รอยปริร้าวอินโดจีนกับเหตุพิพาททะเลจีนใต้

เมื่อคำวินิจฉัยของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะข้อพิพาทเรื่องการกำหนดพื้นที่เขตแดนทางทะเลในเขตทะเลจีนใต้ และประกาศว่าจีนไม่มีสิทธิขีดเส้นเขตแดนล้ำพื้นที่ทางทะเล รวมถึงการถมทะเลและสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรบนโขดหินและเกาะต่างๆ นั้นเป็นการกระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศจีนก็ได้ออกแถลงการณ์โต้ตอบไม่ยอมรับอำนาจของศาลอนุญาโตตุลาการในทันที และความสัมพันธ์ในชาติอาเซียนเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้ก็ขมึงเกลียวเครียดขึ้นทันตาเห็นเช่นกัน

ปัญหาเรื่องทะเลจีนใต้เป็นปัญหาความมั่นคงที่ชาติอาเซียนพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมาเป็นเวลานาน เนื่องจากแต่ละชาติล้วนอ้างสิทธิไม่ว่าจะเป็นเขตน่านน้ำ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ 200 ไมล์ทะเลบนพื้นที่ทะเลจีนใต้ดังกล่าว ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย หรือบรูไน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลี รวมถึงแนวกองหินสการ์โบโรห์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งเขตประมง และสันนิษฐานกันว่ามีทรัพยากรปิโตรเลียมใต้สมุทรที่อุดมสมบูรณ์

เรื่องราวยิ่งยุ่งยากมากขึ้น เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ต่างก็ประสานเสียงกันอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้หลักฐานการเดินเรือยุคโบราณว่าจีนได้ทำประโยชน์ในพื้นที่และเกาะหินเหล่านี้มายาวนาน โดยลากเส้นประ 9 เส้น ครอบคลุมพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ซึ่งทำให้ประเทศอาเซียนติดทะเลที่อ้างเขตดังกล่าวไม่สามารถยอมรับได้ และทำการประท้วงรวมถึงใช้มาตรการทางกฎหมายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

หากแต่จีนได้เข้าไปโน้มน้าวประเทศอาเซียนที่ไม่มีส่วนได้เสียกับเขตพื้นที่ดังกล่าวด้วยวิธีการทั้งทางการทูตและเศรษฐกิจ เพื่อให้หันมาเข้าข้างหรือเห็นด้วยกับจีน รอยปริร้าวของความสัมพันธ์ชาติอาเซียนจึงปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมร่วมอาเซียน-จีน ทั้งที่อินโดนีเซีย และที่คุนหมิง ซึ่งการแถลงร่วมของอาเซียนเกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้ถูกระงับกะทันหัน ผู้แทนของจีนแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงในทันทีที่มีการอภิปรายพาดพิงเรื่องนี้

Advertisement

ในอีกทางหนึ่ง จีนก็ระดมเงินทุนสนับสนุนและเพิ่มโครงการต่างๆ ในประเทศที่คิดว่าสามารถจะมาหนุนความคิดเห็นของจีนในปัญหาทะเลจีนใต้ทันที เช่น เพิ่มการลงทุนใน สปป.ลาว และกัมพูชา มูลค่ารวมกว่า 4 พันล้านเหรียญ สัญญาจะให้เงินสนับสนุนแบบให้เปล่าเพื่อการพัฒนามากกว่า 700 ล้านเหรียญ รวมถึงการเจรจาต่อเนื่องกับไทยเพื่อคานอำนาจการรุกเข้ามาปักหมุดในเวียดนามเพื่อยุทธศาสตร์ทะเลจีนใต้ของสหรัฐอเมริกา

แต่การรุกอย่างหนักหน่วงของจีนนี้เอง ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของชาติอินโดจีน ลาว กัมพูชา และเวียดนามที่เคยสนิทสนมเป็นเนื้อเดียวกันต้องมาถึงทางแยก

ลาวยุคใหม่นั้นหวาดระแวงทั้งจีนและเวียดนาม แต่เมื่อจีนมีข้อเสนอและเงินทุนมหาศาลมาจ่ออยู่ตรงหน้า ก็ไม่แปลกที่จะเริ่มเอนเอียงไปหนุนจีนมากกว่า ดังปรากฏล่าสุดว่า ฯพณฯ ทองลุน สีสุลิด ในฐานะประธานอาเซียนคนปัจจุบัน ออกแถลงการณ์รับรองความเห็นของจีนที่ไม่ยอมรับคำตัดสินกรณีพิพาททะเลจีนใต้กับฟิลิปปินส์ ในการเจรจาแบบทวิภาคีกลางการประชุมอาเซมที่มองโกเลีย ส่วนรัฐบาลฮุนเซนนั้น ถือผลประโยชน์ของตนเป็นหลักเสมอ ไม่น่าแปลกใจที่กัมพูชาภายใต้การนำของฮุนเซนจะไปเข้าข้างจีนที่มีการลงทุนมหาศาลรออยู่

Advertisement

ในยุคหลังสงครามปลดแอกและต่อต้านจักรพรรดินิยมผ่านมานานกว่าสี่สิบปี นักรบและนักปฏิวัติล้มหายตายจาก ความแค้นครั้งเก่าจืดจาง ไมตรีพี่น้องแต่ปางหลังก็เลือนรางลงไปด้วย ความสัมพันธ์ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม เริ่มเห็นรอยร้าว และยิ่งแตกแยกมากขึ้นจากปัญหาทะเลจีนใต้และการกดดันของจีนแผ่นดินใหญ่ จะเป็นการปรับสมดุลครั้งใหม่และครั้งใหญ่ของความสัมพันธ์ชาติอินโดจีนอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image