ เคยไปนอนค้างอ้างแรมคัดลอกไว้มิให้สูญบางส่วนที่สำคัญๆ
อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นผู้ช่วยคัดลอก โดยกินนอนอดๆ อยากๆ ศิลปินละแวกหน้าพระลานบอกเล่ากันต่อๆ มาว่าอดอยากเหมือนในกวีนิพนธ์บทวักทะเลว่า “วักทะเลเทใส่จานรับประทานกับข้าวขาว เอื้อมเด็ดบางดวงดาว ไว้คลุกเคล้าซาวเกลือกิน”

น. ณ ปากน้ำ เคยไปสำรวจแล้วคัดลอกอีกบางส่วนของภาพจิตรกรรมล้ำค่านี้ เมื่อ พ.ศ. 2509-2510 มีบันทึกเรื่องราวความรู้อยู่ในหนังสือ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. 2558) จะคัดบางตอนแล้วเลือกบางรูปมาแบ่งปัน โดยจัดย่อหน้าใหม่กับยกหัวข้อย่อยให้อ่านง่าย ดังต่อไปนี้

Advertisement

ภาพเขียน

ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แล้วขึ้นไปดูภาพเขียนสมัยอยุธยาบนตำหนัก
ตำหนักนี้ปลูกเป็นตึกสองชั้น ชั้นล่างทำหน้าต่างเป็นโค้งยอดแหลม ส่วนชั้นบนเป็นหน้าต่างเหลี่ยม
ที่โค้งแหลมนั้น ดูด้านในจะเห็นว่ามีการใส่คานไว้ แต่ข้างนอกลวงตา ไม่ได้ก่ออิฐให้รับน้ำหนักข้างบนแต่อย่างไร เข้าใจว่าเพื่อให้งามมากกว่า
ฝีมือการก่อสร้างแบบเดียวกับวัดตึก จึงพอเดาได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์
พูดถึงฝีมือภาพเขียนภายในนี้ก็น่าแปลก บางตอน เช่นผนังด้านทิศเหนือ เขียนอย่างลวกๆ ไม่ประณีต แต่ผนังด้านทิศตะวันออกกลับเขียนประคองเส้นดี บ่งให้เห็นว่าผู้เขียนเป็นช่างที่มีฝีมือคนหนึ่ง
สีที่ใช้ระบายนั้น ส่วนมากเป็นสีดำและสีดินแดงกับสีเขียว มองเห็นสีส่วนใหญ่เพียงสามสีเท่านั้น
วิธีการเขียนและเทคนิคต่างๆ ไม่ผิดอะไรกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่นี่อาจจะใช้เส้นอิสระมากกว่า แต่ระเบียบการเขียนหน้าคน ชฎา เครื่องแต่งตัว ดูก็คล้ายๆ กับภาพเขียนบนผนังอุโบสถในกรุงเทพฯ นั่นเอง หากไม่สังเกตก็แทบไม่รู้ว่าเป็นฝีมือสมัยอยุธยา
สังเกตได้ตรงช่างเขียนอยุธยาไม่ค่อยประคองเส้น เมื่อลากเส้นตรงก็ใช้มือ มิได้ใช้ไม้บรรทัดช่วย ผิดกับสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งทำงานฝีมือประณีตลึกซึ้งกว่านี้ แม้สีสันก็มีมากกว่า
เห็นภาพเขียนที่นี่แล้วก็รู้ได้ชัดว่าสกุลช่างศิลปะกรุงเทพฯ มิได้แผลงครูอยุธยาไปเลย มีแต่พยายามที่จะเลียนครูเดิมทุกบททุกตอน บางครั้งออกจะดีเกินครูเสียด้วยซ้ำไป

ภาพคัดลอกจิตรกรรมวัดพุทไธสวรรย์

คัดลอก

ไปคัดลอกภาพเขียนที่ผนังตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2509 จนถึงวันที่ 11 มกราคม 2510 เป็นเวลา 14 วันเต็มๆ ได้คัดลอกเฉพาะส่วนที่อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ไม่ได้คัดลอกไว้
นิพนธ์ ขำวิไล และอรรถทวี ศรีสวัสดิ์ ได้ช่วยกันอย่างแข็งขัน จนได้ภาพหลายภาพด้วยกัน ล้วนเป็นภาพอันน่าสนใจแทบทั้งสิ้น

Advertisement

ภาพเขียนเหล่านี้ชำรุดทรุดโทรมยิ่งขึ้นกว่าเดิม จนบางภาพเกือบจะมองไม่เห็นเอาทีเดียว เช่น ภาพพระสุวรรณสามถูกศร อยู่ผนังด้านบนชิดหลังคาด้านตะวันตก แต่ก่อนยังคงเห็นภาพชัดเจนแจ่มใส ต่อมาฝนรั่วไหลลงมาชะล้างภาพเขียนตรงส่วนนี้จนเลือนหายไปหมดสิ้น เคราะห์ดีที่อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้คัดลอกภาพนี้ไว้เสียก่อน
ถึงอย่างนั้นน่าที่ทางราชการจะสอดส่องดูแล คอยตรวจตราหาทางแก้ไข หากว่าจะมีส่วนชำรุดเกิดขึ้น โดยคิดหาทางป้องกันไว้เสียแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยพยุงสืบต่อศิลปะโบราณแห่งนี้ให้มีอายุยืนนานสืบต่อไปได้
เท่าที่มองเห็น รู้สึกว่าทางราชการจะปล่อยตามบุญตามกรรม ไม่เอาใจใส่เหลียวแลเลยแม้แต่น้อย นับวันก็ยิ่งจะเสื่อมอายุลงทุกที ในที่สุดก็คงสูญหายไป
อย่างภาพเขียนบนผนังตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ควรที่ทางราชการจะถ่ายรูปบันทึกไว้โดยพยายามรักษาไว้ทุกตารางนิ้ว แม้ว่าภาพเขียนจะชำรุดไปบ้างตามกาลเวลา แต่ภาพถ่ายยังคงเหลืออยู่ จะได้เก็บไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีสืบไป
น่าแปลกตรงที่ว่าทางราชการถ่ายรูปไว้เหมือนกัน แต่ส่วนมากเป็นรูปซ้ำกับที่อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ เคยคัดลอกไว้แล้ว แทนที่จะไปถ่ายรูปตรงส่วนอื่นๆ ซึ่งก็มีอีกหลายชิ้น งานมิใช่น้อย จึงดูเป็นเรื่องเห่อตามๆ กันเสียมากกว่าที่จะคิดทำนุบำรุงศิลปกรรมโบราณกันตามหลักวิชาการอย่างแท้จริง

ฝีมือช่างชั้นครู

พิจารณาภาพเขียนบนผนังตำหนักแห่งนี้อย่างละเอียดแล้ว ทำให้ได้ความรู้ขึ้นหลายประการ
ประการแรก สังเกตแต่ละภาพหรือแต่ละชุดของชาดก ฝีมือไม่เหมือนกัน บางภาพฝีมือหยาบ บางภาพฝีมือประณีต เขียนเส้นได้งามไม่แพ้วัดสุวรรณารามในคลองบางกอกน้อยเลย แม้ว่าส่วนใหญ่จะเห็นลักษณะพิเศษ คือ การใช้เส้นได้เสรียิ่งกว่าสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ก็ยังคงมีวี่แววฝีมือชั้นครูอยู่หลายตอน
ตามที่ผู้รู้บางคนเคยสันนิษฐานว่าฝีมือช่างสมัยอยุธยาที่วัดพุทไธศวรรย์เป็นฝีมือช่างธรรมดา ไม่วิเศษอะไร จึงผิดไปอย่างถนัดใจ เนื่องจากผนังฝีมือดีๆ ชำรุดมาก หากไม่ไปพิจารณาอย่างใกล้ชิดก็จะมองไม่เห็น จึงมีผู้มักมองผ่านละเลยไปกันหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image