พระพุทธรูปปางพยาบาล : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ที่วัดสุทธาราม กรุงเทพมหานคร

รองศาสตราจารย์สงวน รอดบุญ ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับพุทธศิลป์ว่า

“พุทธศิลป์ คือ ศิลปกรรมที่สร้างขึ้นรับใช้พระพุทธศาสนาโดยตรง ทั้งในด้านจิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรมในลัทธิมหายานและเถรวาท”

ผู้เขียนเป็นคนชื่นชอบในพุทธศิลป์มานานนักหนาโดยเฉพาะพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานตามโบสถ์ วิหารต่างๆ ตามวัดวาอารามทั่วไปเพื่อเป็นศิลปะวิจักษณ์ จึงมีงานอดิเรกในการไปไหว้ กราบพระพุทธรูปตามที่ต่างๆ รวมทั้งพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่กลางแจ้งด้วยแบบว่าไปนั่งชื่นชมดื่มด่ำกับความงามของพระพุทธรูปองค์โตๆ ตามวัดต่างๆ เป็นงานอดิเรก

Advertisement

ที่วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา

วันนี้ขณะที่นั่งทำงานและท่องอินเตอร์เน็ตไปด้วยก็ได้เห็นรูปภาพของพระพุทธรูปแบบสุโขทัยประทับยืนอุ้มพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งดูตัวเล็กเกินไปไม่สมส่วนซึ่งหาคำอธิบายไม่ได้จนต้องค้นหาในอินเตอร์เน็ตเป็นการใหญ่กว่าจะพบคำอธิบายในบทความของวารสาร The Cloud เขียนโดย
คุณธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล ว่าเป็นพระพุทธรูป
ปางพยาบาล

เนื่องจากพระพุทธรูปเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกนั้นเป็นฝีมือของช่างแห่งแคว้นคันธาระเมื่อประมาณ พ.ศ.370 ที่ได้รับอิทธิพลมาจากกรีซโดย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้รุกรานเข้ามาถึงอินเดียและได้มีชาวกรีกปกครองดินแดนบางส่วนของอินเดียซึ่งชาวกรีกเดิมนั้นนับถือเทพเจ้าหลายต่อหลายองค์จึงได้สร้างรูปเคารพเป็นเทพเจ้าไว้เคารพบูชา ครั้นเมื่อหันมานับถือศาสนาพุทธก็เลยสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา (เดิมทีอินเดียไม่มีการสร้างพระพุทธรูปในรูปของมนุษย์แต่จะมีการสร้างเจดีย์หรือสัญลักษณ์เช่น ธรรมจักร กวาง พระแท่นหรือต้นโพธิ์เท่านั้น) สมัยคันธาระนี้จะสร้างพระพุทธรูป มีอยู่ 9 ปางด้วยกัน คือ ปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา ปางอุ้มบาตร ปางประทานพร ปางประทานอภัย ปางลีลา ปางมหาปาฏิหาริย์ และปางปรินิพพาน ครั้นพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่มายังประเทศไทยก็ได้มีการพัฒนาพระพุทธรูปปางใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงประดิษฐ์พระพุทธรูปขึ้นมา 40 ปาง ตามพุทธประวัติตอนต่างๆ แต่ก็ไม่มีปางพยาบาล

Advertisement

จนกระทั่งต่อมา คุณเทพพร มังธานี ได้รวบรวมเป็นหนังสือเรื่อง “พุทธประวัติฉบับพระพุทธรูป 80 ปาง” โดยมีปางพยาบาลนี้เป็นปางลำดับที่ 51 ซึ่งหนังสือเล่มนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่กล่าวถึงพระพุทธรูปปางนี้ พร้อมกับภาพประกอบแสดงลักษณะของพระพุทธรูป
ปางนี้ด้วย คือ

พระพุทธรูปปางพยาบาลนี้สร้างขึ้นโดยอ้างอิงพุทธประวัติตอนหนึ่ง อ้างถึงพระภิกษุรูปหนึ่งป่วยเป็นโรคท้องร่วง เมื่อพระพุทธเจ้าทราบว่าไม่มีผู้ใดพยาบาลภิกษุรูปนี้ พระพุทธองค์จึงตรัส
ให้พระอานนท์ไปตักน้ำมา เมื่อนำน้ำมาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงประคองภิกษุรูปนั้นทางศีรษะแล้วทำความสะอาดร่างกายภิกษุผู้อาพาธโดยมีพระอานนท์คอยช่วยเหลือ เมื่อเรียบร้อยแล้ว พระพุทธองค์ทรงสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์และได้สอบถามภิกษุทั้งหลายถึงสาเหตุที่ไม่มีผู้ใดพยาบาลภิกษุ
รูปนี้ จนได้คำตอบว่าเพราะพระภิกษุรูปนั้นไม่เคยอุปการะดูแลใครมาก่อนเลย จึงไม่มีใครช่วยพยาบาลภิกษุรูปนี้

ที่วัดกระทุ่มเสือปลา กรุงเทพมหานคร

พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติเป็นพระวินัยว่าหากพระภิกษุด้วยกันไม่ช่วยกันดูแลรักษาพยาบาลซึ่งกันและกันแล้วให้ถือว่าต้องอาบัติทุกกฎพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธเท่าที่คุณ ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล แจ้งไว้ว่า มีอยู่ 5 วัด และมีอยู่ที่โรงพยาบาล สถานปฏิบัติธรรมบางแห่งเท่านั้น โดยรูปแบบของพระพุทธรูปปางนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 อิริยาบถ ได้แก่ อิริยาบถยืนและอิริยาบถนั่ง พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธในอิริยาบถยืนนั้นพบอยู่เพียงวัดเดียว คือที่วัด
เสนาสนารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหรือรูปพระพุทธรูปที่ผู้เขียนบังเอิญเจอเข้าในอินเตอร์เน็ตนั่นเอง

พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธในอิริยาบถนั่งนั้นพบในอีก 4 วัด คือที่วัดสุทธาราม กรุงเทพมหานคร วัดกระทุ่มเสือปลา กรุงเทพมหานคร วัดขนอนเหนือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และที่วัดน้ำริดเหนือ จังหวัดอุตรดิตถ์ โปรดดูตามรูปบางรูปต่อไปนี้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image