คนตกสี : อำนาจและด้านมืดของ‘พระคุณที่สาม’ : โดย กล้า สมุทวณิช

หนึ่งในรูปแบบของข่าวสลดใจที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และมักจะเวียนซ้ำมาเสมอในรูปแบบและรายละเอียดที่แตกต่างกันคือเรื่องที่ครูอาจารย์ละเมิดทางเพศต่อนักเรียน ซึ่งสังคมก็จะสลดและประณาม แต่อันนี้ถ้าจะมีความแตกต่างบ้างก็คงจะเป็นเทคโนโลยีและวิธีการประณาม

ในยุคของแฮชแท็กและทวิตเตอร์ เรื่องสลดใจในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานี้จึงถูกสรุปรวบด้วยแฮชแท็ก #7ครูชาติชั่ว ที่หมายถึงข่าวเรื่องครู 7 คน ร่วมกันชำเรานักเรียนหญิงอายุ 14 ปี ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562

ซึ่งเรื่องเศร้ากว่านั้นคือถ้าเราเข้าไปหาข่าวจากแฮชแท็กนี้ในเว็บข่าวบางสำนัก ระบบของทางเว็บจะคัดเลือก “ข่าวที่เกี่ยวข้อง” มาให้อีกสองสามข่าว เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วและสองปีก่อนหน้านี้ หรือถ้าใครได้เรียนวิชากฎหมายอาญา คงจะทราบว่าการละเมิดทางเพศในลักษณะนี้เป็นเหตุเพิ่มโทษในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 คือเป็นการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการหรือผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล ที่ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้หนึ่งในสาม

หากจะกล่าวอย่างยอมรับความจริงอันเป็นสากล ปัญหาการละเมิดทางเพศของครูอาจารย์กับนักเรียนนี้เป็นรูปแบบเดียวกันกับการละเมิดทางเพศที่เป็นสากลอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามแต่สภาพสังคม ในบางประเทศผู้ก่อเหตุมักจะเป็นนักบวชรุ่นใหญ่ที่กระทำต่อนักบวชฝึกหัดผู้อยู่ภายใต้การดูแล บางสังคมจะเป็นแพทย์ ซึ่งกรณีหลังเป็นเรื่องการมีอำนาจเหนือกว่าเพราะความรู้ นอกจากนั้นอีกกรณีที่มักปรากฏก็ได้แก่ผู้ฝึกสอนนักกีฬา

Advertisement

ทั้งหมดนั้นคือการกระทำละเมิดทางเพศของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า

เรื่องนี้มีเหตุผลทางจิตวิทยาและสังคมวิทยาอธิบายได้ ถ้าเราย้อนไปค้นหาความหมายของคำว่า “อำนาจ” ที่มีความหมายถึงความสามารถของมนุษย์คนหนึ่งในการควบคุมสิ่งต่างๆ นอกเหนือจากตัวเขา ผู้มีอำนาจมากที่สุด คือผู้ที่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ รวมถึงมนุษย์ด้วยกันได้มากที่สุดนั่นเอง

และมนุษย์เรานั้นมีแนวโน้มในการใช้อำนาจไปในทางที่ละเมิดต่อผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตนเองอยู่แล้ว หรือบางครั้งอาจจะไม่ใช่ประโยชน์อะไรเลยด้วยซ้ำ เพียงการได้ใช้อำนาจก็เป็นประโยชน์ในตัวที่มนุษย์ประสงค์จะเสพอยู่แล้ว

ถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงเคยอ่านหรือผ่านตาการทดลองเรื่องเรือนจำสแตนฟอร์ด (Stanford prison) ของ ดร.ฟิลลิป จี ซิมบาร์โด ที่แบ่งศึกษาออกเป็นสองกลุ่มให้รับบทบาทเป็นนักโทษและผู้คุมในเรือนจำสมมุติ ผลออกมาน่าสยดสยองคือในที่สุดฝ่ายผู้ร่วมทดลองเป็นผู้คุมก็ทำการทรมานทารุณนักโทษ และนักโทษหลายคนยอมรับการละเมิดดังกล่าวโดยไม่ขัดขืน ซ้ำยังพยายามบีบบังคับให้นักโทษคนอื่นๆ ยอมรับในการลงโทษอันละเมิดนั้นด้วย ทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายก็รู้ว่านี่เป็นเพียงการทดลองสวมบทบาท และทุกคนสามารถขอออกจากการทดลองได้ทุกเมื่อ การทดลองที่โด่งดังนี้ยืนยันต่อสมมุติฐานที่ว่า มนุษย์เรานั้นอ่อนไหวต่อการเบี่ยงเบนไปสู่การเป็นผู้ละเมิดทารุณต่อผู้อื่นได้ เมื่อมีอำนาจ บทบาท และความสามารถในการบังคับผู้อื่นได้อย่างไร

ในขณะเดียวกัน มนุษย์ฝ่ายที่ถูกบังคับให้อยู่ในสภาพที่ไม่อาจควบคุมอะไร และพบว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมได้จริงๆ ด้วย ก็จะเกิดความรู้สึกหมดอาลัยตายอยากและยอมรับสภาพการถูก
ละเมิดนั้นได้โดยไม่หืออือโต้ตอบ เป็นการยอมจำนนเพราะการเรียนรู้ เช่นเดียวกับที่มีการทดลองใน
สุนัขที่ถูกไฟฟ้าชอร์ตจนไม่คิดหนี หรือปลาไพก์ที่ถูกขังในตู้ที่กั้นด้วยกระจกจนมันเสียสัญชาตญาณ
ผู้ล่าและอดตายไป

ทั้งสองเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ทั้งในแง่ที่ว่า ทำไมการละเมิดทางเพศในโรงเรียนโดยครูอาจารย์จึงเป็นปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า (นี่เรายังไม่ต้องพูดกันถึงการเอาเปรียบทางเพศแบบกึ่งสมยอมด้วยการใช้คะแนนสอบหรือผลประโยชน์ทางการศึกษาอื่นๆ ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นไป)

เราพอจะอธิบายได้ว่าทำไมฝ่ายนักเรียนจึงตกอยู่ในสภาพคล้ายว่าจะยินยอมหรือเก็บงำเรื่องนี้ไว้นานนับปีกว่าจะมีการเปิดเผยให้พ่อแม่ผู้ปกครองทราบ นั่นเพราะในระบบและวัฒนธรรมการศึกษาไทยนั้น นักเรียนไม่มีความสามารถในการควบคุมสิ่งต่างๆ ในรั้วโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายครูอาจารย์ได้เลย ตั้งแต่ระเบียบที่เราบังคับเอากับนักเรียนตั้งแต่ทรงผมจรดเท้าและลึกเลยไปถึงชุดชั้นในนักเรียนหญิง

เรื่องตลกร้ายคือมีนโยบายหรือคำสั่งจากทางส่วนกลางให้โรงเรียนต้องปลูกฝังแนวความคิดแบบ “ประชาธิปไตย” ให้นักเรียน นั่นทำให้โรงเรียนจะต้องจำลองให้มีการ “เลือกตั้ง” ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่หัวหน้าห้องยันประธานนักเรียน แต่ทั้งสองตำแหน่งนั้นก็ไม่ได้มีประโยชน์หรือมีส่วนช่วยให้นักเรียนได้มีความรู้สึกว่าตัวเองสามารถ “ควบคุม” หรือ “กำหนด” อนาคตอันใดของตัวเองได้ หัวหน้าห้องมีหน้าที่เพียงบอกให้นักเรียนลุกขึ้นทำความเคารพ เก็บสมุดการบ้าน หรือเป็นหูตาให้ครูในการจดชื่อคนทำผิดระเบียบ
ส่งฟ้อง ส่วนประธานนักเรียนก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรดีกว่านั้น แค่มีสัดส่วนของการเป็นผู้ช่วยครูอาจารย์ที่กว้างขวางกว่า

วัฒนธรรมการบีบบังคับด้วยระเบียบของโรงเรียนมาพร้อมกับการสั่งสอนให้นักเรียนต้องเคารพกฎแบบไม่มีเหตุผล อันที่จริงเรื่องนี้เป็นดาบสองคมอยู่ เพราะกฎระเบียบในโรงเรียนหลายอย่างก็เป็นเรื่องจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันโดยราบรื่นระหว่างนักเรียนด้วยกันกับครูอาจารย์เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน แต่หลายเรื่องก็ไม่มีเหตุผลอะไรนอกจากความ “รู้สึกว่า” เป็นระเบียบเรียบร้อยดี เช่นเรื่องทรงผมและการแต่งกาย การหล่อหลอมเช่นนั้นส่งผลไปถึงนักเรียนและผู้ใหญ่หลายคนที่ผ่านระบบโรงเรียนจนกลายเป็นมนุษย์ยอมจำนนและเห็นดีเห็นงามไปกับอำนาจที่ไม่มีเหตุผลนั้น เราเห็นเด็กและผู้ใหญ่เหล่านั้นได้เสมอในวิวาทะประเภทชุดนักเรียนจำเป็นหรือไม่ หรือเด็กควรไว้ผมยาวได้หรือยัง

ระเบียบโรงเรียนที่ยากต่อการหืออือนี้ส่งผลต่อการบังคับใช้กฎ การตรวจสอบหรือลงโทษอย่างไม่มีขีดจำกัด จนไม่น่าเชื่อว่าหลายคนยอมรับได้กับการที่อยู่ดีๆ ครูก็จับเด็กที่ไว้ผมยาวผิดระเบียบมากล้อนผมหรือตัดให้แหว่งวิ่นน่าเกลียดเพื่อลงโทษหรือประจาน หรือเรายอมรับได้ว่าให้ครูไม่ว่าจะหญิงหรือชาย สามารถสอดส่องเข้าไปใต้เสื้อว่านักเรียนหญิงคนไหนไม่สวมเสื้อซับใน หรือใส่ชุดชั้นในตามสีที่โรงเรียนกำหนดมาหรือไม่

การยอมรับต่ออำนาจในโรงเรียนเช่นนี้ก่อให้เกิดการละเมิดในทุกระดับ อย่างที่สลดมากก็ถึงแก่ชีวิตหรือสุขภาพ เช่นเคยมีกรณีที่ครูบังคับให้นักเรียนที่เป็นโรคหัวใจวิ่งกลางแดดโดยไม่รับฟังเสียงขอร้อง จนนักเรียนหัวใจวายตาย การละเมิดทางเพศที่กล่าวกันอยู่ หรือสถานเบาหน่อยไม่มีใครเจ็บตายก็เช่นการรีดไถเงินทองมากบ้างน้อยบ้างจากนักเรียนหรือผู้ปกครองในรูปแบบของกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์จำพวกโต๊ะจีนโรงเรียนหรือกีฬาการกุศล

เพราะการบังคับจนนักเรียนต้องยอมจำนนเช่นนี้ ทำให้นักเรียนบางคนไม่รู้ว่าขอบเขตของการต้องยอมทำตามนั้นอยู่ที่ไหน เช่นกรณีของนักเรียนหญิง ก็ในเมื่อกำหนดให้ครูสามารถสอดส่องไปใต้เสื้อเพื่อ
ตรวจดูเสื้อชั้นในได้แล้ว ถ้าครูสั่งให้ถอดเสื้อผ้าจะต้องปฏิบัติตามหรือไม่ และถ้าครูล่วงละเมิดไปกว่านั้นถือเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหรือจำเป็นต้องบอกผู้ใหญ่หรือเปล่า อย่าปฏิเสธเลยว่าเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นจริง เคยมีฎีกาเรื่องหนึ่งที่ครูสั่งให้นักเรียนถอดเสื้อผ้าออกจนเปลือยโดยอ้างว่าตรวจร่างกาย ก่อนจะกระทำการละเมิดทางเพศมาแล้ว

ส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมอำนาจของครูอาจารย์นอกจากกฎที่ไร้เหตุผลและการบังคับให้ต้องยอมจำนนแล้ว วาทกรรม “พระคุณที่สาม” นอกจากความอบอุ่นอ่อนโยนว่างดงามแจ่มใสหนักหนา ให้ครูบาอาจารย์เป็นเหมือนพ่อแม่คนที่สองหรือสาม ก็มีแง่มุมที่น่ากลัวที่นำไปสู่การละเมิดได้ วาทกรรมนี้ทำให้สังคมเราเชื่อว่าสามารถมอบอำนาจบางอย่างที่พ่อแม่อาจจะมีได้ในขอบเขตที่จำกัดเช่นการลงโทษทางกายภาพให้คนแปลกหน้าไปได้แบบไม่จำกัด

การเอา “หน้าที่” ไปผูกกับ “บุญคุณ” นี้ยังปรากฏกับอีกหลายอาชีพ และน่าสังเกตว่ามักจะเป็นอาชีพที่รัฐกำหนดหรือจ่ายค่าตอบแทนได้ไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเหนื่อยยากและประโยชน์ของงาน นั่นเพราะค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ทำให้ต้องหาอำนาจหรือความพอใจอื่นมาช่วยเสริมให้คนที่มิได้มีใจรัก
ในงานนั้นตั้งแต่ต้นยังคงทนทำงานนั้นไปได้ รูปแบบของการให้ “บุญคุณ” เป็นเครื่องต่างตอบแทนนี้ นอกจากครูแล้วก็ยังมีหมอ ข้าราชการ และทหาร ซึ่งกรณีหลังก็ก่อปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดและลุแก่อำนาจอย่างที่เราทราบกัน

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว การมีอำนาจเหนือผู้อื่นนั้นล่อให้มนุษย์ร่วงหล่นสู่ด้านมืดได้ง่าย การละเมิดของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าอาจจะดำรงอยู่ต่อไปเพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคน กระนั้นสังคมเราซึ่งมีอำนาจมากกว่าปัจเจกก็น่าจะมีส่วนในการลดละหรือป้องกันสิ่งนี้ได้

สิ่งสำคัญที่น่าจะช่วยบรรเทาปัญหารูปแบบการละเมิดเช่นนี้ คือการคืนความเป็น “มนุษย์” ให้ทั้งฝ่ายนักเรียนและครู

สำหรับเด็กๆ ของเรา พวกเขาควรได้รู้ว่าตัวเองมีสิทธิเสรีภาพหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในเนื้อตัวร่างกายที่ห้ามมิให้ผู้อื่นละเมิดได้โดยไม่มีข้อแม้ข้ออ้างอย่างไร ส่วนฝ่ายครูเองก็ต้องถอยกลับมาจากจุดที่ตัวเองเป็นผู้มีบุญคุณเยี่ยงพ่อแม่ ทั้งนี้ ไม่ใช่การลดรูปอาชีพครูกับศิษย์ลงไปเป็นแค่นายจ้างลูกจ้าง แต่
หมายถึงการกลับไปสู่ฐานะของผู้เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีหน้าที่ให้ความรู้และดูแลมนุษย์คนอื่น ไม่ใช่เด็กในบัญชา หรือลูกแกะในความดูแลที่หากลับตาผู้คนเมื่อไรจะลักไปกินเสียบ้างก็ได้

อีกทั้งสังคมเราเองก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติในการยอมรับเรื่อง “กฎกติกา” ด้วยว่า กฎทั้งหลายเป็นสิ่งที่มนุษย์และกลไกทางสังคมกำหนดขึ้น มันจึงทบทวนได้ถึงความเหมาะควรและความจำเป็นของการ
มีอยู่ได้เสมอ และการร้องขอให้ทบทวนนั้นอาจจะมาจากใครก็ได้ที่ได้รับผลจากกฎหรือกติกานั้นไม่ว่า
เขาจะเป็นฝ่ายที่ได้หรือเสียประโยชน์

ประเทศชาติและส่วนรวมจะอยู่ได้อย่างเป็นสุขเมื่อทุกคนเคารพกฎกติกา แต่มันจะอยู่ยากกว่าถ้ามันเต็มไปด้วยมนุษย์ที่เชื่อฟังกติกาโดยจำนนต่ออำนาจ ซ้ำไปบังคับกดหัวคนอื่นเขาอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image