การเลือกตั้ง 2020 : การเมืองพม่าในยุคหลังโควิด-19 : โดย ลลิตา หาญวงษ์

การเลือกตั้ง 2020 : การเมืองพม่าในยุคหลังโควิด-19 : โดย ลลิตา หาญวงษ์

พม่ากำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปีนี้ คาดการณ์กันว่าน่าจะอยู่ในเดือนพฤศจิกายน ไล่เลี่ยกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกา หากสถานการณ์หลังยุคโรคโควิด-19 ระบาดดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ การเลือกตั้งของพม่าจะเกิดขึ้นระหว่างการบูรณะฟื้นฟูประเทศ และงบประมาณแผ่นดินที่จำกัด หลังรัฐบาลเพิ่งออกแผนการผ่อนปรนทางเศรษฐกิจ1 งบประมาณ 100,000 ล้านจ๊าตออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจภายในประเทศและของเศรษฐกิจทั่วโลกส่งผลกระทบต่อรัฐบาลพลเรือนพม่า นับตั้งแต่รัฐบาลภายในการนำของพรรค NLD และด่อ ออง ซาน ซูจีเข้ามาบริหารประเทศในปี 2015 วาระหลักของรัฐบาลคือการสร้างความปรองดองในชาติ แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้ ประชุมสันติภาพปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 ก็ถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง จากที่มีแผนว่าจะจัดทุก 6 เดือน (ครั้งล่าสุดจัดตั้งแต่กลางปี 2018) และเลื่อนมาเป็นเดือนเมษายน 2020 แต่ก็ต้องเลื่อนออกไปอีกครั้งจากการระบาดของโควิด-19

เมื่อครั้งมีการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปี 2015 พรรค NLD ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย หลายฝ่ายมีความหวังว่าการเข้ามาของรัฐบาล NLD จะช่วยให้ความตึงเครียดระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย (Ethnic Armed Organizations-EAOs) บรรเทาเบาบางไปได้บ้าง แต่เมื่อ NLD เข้ามารับตำแหน่งจริงแล้ว ก็ปรากฏว่าการสร้างสันติภาพภายในชาติที่ยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทั้งพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กลุ่มชาติพันธุ์พยายามเรียกร้องให้พม่ากระจายอำนาจ มอบอำนาจให้พวกเขาดูแลกิจการภายในของตนเองได้มากขึ้น

แต่ผู้นำประเทศอย่างออง ซาน ซูจีนั้นไม่ใช่ตัวแปรที่จะสามารถฟันธงและกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชนกลุ่มน้อยได้ กองทัพคือตัวแปรทั้งหมดที่มีอิทธิพลต่อการเจรจาสันติภาพ และการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยทั้งหมด

แต่เมื่อรัฐบาลพลเรือนก็มีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีนักกับกองทัพ ประกอบกับวิกฤตการณ์โรฮีนจาที่เป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับรัฐบาล NLD มาเนิ่นนาน โอกาสที่สถานการณ์ภายในประเทศจะเป็นปกติทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งในปลายปีนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย

Advertisement

ในด้านเศรษฐกิจ นักธุรกิจที่เป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ หรือ “โครนี่” (crony) เป็นกลุ่มบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังกองทัพพม่ามาเนิ่นนาน และแม้นเมื่อ NLD เข้ามากุมบังเหียนในรัฐบาลแล้ว โครนี่เหล่านี่ก็ยังพยายามทอดสะพานสานสัมพันธ์กับรัฐบาล NLD สถานะทางการเงินที่ไม่สู้ดีนักของรัฐบาลทำให้ NLD (และตัวพรรค NLD เอง) ต้องเปิดรับบริจาคจากบรรดา “เจ้าสัว” พม่า ก่อนการเลือกตั้งในปี 2015 พรรค NLD จัดงานคอนเสิร์ตและงานเลี้ยงโต๊ะจีนระดมทุน และได้เงิน 211.5 ล้านจ๊าต (ราว 5 ล้านบาท) มาจากนักธุรกิจที่ถูกทางการสหรัฐขึ้นบัญชีดำ นโยบายฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด-19 ที่รัฐบาล NLD ออกมาเน้นให้การช่วยเหลือธุรกิจในทุกระดับ แต่ที่ถูกละเลยไปมากคือการฟื้นฟูความมั่นใจของนักลงทุน และดึงนักลงทุนใหม่ๆ เข้ามา แต่เนื่องจากความไม่สงบภายในประเทศ การสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เม็ดเงินลงทุนโครงการใหญ่ๆ ในอนาคตเป็นไปได้ยากขึ้น เมื่อประกอบกับประเทศที่เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในพม่า ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย ล้วนได้รับผลกระทบจากโรคระบาดทั้งสิ้น ประเทศที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศอย่างพม่าจึงตกอยู่ในภาวะลำบาก เพราะเท่ากับการจ้างงานจะน้อยลง และการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานก็จะน้อยลงไปด้วย

แม้โควิด-19 จะไม่ได้ส่งผลกระทบกับสุขภาวะของประชาชนในพม่ามากนัก เพราะยังมีผู้ติดเชื้อน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กำลังจะตามมาจะสร้างแรงกระเพื่อมมากกว่าโรคโควิด-19 อย่างแน่นอน ถึงกระนั้น เป็นที่คาดการณ์ว่า NLD ก็จะชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปี 2020 แบบทิ้งห่างคู่แข่งเหมือนกับการเลือกตั้งปี 2015 แต่สิ่งที่น่ากังวลคือจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ และจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเพียงใด ความต้องการของพรรค NLD คือรักษาเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไว้ให้ได้ แม้จะมีอุปสรรคสำคัญคือโควต้าของกองทัพ คิดเป็น 1 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งทำให้ NLD ไม่สามารถผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญได้

เนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญในพม่าต้องการเสียงโหวต 2 ใน 3 ทั้งหมดในรัฐสภา

Advertisement

ผู้เขียนมองว่าหากพรรค NLD ได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากอีกครั้ง การเมืองพม่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็จะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก เพราะนักการเมืองในพรรคยังเป็นนักการเมืองแบบเก่า จำนวนหนึ่งเคยเป็นนักโทษการเมือง และมีทัศนคติต่อประชาธิปไตยแบบเก่า ทำให้บ่อยครั้งนโยบายของพรรคที่ว่ากันว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตยเต็มตัวมีกลิ่นอายของนโยบายชาตินิยมแบบขวาจัดที่พยายามรักษาสถานะทางอำนาจของคนพม่าพุทธ และผลักชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ออกไปเป็นบุคคลชายขอบ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าทัศนคติที่ปิดกั้นฝ่ายก้าวหน้านี้เป็นเรื่องของวัยวุฒิของสมาชิกในพรรค NLD ด้วยหรือไม่ เพราะผู้บริหารพรรคส่วนใหญ่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ หากแต่เป็นนักการเมืองในวัยหลังเกษียณเกือบทั้งหมด สำหรับการแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อย ควรกล่าวด้วยว่าในบรรดา “ชนกลุ่มน้อย” เอง ก็มีความ “น้อย” แตกต่างกันไป มีทั้งกลุ่มกองกำลังที่เข้มแข็ง มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย มีประวัติความเป็นมาหลายสิบปี และแน่นอนว่ามีพลังการต่อรอง สามารถพูดคุยกับคนในรัฐบาลได้ ในขณะเดียวกันก็มีกองกำลังขนาดเล็กอื่นๆ ที่ก่อตั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มหลังนี่แหละที่รัฐบาลพม่ามองว่าเป็นอุปสรรคหลักของกระบวนการสมานฉันท์ภายในชาติ กลุ่มที่ต้องจับตามมองเป็นพิเศษคือกองทัพอาระกัน (Arakan Army) และกองกำลัง TNLA ของตะอาง ในรัฐฉานตอนเหนือ

ชัยชนะแบบขาดลอยของ NLD ที่เราจะได้เห็นอีกครั้งในการเลือกตั้งปลายปีนี้ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่า NLD จะสามารถสานต่อนโยบายปรองดองภายในชาติ และการฟื้นฟูทางการเมืองเพื่อมุ่งหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มตัวได้ แน่นอน วาระใหญ่ที่สุดของ NLD ในปีหน้ายังเป็นการปฏิรูปทางการเมือง ตั้งแต่การแก้รัฐธรรมนูญ (ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย) และการร่วมเจรจาในการเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยทั้งกลุ่มใหญ่และกลุ่มเล็ก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจที่รอคอยการเยียวยารักษาอีกหลายด้าน ทำให้ในปลายปีนี้จนถึงปีหน้า จะเป็นปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับพม่า และ NLD

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image