คนแก่มีสิทธิมั้ยคร้าบ โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทย รัฐบาลก็ได้ทำการแก้ปัญหาอย่างเข้มแข็งทั้งการสะกัดโควิด-19 และการเยียวยาจนเป็นที่ยกย่องไปทั่วโลก

มาตรการช่วยเหลืออันดับแรกที่ออกมาคือการให้เงินเยียวยาเดือนละ 5 พันบาทเป็นเวลา 3 เดือนแก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการกำจัดโควิด-19 โดยตั้งเป้าจะให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจำนวน 3 ล้านคนเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งต่อมามีผู้ลงทะเบียนถึง 27 ล้านคนและมีการถอนลงทะเบียนไปประมาณ 7 แสนคน (ณ วันที่ 13 เมษายน 2563) ส่วนหนึ่งก็ต้องโทษรัฐบาลที่กำหนดเงื่อนไขไม่ชัดเจนว่าใครควรมีสิทธิได้รับและวิธีการลงทะเบียนที่ยังไม่รัดกุมจนต้องมีการขอทบทวนสิทธิกันวุ่น

เกณฑ์ผู้มีสิทธิรับเงินเยียวยาเดือนละ 5 พันบาทที่รัฐบาลแถลงเมื่อวันที่ 3 เมษายน มี 4 กลุ่มอาชีพแรกที่ได้รับการเยียวยา คือ กลุ่มลูกค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และมัคคุเทศก์ ต่อมาเลือกเพิ่มอีกกลุ่ม คือ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะเป็นล็อตแรกๆ ที่จะได้รับเงินเยียวยา

ทั้งนี้ “คนที่ผ่านเกณฑ์” คือ ผู้มีงานทำ คนที่ประกอบอาชีพอิสระ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วน “คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์” มี 10 กลุ่มประกอบด้วย 1.อายุต่ำกว่า 18 ปี 2.เป็นผู้ว่างงาน 3.ข้าราชการ 4.พนักงานรัฐ 5.ผู้รับบำนาญ 6.นักเรียน นักศึกษา 7.เกษตรกร 8.ผู้ค้าออนไลน์ 9.รับจ้างก่อสร้าง และ 10.โปรแกรมเมอร์

Advertisement

แต่ตอนนี้ก็เดือดร้อนกันทุกคน เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

ล่าสุดแม้แต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ฯลฯ ก็ออกมาแบมือขอบ้าง

เห็นใจรัฐบาลจริงๆ แค่หาเงินก็เหนื่อยแล้ว ตอนแจกยิ่งเหนื่อยกว่าอีก มีคนไปลุยด่าถึงกระทรวงการคลังก็มี ถึงกระนั้นก็ยังอดห่วงคนอีกกลุ่มไม่ได้ ผู้สูงอายุไงครับ

Advertisement

ถามแบบเกรงใจว่า แล้วกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป) ล่ะ มีสิทธิมั้ยคร้าบ?

คำถามนี้อาจช้าไปเพราะรัฐกำหนดปิดรับการสมัครขอรับเงินเยียวยา 5 พันบาทตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนแล้ว

แต่เอาเถอะ ผู้เขียนเชื่อว่ามาตรการต่างๆ ยังไม่นิ่ง ดังนั้นจึงอยากฝากคำถามข้างบนไว้

ได้คำตอบส่วนหนึ่งจากคำให้สัมภาษณ์ของคุณลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลังแถลงว่า “ส่วนคนอายุ 60 ปีขึ้นไป หากเป็นอดีตข้าราชการได้รับบำนาญจากภาครัฐและไปทำอาชีพเสริมอื่น ไม่เข้าเกณฑ์รับเงิน 5 พัน แต่ถ้าค้าขายมาตลอดชีวิต มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา จะสามารถตรวจสอบได้เร็วหากมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว แต่ถ้าใครไม่มีฐานข้อมูลต้องใช้เวลาในการตรวจสอบระยะหนึ่ง” (มติชนฯ 9 เมษายน 2563) ก็อดปลื้มไม่ได้ ที่ท่านยังนึกถึงแรงงานผู้สูงอายุ

อีกคำตอบหนึ่ง คือกรณีลุงขายเฉาก๊วย ที่ปากช่อง นครราชสีมา อายุ 65 แล้ว ได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาทแล้ว (โดนโกงไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างท่วมท้นจากผู้มีใจเมตตา) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เกณฑ์การได้รับเงินเยียวยาจะดูสถานภาพการทำงานและอาชีพเป็นสำคัญ ไม่ได้ดูอายุเป็นหลัก

แต่คิดว่าในกรณีแรงงานผู้สูงอายุน่าจะลงไปดูให้จริงจังขึ้นและน่าจะมีแต้มต่อพอสมควรเพราะความเสียเปรียบด้านกายภาพและสังขาร และเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะอัตราการตายจาก โควิด-19 สูงกว่ากลุ่มอายุอื่นมากเนื่องจากแบกโรคอื่นไว้พอสมควรแล้ว

ผู้เขียนเห็นด้วยกับคุณอนรรฆ พิทักษ์ธานิน จากสถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่า “กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มวัยแรงงานที่มีอายุมาก หรือวัยแรงงานตอนปลายที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ยากจน อาจประสบปัญหาว่างงานจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด คนกลุ่มนี้อาจจะฟื้นกลับมายาก เพราะหากเศรษฐกิจฟื้นได้แล้ว กลุ่มแรงงานเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่เข้าถึงการทำงานได้ในระดับต่ำ” (มติชนฯ 19 เมษายน 2563)

ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุแล้ว รัฐบาลมัวแต่ยุ่งกับการแก้ปัญหาโควิด-19 จนลืมไปว่าประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุแล้วโดยมีผู้สูงอายุ 11.3 ล้านคน (การสำรวจประชากรสูงอายุ ปี 2560) คิดเป็นร้อยละ 17 ของประชากร 67 ล้านคน และในผู้สูงอายุจำนวน 11.3 ล้านคนนี้ยังทำงานอยู่ 4 ล้านคน และทั้งนี้ต้องไม่ลืมด้วยว่ารัฐยังมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานมากขึ้นและเกษียณช้าลงเนื่องจากเหตุผลที่ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุแล้ว

นอกจากนั้นแล้ว ดูเหมือนรัฐบาลจะลืมไป หรือไม่เข้าใจว่าในตลาดแรงงานของประเทศไทยนั้นไม่มีการกำหนดวัยหรืออายุที่ออกจากกำลังแรงงาน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ให้นิยามของผู้มีงานทำว่า “ผู้มีงานทำ หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปและในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ระบุในรายงานการสำรวจ”

กล่าวคือไม่ได้มีการกำหนดอายุที่หยุดทำงาน ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับอายุเกษียณของทางราชการและธุรกิจเอกชนที่มีลูกจ้างเป็นทางการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กล่าวคืออายุที่ถือว่าเป็นวัยแรงงานนั้นคือตั้งแต่ 15 ปี เป็นต้นไป ไม่ใช่ 15-60 ปีอย่างที่หลายคนเข้าใจ (ผิด)

ทั้งนี้ โดยทั่วไปแรงงานผู้สูงอายุสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอายุ 60-69 ปี (ผู้สูงอายุวัยต้น)มีจำนวน 3.3 ล้านคน กลุ่มอายุ 70-79 ปี (ผู้สูงอายุวัยกลาง) 0.7 ล้านคน และ กลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป (ผู้สูงอายุวัยปลาย) 0.1 ล้านคน จากประชากรผู้สูงอายุจำนวน 6.3 ล้านคน 34 ล้านคน และ 1.6 ล้านคน ในกลุ่มผู้สูงอายุวัยต้น วัยกลางและวัยปลายตามลำดับ

จากเงื่อนไขสำคัญในการมีสิทธิรับเงินเยียวยา คือ ต้องเป็นคนทำงาน มีอาชีพอิสระ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้นจะเห็นว่าแรงงานผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเข้าเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยา

เพื่อเป็นการช่วย AI ของกระทรวงการคลัง ขอแชร์ข้อมูลแรงงานผู้สูงอายุ(จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)เพิ่มเติม ดังนี้

แรงงานผู้สูงอายุร้อยละ 88 เป็นแรงงานนอกระบบ (การสำรวจแรงงานนอกระบบ 2562)

ถ้าดูจากสาขาเศรษฐกิจ แรงงานสูงอายุร้อยละ 60 อยู่ภาคเกษตร ร้อยละ 30 อยู่ภาคการค้าและบริการ และ อีกร้อยละ 10 อยู่ภาคการผลิต

สำหรับสถานภาพการทำงานของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63) เป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง รองลงมา คือช่วยธุรกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (ร้อยละ 19) เป็นลูกจ้างรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ร้อยละ 14 ผู้สูงอายุที่มีสถานภาพเป็นนายจ้าง มีเพียงร้อยละ 3.6

ในปี 2560 มีผู้สูงอายุที่ทำงาน อาศัยอยู่คนเดียวและเลี้ยงชีพด้วยตนเองถึงประมาณ 3 แสนคน

ถ้าดูจากอาชีพ ส่วนใหญ่ คือร้อยละ 56.5 (2.3 ล้านคน)เป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านเกษตรและประมง ซึ่งกลุ่มนี้ไม่เข้าข่ายการรับเงินเยียวยาเดือนละ 5 พันบาท 3 เดือนเพราะรัฐกำลังจะมีมาตรการช่วยเหลือต่างหาก ส่วนผู้สูงอายุกลุ่มรองลงมาคือ ผู้มีอาชีพพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า ร้อยละ 19.6 (8 แสนคน) ช่างฝีมือหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 8.6 (3.5 แสนคน) และผู้ประกอบอาชีพพื้นฐานหรือกรรมกร ร้อยละ 7.2 (ประมาณ 3 แสนคน)

รวมแล้วมีแรงงานสูงอายุที่เข้าเกณฑ์รับเงินเยียวยาเดือนละ 5 พันบาท ประมาณ 1.45 ล้านคน

ในด้านรายได้ มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 30 ที่มีรายได้จากการทำงาน โดยรายได้หลักมาจากบุตร ซึ่งในภาวะโควิด-19 รายได้ส่วนนี้คงหดหายไปเพราะบุตรเองก็แทบเอาตัวไม่รอด มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 6 ที่มีสามารถมีเงินบำเหน็จ/บำนาญ ส่วนการประกันสังคม มาตรา 33 นั้น อายุเกิน 60 ปี เขาไม่รับประกันอยู่แล้ว

ถ้าไม่นับผู้มีอาชีพเกษตรกร แรงงานผู้สูงอายุที่มีอาชีพอื่นๆล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ สถานประกอบการ มาตรการเคอร์ฟิวและการปิดจังหวัด ฯลฯ ทั้นั้น เข้าใจว่าแรงงานผู้สูงอายุ (ยกเว้นแรงงานภาคเกษตรซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้รับการเยียวยาอย่างไรและเพียงใด) มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจากรัฐทั้งนั้น แต่ในทางปฏิบัติการเยียวยาอาจไปไม่ถึงแรงงานผู้สูงอายุ เพราะไม่ได้รับข้อมูล ไม่ทราบวิธีการลงทะเบียนอันที่ใช้ AI และไม่ถนัดในการใช้มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ตลอดจนหลายคนมีสภาพเหมือนคนชายขอบที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรหรือชุมชน ตัวอย่างที่เกิดขึ้นดังกรณีของคุณลุงขายเฉาก๊วยที่โดนหลอกใช้และเอาเงินไป และคงไม่มีใครโชคดีเท่าคุณลุงที่ว่าที่มีผู้ใจบุญส่งเงินไปช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด (17 เมษายน 2563) คณะกรรมการ 10 ปลัดกระทรวง หรือคณะกรรมการการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่งตั้งขึ้น กำลังพิจารณาให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปพิจารณาเพิ่มคือ กลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้พิการ คนชรา คนไร้บ้าน ต้องไปดูว่าได้รับผลกระทบอย่างไร

ก็เป็นเรื่องดี แต่ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตว่า การให้ความช่วยเหลือคนชราต้องแยกกันกับแรงงานผู้สูงอายุ เพราะกลุ่มหลังนี้มีฐานะเป็น “ผู้มีงานทำ” ซึ่งเข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือตามโครงการเยียวยาเดือนละ 5 พันบาท ในขณะที่กลุ่มหลังไม่ใช่ผู้มีงานทำหรือผู้อยู่ในกำลังแรงงานและอยู่ในสถานะผู้พึ่งพิง (dependents) ซึ่งเป็นคนละสถานภาพกันและมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือต่างรูปแบบกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image