‘เจ้าสัว’ที่พึ่งของรัฐบาล : วีรพงษ์ รามางกูร

‘เจ้าสัว’ที่พึ่งของรัฐบาล

เมื่อนายกรัฐมนตรีทำจดหมายเปิดผนึกถึงเจ้าสัว มหาเศรษฐีของเมืองไทยประมาณ 20 คน เพื่อให้มาปรึกษาหารือขอคำแนะนำที่จะดำเนินนโยบาย รับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดโคโรนาไวรัส 2019 หรือที่องค์การอนามัยโลกได้ขนานนามว่าโรค “โควิด-19” และประกาศว่าโลกอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกขาลงเริ่มขึ้นเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี “ปากเสีย” ของสหรัฐอเมริกา พยายามหาเสียงโดยการโยนความผิดให้จีน ประกาศสงครามการค้ากับจีน เป็นเหตุให้ปริมาณการค้าในตลาดโลกตกลงทันที ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่าราคาสินค้าขั้นปฐม ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันและวัตถุดิบอย่างอื่นๆ เช่น โลหะ ธัญพืช อาหารสำเร็จรูป ราคาสินค้าต่างๆ ลดต่ำลง ซึ่งผู้ที่ถูกกระทบหนักที่สุดก็คือเกษตรกรชาวอเมริกันนั้นเอง แม้ว่าภาคเกษตรของอเมริกาจะได้รับการชดเชยจากภาษีอากรและ
ผู้บริโภคอเมริกัน เกษตรกรไทยก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งราคาข้าว ยางพารา อ้อยและน้ำตาล ข้าวโพด มันสำปะหลัง ราคาพากันลดลงหมด

รัฐบาลกำลังจะมีปัญหาด้านเสถียรภาพ กำลังจะถูกนักเรียนนักศึกษาเดินขบวนขับไล่ ก็เกิดภาวะโรคระบาดโคโรนาไวรัส 2019 ที่จีน เริ่มจากอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ที่ยุโรปตะวันตกเริ่มจากอิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษ และด้วยความประมาทของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศว่าคนอเมริกันถ้าไม่ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากป้องกันโรค ปรากฏว่าขณะนี้ศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 กลายเป็นสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองนิวยอร์ก และมลรัฐนิวยอร์ก และกระจายไปมลรัฐต่างๆ ทั้งชายฝั่งตะวันออกและชายฝั่งตะวันตก มลรัฐวอชิงตันและมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังควบคุมการระบาดของโรคไม่ได้ ทำให้รัฐบาลรอดตัวไปได้อย่างหวุดหวิด

เมื่อประเทศเราประกาศมาตรการคุมเข้มปิดประเทศ ปิดกิจการต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ธุรกิจต่างๆ ก็ต้องปิดกิจการ รายได้ของครัวเรือนทั้งที่เป็นเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งลูกจ้างบริษัทห้างร้านที่ต้องหยุดตามประกาศปิดกิจการ ก็ต้องเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านของฝาก รวมไปถึงสินค้าที่ระลึก เครื่องประดับ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ก็ต่างได้รับผลกระทบไปหมด

Advertisement

ปัญหาของเราจึงเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากปัญหาการส่งออกสินค้า การลดลงของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจีน สินค้าส่งออก
อย่างอื่นๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่างๆ มากมายหลายอย่าง ก็ถูกมาตรการทิ้งระยะห่างทางสังคม ต้องปิดโรงงาน ปลดแรงงาน ลดการผลิตลง เพราะความต้องการลดลงทั้งการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ

เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมืองกับต่างประเทศ ตามปกติธรรมดาในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ก็ชอบที่รัฐบาลจะเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนของประชาชน ซึ่งจะได้ข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ด้านที่สำคัญคือจากประชาชนเป็นการทั่วไป จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากเจ้าของธุรกิจทุกสาขาอาชีพและองค์กรเอกชน เช่น สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้แทนของตนอยู่ในวุฒิสภาอยู่แล้ว

การทำจดหมายเปิดผนึกนั้นมักจะเป็นกรณีของผู้ที่ไม่มีตำแหน่งแห่งที่อันใด ทำหนังสือถึงผู้นำรัฐบาล หรือองค์กรภาครัฐ หรือเอกชนอย่างเปิดเผย เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นการทั่วไป ผู้นำรัฐบาลก็ดี ประธานรัฐสภาก็ดี ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ถ้าต้องการแสดงความคิดเห็นของตนก็ทำได้อย่างเป็นทางการอยู่แล้ว ไม่ต้องทำเป็นจดหมายเปิดผนึก

Advertisement

ห ลายเรื่องที่นโยบายของรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลาย เพราะเหตุผลที่ตอบได้ยาก บางครั้งก็เป็นการเปลี่ยนนโยบาย เช่น กรณีการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยอมเสียหลักการในการเป็นแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ในการเพิ่มปริมาณเงิน หรือ Lender of the Last Resort นั้นไม่ใช่แหล่งเงินแหล่งสุดท้ายของบริษัทเอกชน ก็แก้ไขด้วยวิธีเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปจนเอกชนเองก็คงจะไม่แน่ใจว่าควรจะรับความอนุเคราะห์เงินจากธนาคารกลางมาพยุงตราสารหนี้ของตนหรือไม่ แต่การออกพระราชกำหนดแก้ไข พ.ร.บ.ก็เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการไปเสียแล้ว

เมื่อมีผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กรณีการทำหนังสือถึงเจ้าสัว มหาเศรษฐีของเมืองไทย ทีแรกก็นึกว่าคงจะเชิญเจ้าสัวทั้ง 20 รายมาขอเงิน หรือขอบริจาคเงินให้รัฐบาล เพราะมีข่าวที่ผู้นำรัฐบาลมักจะประกาศว่า “จะเอาเงินมาจากที่ไหน” ให้ได้ยินบ่อยๆ ก็เลยนึกว่ารัฐบาลจะเรียกเจ้าสัวมาขอเงิน จนสื่อมวลชนเรียกว่าเป็นรัฐบาลขอทาน จึงได้เปลี่ยนใหม่เป็นขอให้มาลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การวิพากษ์วิจารณ์เกินเลยไปถึงว่ารัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหารที่ปกครองประเทศมากกว่า 6 ปี ที่น่าจะได้เปลี่ยนประเทศจากประเทศกำลังจะพัฒนา ให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต่อจากประเทศมาเลเซีย เพียงแต่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง กำลังจะก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว สัดส่วนของการส่งออกสินค้าและบริการต่อรายได้ประชาชาติก็มีกว่าร้อยละ 70 เป็นโครงสร้างของประเทศนิกส์ หรือ NIC’s หรือ NIE’s ถ้าไม่นับว่าฮ่องกงเป็นประเทศ เพราะเป็นเพียงเขตเศรษฐกิจอิสระภายใต้อธิปไตยของสาธารณรัฐประชาชนจีน

แต่เมื่อออกมาว่าจะขอให้เจ้าสัวทั้ง 20 ตระกูล ได้ทำหรือลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา เพื่อสร้างงานให้กับแรงงานที่กำลังจะถูกปลดออกจากงาน
ก็กลายเป็นข่าวดี คลายความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชนไป กลบข่าวคนจำนวนหนึ่งมาเรียกร้องเงินช่วยเหลือผู้ที่ต้องออกจากงานเพราะมาตรการปิดเมือง ป้องกันโรคไข้หวัดโคโรนาไวรัส 2019

บั ดนี้ปัญหาจึงมาอยู่ในมือเจ้าสัวทั้งหลายที่มีชื่ออยู่ในวารสารฟรอบส์ ที่ได้รับการเปิดเผยว่าจะดำเนินการสร้างโครงการหรือจะลงทุนในโครงการใดบ้าง ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและจะเป็นการเพิ่มการจ้างงานหรือลดการว่างงาน อันเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวและกำลังจะพัฒนาไปเป็นภาวะเศรษฐกิจซบเซา และเป็นภาวะเงินฝืดในที่สุด

ในยามนี้เมื่อมองไปข้างหน้า ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ ลำพังเจ้าสัวซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจต่างๆ ทั้งที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การเดินทาง โรงแรมรีสอร์ต ธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกเนื้อสัตว์ หรือธุรกิจอาหารที่ต่อเนื่องจากเนื้อสัตว์ การส่งออกไข่ไก่ รัฐบาลกลัวคนไทยจะอดอาหาร หรือมีอาหารแต่ราคาแพง จึงออกมาตรการห้ามส่งออกไข่ไก่เพื่อใช้ควบคุมราคาอาหาร ทันทีที่ออกมาตรการควบคุมราคา สินค้าก็หายไปจากตลาด เกิดการขาดแคลนขึ้นมาจริงๆ ก็เป็นปัญหา

นโยบายราคานั้นแปลก ยิ่งควบคุมราคา ยิ่งต้องการคุ้มครองผู้บริโภคเท่าไหร่ ผู้บริโภคก็มักจะเดือดร้อนเท่านั้น ยิ่งกลัวผู้ผลิตจะได้กำไรเท่าไหร่ ผู้ผลิตก็ยิ่งได้กำไรมากกว่าปกติเท่านั้น ยิ่งมีมาตรการควบคุมเท่าไหร่ ข้าราชการและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ก็ยิ่งมีอำนาจแทรกแซงราคามากขึ้นเพียงนั้น ถ้าปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเสรี อำนาจของรัฐมนตรีและข้าราชการก็น้อยลงเพียงนั้น จนไม่มีอำนาจอะไรเลย นอกจากจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

ถ้าไม่อยากให้เจ้าสัวกักตุนขึ้นราคาสินค้าก็อย่าไปยุ่งอะไรกับเขา ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี ส่งออกนำเข้าอย่างเสรี ไม่ต้องไปนำร่องอะไรเขาหรอก ถ้าจะให้เขาลงทุนสร้างงานก็จัดการกติกาให้เกิดขึ้น เพื่อการแข่งขันที่สร้างโครงการที่เป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว ดูแลรักษากติกาให้ความเป็นธรรมกับผู้เข้าแข่งขันทุกฝ่าย

ใ นประเทศที่ตลาดเล็กอย่างประเทศไทย ที่ต้องอาศัยการส่งออกการนำเข้าวัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องจักร ไม่มีใครผูกขาดอะไรได้แม้จะมีเพียงรายเดียว เพราะต้องแข่งขันกับรายอื่นในประชาคมอาเซียน และในประชาคมโลกที่ประเทศเราเป็นสมาชิก ไม่ต้องกลัวว่าจะมีการผูกขาด การผูกขาดมักจะเกิดจากมาตรการของรัฐที่เข้าไปแทรกแซงตลาด

เพียงแต่ช่วยเหลืออย่าให้ใครในต่างประเทศมากลั่นแกล้งเอาเปรียบ ละเมิดกฎองค์การการค้าโลก ละเมิดกฎประชาคมอาเซียนและอื่นๆ อันไม่เป็นธรรมกับเจ้าสัวของเราก็พอแล้ว อย่างอื่นไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ไม่ต้องเชิญเขามาหาให้เสียรังวัดเปล่าๆ ไม่งั้นก็ต้องเชิญชาวไร่ชาวนาและผู้ใช้แรงงานมาขอความร่วมมือด้วยจึงจะเป็นธรรม

เราคงได้เห็นสิ่งดีๆ จากเจ้าสัวของไทยเราในยามเศรษฐกิจอย่างนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image