การศึกษายุคโควิด-19

หากไม่มีวิกฤตโควิด-19 อีกเพียงสัปดาห์เดียว วันที่ 18 พฤษภาคม โรงเรียนก็เปิดเทอมแล้ว เด็กๆ จะได้ไปโรงเรียนตามปกติเช่นทุกปี แต่เมื่อไวรัสโคโรนามาเอาคืนมนุษย์ผู้ทำร้ายธรรมชาติ บาปเคราะห์จึงตกแก่ทุกคน ทุกฝ่าย แทนที่เด็กจะได้ไปโรงเรียนกลับต้องเลื่อนเวลาออกไปเป็น 1 กรกฎาคม

แม้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง จะปรับเปลี่ยนกำหนดการใหม่หรือไม่ ต้องรอผลการประเมินของคณะแพทย์และผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองจะตัดสินใจอย่างไร ให้เกิดสมดุล ระหว่างการป้องกันภัยจากโควิดกับการอดตายเพราะไม่มีรายได้ และอาหารมาประทังชีวิต

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าจัดการปัญหาด้านสาธารณสุขรับมือกับภัยโควิดได้ดี การจัดการเศรษฐกิจมีปัญหาแต่ก็เพราะวัฒนธรรมเอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกันของพี่น้องประชาชน ทำให้ความรุนแรงยังไม่ปะทุขึ้นนอกจากตัวเลขการฆ่าตัวตายสูงขึ้น

ภาพผู้คนไปรอเข้าคิวต่อแถวรับเงิน สิ่งของบริจาค สะท้อนความเป็นจริงของชีวิต ผู้คนวิตกปัญหาปากท้องก่อน

Advertisement

การจัดการด้านการศึกษามีความสำคัญยิ่งยวดไม่แพ้กันก็ตาม ถูกมองเป็นปัญหาระยะยาว ยังไม่มีม็อบมาชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการถามหาคำตอบจะจัดการการศึกษาแก่ลูกหลานอย่างไรในสภาวะเช่นนี้อย่างเช่นม็อบเราไม่ทิ้งกันที่หน้ากระทรวงการคลัง นับว่าโชคดีที่ไม่ต้องรับปัญหาหลายด้าน แต่หากมีขึ้นมาจริงๆ ก็ควรน่าดีใจมากกว่า เพราะแสดงว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง สังคมสนใจให้ความสำคัญกับการศึกษา อนาคตของเด็กและเยาวชน

พอดีที่คุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกแถลงการณ์ กล่าวถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนช่วงโควิด-19 กรณีที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ได้ออกแบบโดยให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ โดยเรียนรู้แบบ onsite ในพื้นที่ที่ไปโรงเรียนได้ ขณะที่พื้นที่ไม่ปลอดภัยจะเรียนรู้หลักผ่าน On AIR ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ และเรียนเสริมผ่านระบบ Online ภายใต้นโยบายหลัก เพิ่มเวลาพัก ลดการประเมินและงดกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

Advertisement

การเตรียมพร้อมในด้านระบบการเรียนรู้ทางไกลและระบบออนไลน์จะเริ่มทดสอบตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ จัดทำเป็นภาพกราฟิกถึงระบบการเรียนการสอน อ่านง่าย น่าสนใจ เผยแพร่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้รับรู้ เกิดความเข้าใจ และจูงใจให้มีส่วนร่วมช่วยเหลือดูแลการเรียนของบุตรหลาน ซึ่งคงต้องติดตามต่อไปว่าสังคมตอบรับ ปรับบทบาทของครอบครัวในด้านการศึกษาแค่ไหน

ก ารออกคำแถลงชี้แจงแนวทางปฏิบัติดังกล่าวของกระทรวงศึกษาธิการพยายามที่จะสื่อสารสาธารณะว่าหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบด้านการศึกษาทำอะไร ทำอย่างไร เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน แต่ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ครบถ้วนหรือยัง คำตอบคือ ยังไม่พอ

เพราะสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายควรได้รับรู้คือผลการปฏิบัติที่เป็นจริง การตอบรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครอง

ผลประการแรกตามกระบวนการปฏิบัติของโรงเรียน ซึ่งเริ่มต้นจากการสำรวจสภาพจริงของความพร้อมในการจัดการศึกษา Online

เมื่อได้ผลสำรวจแล้วควรเอาความจริงที่พบออกมาบอกกล่าวกับสังคม พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ผู้บริหารการศึกษา อย่างตรงไปตรงมาทันที เพื่อเป็นคำตอบร่วมกันว่าแท้จริงแล้วสังคมไทย ผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษา โดยเฉพาะครูและผู้บริหารมีความพร้อมเพียงไร

หลังจากปรากฏผลวิจัยของคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ครูไม่พร้อมสอนออนไลน์เฉียด 50%

ความจริงที่ได้จากการสำรวจอย่างเป็นระบบ การประมวลผลอย่างแม่นยำ จะเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นความต้องการช่วยเหลือของพ่อแม่ ผู้ปกครอง เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาของลูกหลานเต็มกำลังมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้เป็นภาระของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลฝ่ายเดียว

ความร่วมมือดังกล่าวยิ่งจะมีมากขึ้น หากคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถูกเน้นย้ำ ติดตามสนับสนุนโดยคำแถลงในระดับรัฐบาลที่ควรทำอย่างยิ่ง ทำนองเดียวกับการย้ำเตือนพิษภัยโควิด ผลการรับมือด้านสุขอนามัยและด้านเศรษฐกิจทุกวัน

เพื่อย้ำเตือนให้เห็นว่า แม้จะต้องเผชิญกับภัยโควิดต่อไปอีกนานเป็นปีก็ตาม รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลาน มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เพราะการศึกษาคือรากฐานและทางออกของสังคมที่แท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image