เดิมพัน การเมือง ‘เรา’ จะทำ ตาม ‘สัญญา’ ขอ ‘เวลา’ ไม่นาน

เดิมพัน การเมือง ‘เรา’ จะทำ ตาม ‘สัญญา’ ขอ ‘เวลา’ ไม่นาน

พลันที่รัฐบาลยืดและต่ออายุสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” ออกไปอีก 1 เดือน “ปฏิกิริยา” ก็ปรากฏขึ้นมาอย่างกว้างขวาง

เหลือเชื่อ

คำว่า “เหลือเชื่อ” นี้อยู่บนรากฐานความเป็นจริงอย่างน้อย 2 ประการ 1 บนรากฐานที่เคยเห็นด้วยเมื่อเดือนมีนาคม

1 บนรากฐานที่มีความเชื่อมั่นในการจัดการกับ “ไวรัส”

Advertisement

ตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลงจากตัวเลข 2 หลัก ตัวเลขจำนวนคนที่ติดไวรัสแล้วรักษาหาย สามารถกลับบ้านใช้ชีวิตเป็นปกติ นั่นคือ ผลงานอย่างเด่นชัด เป็นรูปธรรม

แล้วเหตุใดจึงยังมี “ปฏิกิริยา” ไม่เห็นด้วย

คำตอบแรกมาจากความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จมิได้อยู่ที่สถานการณ์ “ฉุกเฉิน” หากแต่อยู่ที่ประสิทธิภาพและความสามารถของ “สาธารณสุข”

Advertisement

คำตอบต่อมาอยู่ที่ผล “ข้างเคียง” ของสถานการณ์ “ฉุกเฉิน”

ผลข้างเคียงในที่นี้มิใช่เรื่องที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการเที่ยวบาร์ สนุกตามผับ มิใช่เรื่องที่สนามมวย สนามกอล์ฟถูกปิด

หากแต่อยู่ที่ “งาน” หากแต่อยู่ที่ “อาชีพ”

ทำไมจึงเกิดสถานการณ์ที่ชาวบ้านเข้าแถวยาวเหยียดเป็นกิโล ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นที่ขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นที่หาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นที่นครปฐม ชลบุรี

นั่นแหละผลจากการปิดเมือง ปิดอาชีพ ปิดรายได้

ทำไมจึงเกิดสถานการณ์การชุมนุม “รายวัน” ณ บริเวณหน้ากระทรวงการคลัง จนกลายเป็นข่าวประจานออกไปทั่วโลก

นั่นแหละผลจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” อันเหลือเชื่อ

ผลข้างเคียงซึ่งส่งแรงสะเทือนถึงรายได้ ถึงเงินที่มีอยู่ในมือ ต่างหากคือความน่ากลัวอันเนื่องแต่การประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ “ฉุกเฉิน”

สถานการณ์ “ฉุกเฉิน” ที่ยังต่อเนื่องไปอีก 1 เดือน

ท่าทีของรัฐบาลนั่นแหละที่ก่อให้เกิดนัยประหวัดอันเป็นความเคยชินอย่างชนิดซ้ำซากมาตั้งแต่ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นั่นก็คือ ท่าทีในแบบ “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง”

นั่นก็คือ การขานรับอนุศาสน์นี้ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากที่เสนอผ่านมวลมหาประชาชนโดย กปปส.

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอ “เวลา” อีกไม่นาน

เพียงแต่เวลาจากที่เคยให้คำมั่นหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เปลี่ยนมาเป็นคำมั่นหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

และหลังการประกาศสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” และยืดเวลา

นั่นก็คือ ทำให้ผลงานและความสำเร็จของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉายเด่นขึ้นในท่ามกลางความเดือดร้อนอย่างหนักหนาสาหัส

“เดิมพัน” ครั้งนี้จึงอาจเป็นเดิมพัน “สุดท้าย”

ปฏิกิริยาที่เกิดเมื่อเดือนมีนาคมต่างจากปฏิกิริยาอันเกิดจากการยืดเวลาสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” ออกไปในเดือนพฤษภาคมอย่างเด่นชัด

จากความเชื่อมั่นกลายเป็น “ไม่” เชื่อมั่น

เพราะประเมินแล้วว่าสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” ในเดือนพฤษภาคม เท่ากับเป็นการยื้อและซื้อเวลาต่อลมหายใจให้กับ “อำนาจ”

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอ “เวลา” อีกไม่นาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image