ทางสองแพร่ง เสรีภาพ-สุขภาพ : สมหมาย ปาริจฉัตต์

ทางสองแพร่ง เสรีภาพ-สุขภาพ

และแล้วสังคมไทยก็เดินทางมาถึงทางสองแพร่งที่จะต้องเลือกทางใดทางหนึ่งระหว่างความตายกับความอยู่รอด อีกครั้ง

ตายเพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดใหม่ระลอกที่สอง กับ ตายเพราะคิดสั้น ขาดรายได้ ขาดอาหาร ฆ่าตัวตาย ฯ

ระหว่างเชื้อโรคระบาด กับ อาหาร จะเลือกอะไรก่อนดี เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิตทั้งคู่

วันที่ 18 พฤษภาคม วันแห่งการรอคอยการตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้กิจการธุรกิจการค้าพาณิชย์ขนาดใหญ่ ศูนย์ประชุมสัมมนา การรวมกลุ่มชุมนุมผู้คนจำนวนมาก การเดินทางไปมาระหว่างจังหวัด ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติใหม่ ซึ่งต้องแลกด้วยความเสี่ยงใหม่ด้วยเช่นกัน

Advertisement

ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่คนตัดสินใจคลี่คลายมาตรการล็อกดาวน์แค่นั้น แต่อยู่ที่กระบวนการตัดสินใจอย่างไร ถึงจะเกิดการมีส่วนร่วม เกิดการยอมรับอย่างกว้างขวาง

จะทำให้เกิดความสมดุล ความพอดีระหว่างเสรีภาพกับสุขภาพตรงจุดไหน ชั่งน้ำหนักระหว่างสุขภาพอนามัย กับ เศรษฐกิจและสังคมอย่างไร

เสรีภาพมีหลายมิติ เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการรวมกลุ่มชุมนุม เสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น ไม่ว่าส่งเสริม สนับสนุน หรือวิพากษ์วิจารณ์ท้วงติง

สุขภาพกับเสรีภาพ จึงต้องไปด้วยกันทั้งคู่ มีเสรีภาพแต่สุขภาพไปไม่ไหวก็ไม่มีความหมาย สุขภาพดีแต่ไร้เสรีภาพก็ไร้ความหมายเช่นกัน

การลดระดับข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรทำแค่ไหน เพื่อแลกกับความอยู่รอดปลอดภัยจากเชื้อโรคร้ายอุบัติใหม่

คำเตือนด้วยความหวังดีของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ว่า การแพร่ระบาดระลอกที่สองหากเกิดขึ้นจะรุนแรง วิกฤตยิ่งกว่าระลอกแรก เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรตระหนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการปฏิบัติส่วนบุคคลและครอบครัว อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างกัน 1-2 เมตร กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยสกัดการแพร่ระบาด หากเกิดอีกก็อยู่ในการควบคุมได้ดีอย่างระลอกแรกที่ผ่านมา เพราะทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ระมัดระวังตัวเอง

บางท่านบอกว่า อย่าวิตกจริตจนเกินเหตุ สถานการณ์และพฤติกรรมของคนไทยแตกต่างจากอเมริกา ยุโรป คนไทยการ์ดสูงกว่า ว่างั้นเถอะ

กระนั้นก็ตามการคลี่คลายมาตรการล็อกดาวน์ ต้องฟังแพทย์ นักรบเสื้อกาวน์ ผู้เสี่ยงภัยกลุ่มแรก ให้มากยิ่งกว่าเดิม

เ สรีภาพที่กำลังจะกลับคืนมาแน่นอน คือ เวทีการประชุมสภาผูัแทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภาจะเปิดเป็นทางการอีกครั้งวันที่ 22 พฤษภาคม

จะเป็นเวทีที่ทำให้เกิดข้อเสนอมาตรการดีๆ เพื่อสู้รบกับเชื้อไวรัสโควิดได้ดีขึ้น ทำให้ผู้คนมีทางออกในการดำเนินชีวิตปลอดภัยภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม ที่กำลังทรุดหนักลงเรื่อยๆ

หรือกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด สมาชิกผู้ทรงเกรียติ ล้วนเป็นผู้อาวุโส วัยใกล้สนธยาจำนวนมาก

จึงน่าห่วงไม่น้อยกว่าการเปิดโรงเรียนที่จะมาถึงวันที่ 1 กรกฎาคม เพราะธรรมชาติของเด็กตรงข้ามกับการเว้นระยะห่าง ควบคุมได้ยาก

สภามีไว้เพื่อการพูด ก็ทำนองเดียวกัน เมื่อเวที ปี่กลองทางการเมืองดังขึ้นอีกครั้ง พร้อมๆ กับเปิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ วิกฤตทางสุขอนามัยจะถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมือง จนสั่นคลอนเสถียรภาพฝ่ายบริหารและรัฐสภาถึงระดับไหน

ไปต่อฉลุย หรือ จอดกลางทางเสียก่อน ด้วยมฤตยูโควิด หรือแรงเสียดทานจากฝ่ายค้านทั้งหมด

ไม่ว่าแนวโน้มสถานการณ์หลังประกาศมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ ผลเป็นอย่างไร ผู้รับผิดชอบและรับผลกลุ่มแรก คือ คณะรัฐมนตรี ต้องรับวันยังค่ำ ทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะเป็นผู้ใช้อำนาจตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการทุกด้าน

การตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลทั้งสองด้าน ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ผู้รักษาหายเพิ่ม ผู้ตายไม่มี จึงไม่พอ ขณะที่ตัวเลขผู้ตายจากการคิดสั้น ขาดอาหาร ขาดรายได้ หมดทางออก ยังเพิ่มขึ้น

ฉะนั้นการยอมรับ บอกกล่าวความจริง และเปิดช่องให้เสรีภาพ ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น จึงเป็นสิ่งจำเป็น

เสียงตอบรับของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมต่อมาตรการลดความเข้มข้นการล็อกดาวน์
จะไปทางทิศไหน เป็นเรื่องท้าทายและน่าติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image