โลกสองวัย : หยุดเหล้าเข้าพรรษา

เทเหล้า เข้าพรรษา สกลนคร

เมื่อมีวันอาสาฬหบูชา วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือวันที่บูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันนั้น คือ

1.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา

2.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา

3.เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์รูปแรก คือท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน

Advertisement

4.มีพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา คือการที่โกณฑัญญะขอบรรพชาเป็นพระภิกษุหลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว

5.เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ปฐมสาวก ซึ่งบรรลุธรรมและบวชเป็นภิกษุ

บางครั้งเรียกวันนี้ว่า “วันพระสงฆ์” จากนั้นจึงมีพระสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ และออกจาริกโปรดสัตว์ เผยแผ่พระธรรมสั่งสอนประชาชน ไม่ประจำที่ใดที่หนึ่ง ไม่มีฤดูกาล แม้ในฤดูฝนยังออกจาริกออกไปท้องไร่ท้องนา ชาวบ้านจึงตำหนิว่าเหยียบย่ำข้าวกล้าและพืชจนเสียหาย

Advertisement

เมื่อทราบถึงพระพุทธเจ้า ท่านจึงวางระเบียบการจำพรรษาให้ภิกษุอยู่ประจำที่ 3 เดือนในฤดูฝน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หากปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ให้เลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

ทั้งนี้ หากมีกิจจำเป็นไม่สามารถเดินทางกลับได้ในคืนเดียว ก็ทรงอนุญาตให้แรมคืนได้คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกว่านั้นถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษานั้น จัดว่าพรรษาขาด

ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา ภิกษุนั้นเข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองพอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่หากไม่ทันให้พึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรมได้

ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากจึงช่วยกันปลูกเพิงเพื่อให้ได้อาศัยพักฝนรวมกันหลายรูป ที่พักดังกล่าวเรียกว่า “วิหาร” แปลว่าที่อยู่ของสงฆ์ เมื่อครบกำหนดแล้วจึงออกจาริกตามกิจของท่านต่อไป ครั้นถึงหน้าฝน ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่มีบางรูปอยู่ประจำก็มี บางทีเศรษฐีจิตศรัทธาเลื่อมใสก็เลือกหาสถานที่สงบไม่ไกลจากชุมชน สร้างที่พักเรียกว่า “อาราม” ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นทุกวันนี้

เข้าพรรษา แปลว่า “พักฝน” เมื่อพระสงฆ์ต้องอยู่ประจำพรรษา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงนำเครื่องอัฐบริขารไปถวาย ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และใบมีดโกน

ส่วนผ้าที่ทายกถวายแก่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบแล้วในวัดนั้น เรียกว่า “ผ้าวัสสาวาสิกสาฏิกา”

ผ้าที่ถวายพระสงฆ์ระหว่างจำพรรษาอีกอย่างหนึ่ง คือผ้าอาบน้ำฝน เป็นผ้าที่อธิษฐานไว้ใช้นุ่งอาบน้ำฝนตลอดพรรษา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผ้าวัสสิกฏิกา”

เพราะเหตุที่ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม คือเดือน 8 ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ต่อจากวันอาสาฬหบูชา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 แต่ไม่ใช่ในปีเดียวกัน หลังจากนั้นเมื่อนับวันเข้าพรรษาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทั้งสองวันจึงเป็นวันสำคัญเช่นเดียวกัน คือวันที่ก่อเกิดพระสงฆ์ กับวันที่พระพุทธเจ้าวางระเบียบให้เป็นวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนจึงใช้โอกาสทั้งสองวันนี้ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล และเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา และสวดมนต์ ทั้งควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตัวเองว่า ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด

หรือเรายังดำเนินชีวิตอย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด

ส่วนวันเข้าพรรษา ตักบาตรเช้า ถวายภัตตาหารเพล ช่วงเย็น ปวารณาพรรษา เข้าวัดไปอยู่วัดในช่วงนี้สักสองสามวัน จากนั้นอาจจะอธิษฐานละเลิกอบายมุข เช่น หยุดสูบบุหรี่ หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปวารณาตัวเองถือศีล 5 หรือศีล 8 หรือศีล 10 ตลอดพรรษา

ห้วงนี้มีการรณรงค์ “หยุดเหล้าเข้าพรรษา” มีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้หลายปี บางคนถึงที่สุด เลิกทั้งบุหรี่ เลิกทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เด็ดขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image