วีรชนชาวบ้านบางระจัน กับ Covid-19 โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

สถานการณ์รายวันในประเทศไทยโดยภาพรวมข้อมูลจาก “ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)” ตัวเลขการติดเชื้อไวรัสโควิดรายใหม่เป็นตัวเลขหลักหน่วย ส่วนการตายก็เช่นกัน ต่ำกว่า 5 ราย บางวันก็มี 0 ราย อย่างต่อเนื่องกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็น “สัญญาณบวก” สำหรับสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย หลังรัฐบาลมีมาตรการคลายล็อกผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมหลายอย่างกว่า 1 สัปดาห์ ภายใต้เงื่อนไข… “การ์ดไม่ตก” กล่าวคือ การป้องกันการแพร่เชื้อดำเนินการอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ตัวเลขติดเชื้อรายใหม่น้อยลงตามลำดับ ขณะที่ธุรกิจ-กิจการหลายอย่างเริ่มขยับตัว ได้ช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อนของประชาชนได้บ้าง ส่งผลให้ “รัฐบาลบิ๊กตู่” เตรียม “คิกออฟ” คลายล็อกดาวน์ระยะที่สองดีเดย์อีก 3 วันข้างหน้า คือวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 นี้

ศูนย์ “ศบค.” วางไทม์ไลน์คลายล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ตั้งแต่ช่วงวันที่ 8-12 พฤษภาคม ที่มีการรับฟังความคิดเห็นหลังประกาศผ่อนปรน หรือมาตรการคลายล็อกระยะแรกเพื่อดูข้อมูลเชิงสถิติสถานการณ์ จากนั้นวันที่ 13 พฤษภาคม จะมีการซักซ้อมทำความเข้าใจ และวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะมีการยกร่างมาตรการผ่อนปรนเพื่อนำเสนอ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม” ก่อนที่มีการประกาศเริ่มคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งจะมีการผ่อนปรนเพิ่มเติมจากระยะแรก อาทิ การเปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้านเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจประกันภัย ร้านวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องดูว่าภายหลังการคลายล็อกระยะสองแล้ว รัฐบาลยังจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้หรือไม่ หากไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากจะส่งผลให้ต้องกลับไปใช้มาตรการคุมเข้มตามเดิม หรือยึดมาตรการคลายล็อกดาวน์แค่ระยะแรก และยังอาจจะกลายเป็นการ “จุดชนวน” หรือ “ระเบิดเวลา” ให้เกิดการระบาดระยะที่ 2 ที่อาจจะรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา… (ดังเช่นประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น)

ดังนั้น มาตรการที่จะไม่ให้ประเทศไทยเดินไปสู่… “จุดเสี่ยง” นอกจากรัฐบาลต้องตั้งหลักวางมาตรการให้เข้มข้นไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์รถยนต์แห่กลับบ้านมากมายเบียดเสียดประหนึ่งคล้ายเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์… การกรูแย่งกันซื้อเบียร์ เหล้า การแย่งกันขึ้นเบียดเสียดอยู่บนรถไฟฟ้า หรือรถสาธารณะต่างๆ อีก ที่สำคัญที่สุด คือ … คนไทยทั้ง 66 ล้านคน ทุกคนทุกอาชีพตระหนักการมีจิตสำนึก “สร้างความสามัคคี” สร้างความร่วมมือร่วมใจกัน…รีบป้องกันไม่ให้ประเทศพ่ายแพ้สงคราม “โควิด-19” แม้รัฐบาลจะมีปัญหาการบ้านการเมือง ประชาชนแบ่งกลุ่ม แบ่งพรรคแบ่งพวกเกิดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะปัญหาที่เป็นผลกระทบทาง “เศรษฐกิจ”… “คนตกงาน” และมีแนวโน้มส่อแวว… “ฟุบยาว” ดังเช่น “วีรชนชาวบ้านบางระจัน”

ผู้เขียนได้รับหนังสือ…อนุสรณ์ “250 ปี วีรชนชาวบ้านบางระจัน” จาก… “พระครูวิชิตวุฒิคุณ” เจ้าคณะอำเภอค่ายบางระจัน เจ้าอาวาสวัดโพธิ์เก้าต้น จ.สิงห์บุรี ระบุว่า…ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองไทยตกอยู่ในสภาพระส่ำระสาย มีการแก่งแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน ข้าราชการแตกแยกเป็นพวกเป็นเหล่า ระแวงเกลียดชัง ใส่ร้ายป้ายสีและคิดกำจัดซึ่งกันและกัน การบริหารบ้านเมืองอ่อนแอ บ้านเมืองมิได้รับการทะนุบำรุงให้เจริญ ประชาชนก็ขาดความสงบและเสียขวัญ

Advertisement

จากพระราชพงศาวดารจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเริ่มเข้าสู่ความยุ่งยากตั้งแต่ก่อนรัชกาล “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” จะเสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชวินิจฉัยสอดคล้องกับเหล่าขุนนาง “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต” มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลมสมควรจะดำรงเศวตฉัตรครองสมบัติรักษาแผ่นดินสืบไป ส่วน “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี” ซึ่งเป็นพระเชษฐาของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต นั้น ไม่มีความสามารถเหมาะสมที่จะสืบราชสมบัติให้มั่นคงได้ จึงทรงสถาปนา… “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต” ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แล้วรับสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี เสด็จออกไปทรงผนวชเพื่อมิให้เป็นที่กีดขวาง เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี เกรงพระราชอาญาก็ทรงกระทำตาม

ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคตแล้ว…เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ ก็แตกแยกกันต่างประสงค์อำนาจ… “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต” เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ 10 วัน…สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีได้ทรงลาผนวช ทรงแสดงพระราชประสงค์จะได้ราชสมบัติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตทรงเป็นพระอนุชาร่วมอุทรจำต้องถวายราชสมบัติให้ แล้วพระองค์เองก็เสด็จออกผนวช

“สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี” ก็เสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า… “สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์” หรือ “พระเจ้าเอกทัศ” ในครั้งนั้นเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการที่เฉลียวฉลาด แต่ผิดพรรคผิดพวกต่างหวาดระแวงกัน คิดร้ายซึ่งกันและกัน และถูกกำจัดลงเป็นจำนวนมาก ในที่สุด ศึกศัตรูภายนอกก็เข้ามากระทำย่ำยีพระราชอาณาจักร ในครั้งนั้นพระเจ้าอลองพญากษัตริย์แห่งพม่าได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ระดมปืนใหญ่เข้าสู่พระบรมราชวัง แต่ชะตาเมืองยังมิได้ถึงซึ่งความวิบัติ พระเจ้าอลองพญาประชวรแล้วเสด็จสวรรคต การศึกสงครามจึงสงบลงและว่างเว้นไประยะหนึ่ง “พระเจ้ามังระ” เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ของพระเจ้าอลองพญา พระองค์ได้ตามเสด็จพระราชบิดามายังสงครามกับอยุธยาด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2306 หลังจากขึ้นครองราชย์พระองค์ปรารภในที่ประชุมขุนนางว่า… “อยุธยาไม่เคยแพ้อย่างราบคาบมาก่อน” พระองค์ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของพระราชบิดา ด้วยการส่ง… “นาเมียวสีหบดี” เข้ามากวาดต้อนผู้คนและกำลังพลจากหัวเมืองเหนือก่อนในปี พ.ศ.2307 และได้ส่งทัพจากทางใต้ คือ… “มังมหานรธา” เข้ามาเสริมช่วยอีกทัพหนึ่ง

Advertisement

ความยุ่งยากระส่ำระสายภายในบ้านเมืองไทย ก็ยังคงมีอยู่มากเช่นเดิม พม่าจึงยกทัพเข้ามาได้โดยสะดวก ทั้งทางเหนือทางใต้ กระทำการข่มเหงทารุณหยาบช้าแก่คนไทยทั้งหลาย ให้รื้อวัด โบสถ์ วิหาร แล้วนำอิฐไปก่อกำแพงล้อมค่าย เร่งรัดแย่งชิงทรัพย์สิน จับเอาหญิงชายไปกระทำทารุณกรรม ภัยสงครามก็ลุกลาม กระทำความเดือดร้อนแก่อาณาประชาราษฎร ฝ่ายบ้านเมืองไม่อาจจะต่อสู้ป้องกัน นำความสุขให้กลับคืนมาได้ จนในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็แตกเสียแก่พม่า เมื่อวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน จศ.1129 (ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310) ในรัชกาล “สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์” หรือ “สมัยพระเจ้าเอกทัศ”

จะเห็นได้ชัดเจนว่า วิบัติร้ายจากศัตรูภายนอกนั้นมีมูลเหตุเนื่องมากจากความยุ่งยาก ความสับสน ความระส่ำระสาย การแตกความสามัคคีของคนในบ้านเมืองไทย และการที่ประชาราษฎร์เสียขวัญและเสียกำลังใจ ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอ ประวัติศาสตร์นี้ให้เราเห็นภัยพิบัติของ… “การแตกความสามัคคี…การแก่งแย่งอำนาจ…การหวาดระแวง…กล่าวโทษใส่ร้าย…และการประหัตประหารกันเองในบ้านเมือง…ทำให้สูญเสียคนดีที่จะคิดป้องกันและต่อสู้ศัตรูของชาติบ้านเมือง”

อย่างไรก็ดี มีคำโบราณกล่าวว่า… “กรุงศรีอยุธยา ไม่สิ้นคนดี” ฉะนั้น จึงเกิด… “วีรชนของชาวบ้านบางระจัน แขวงเมืองสิงห์” เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาจะเสียกรุงแก่พม่า เป็นเรื่องที่ทำให้ชนรุ่นหลังเกิดความภาคภูมิว่า…ถึงอย่างไรบรรพบุรุษของเราก็ยังมีความรักชาติกล้าหาญและเสียสละ ไม่ยอมให้ข้าศึกศัตรูย่ำยีแต่ฝ่ายเดียว ชาวไทยกลุ่มหนึ่งได้พยายามต่อสู้กับกองทหารพม่า ซึ่งขณะนั้นได้เข้ามาตั้งทัพอยู่ในเขตชานกรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้ส่งกองทหารออกลาดตระเวนคอยจับชาวบ้าน ริบทรัพย์สิน และเสบียงอาหารแถบเมืองวิเศษชัยชาญ เมื่อชาวไทยถูกข่มเหงหนักเข้าก็รวมกำลังกันคิดต่อสู้พม่า ได้ฆ่าฟันทหารกองหนึ่งแล้วพากันหลบหนีไปซ่องสุมผู้คน ตั้งเป็นค่ายใหญ่อยู่ที่… “บ้านบางระจัน” ผู้นำชาวไทยที่สำคัญครั้งนั้น 11 คน ได้แก่… นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายดอก นายแก้ว ขุนสรรค์ นายจันทร์หนวดเขี้ยว นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่…และคนไทยใน “ค่ายบางระจัน” มีกำลังใจดีเพราะได้ “พระอาจารย์ธรรมโชติ” จากวัดเขานางบวช มาอยู่เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาคมบำรุงขวัญ ให้แก่…วีรชนชาวบ้านบางระจันและคนไทยในค่าย พม่าได้ส่งกองทัพมาโจมตี… “ค่ายบางระจัน” รวม 8 ครั้ง การสู้รบกันเริ่มตั้งแต่เดือน 4 ปีระกา พ.ศ.2308 แม้ว่าไทยจะเสียเปรียบด้านอาวุธและกำลังคน…แต่ก็สามารถมีชัยชนะกองทัพพม่าได้ถึง 7 ครั้ง

ซึ่งฆ่าฟันพม่าล้มตายนับจำนวนพันราย ในที่สุดค่ายบางระจันก็ต้องเสียแก่พม่าเมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ.2309 รวมเวลาที่ชาวบ้านบางระจันได้ยืนหยัดต่อสู้กับพม่าอย่างแน่วแน่ใช้เวลา 5 เดือน และมีชัยชนะได้สูงถึง 7 ครั้ง

ในการนี้ผู้เขียนได้พูดคุยกับท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิ์เก้าต้น อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี “พระครูวิชิตวุฒิคุณ” เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ซึ่งได้ไป “ร่วมออกโรงทานตามพระราชดำริของสมเด็จพระสังฆราชฯ” ท่านได้ปรารภว่า…เรื่องของชาวบ้านบางระจัน เป็นวีรกรรมของชาติบ้านเมือง ที่แสดงถึงความรักชาติ สามัคคี ปรองดอง ไม่ยอมให้ศัตรูย่ำยีและยึดครองบ้านเกิดเมืองนอน แม้จะแลกด้วยชีวิตก็ยอม การที่เราระลึกถึงคุณความดีของวีรชนทั้งชายหญิงที่เสียสละชีวิตเพื่อรักษาชาติ เมื่อ 250 ปีที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยที่แสดงออกได้ง่ายที่สุด และควรปฏิบัติเอาเป็นเยี่ยงอย่าง “โดยเฉพาะช่วงนี้ 4-5 เดือนที่ผ่านมาทั่วโลกมากกว่า 180 ประเทศเกิดการแพร่ระบาด…
“เชื้อไวรัสมรณะโควิด-19” จำนวนผู้ติดเชื้อโรคมากกว่า 4 ล้านคน และตายจากเชื้อไวรัสมรณะโควิด-19 มากกว่า 3 แสนคนแล้ว…ไม่เว้นประเทศไทยของเราซึ่งระบาดตั้งแต่กลางเดือน “มกราคม 2563” เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน หากเปรียบสงคราม “โรคร้ายมรณะ” ครั้งนี้ เปรียบได้กับ “สงครามโลกครั้งที่สาม” ซึ่งหากพิจารณาแล้วพบว่ามาตรการสำคัญที่สุดที่ประเทศไทยจะชนะสงครามนี้ได้ด้วยการดูเอาเยี่ยงอย่างของบรรพบุรุษของเรา… “วีรชนชาวบ้านบางระจัน” ที่ชนะศึกศัตรูได้โดยบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ ปลูกฝังคุณธรรม รักชาติด้วยการเป็นคนดี สมัครสามัคคี มีน้ำใจ ซื่อสัตย์สุจริตต่อชาติบ้านเมือง…ประเทศไทยของเราก็จะชนะ… “โรคเชื้อไวรัสมรณะโควิด-19” ได้… “ด้วยพลังสามัคคีคนไทยยุคปัจจุบัน” เยี่ยง “ชาวบ้านบางระจัน” ของเรา ท่านพระครูวิชิตวุฒิคุณกล่าวท้ายสุด…

ผู้เขียนและหนังสือพิมพ์มติชน ขอฝากคนไทยทุกคนร่วมกันสร้างพฤติกรรม 2 เรื่องช่วงโควิด-19 ให้เป็นวิถีชีวิตเป็น… “วัคซีนชีวิต” เพราะโรคนี้ยังอยู่กับ “เรา”…2-5 ปี จนกว่าเรามีวัคซีนป้องกัน….มียาเฉพาะมารักษา…

คาถาที่ 1 : “ป้องกันโรค ดีกว่า รักษาโรค” ด้วย “2ล…2ส” …2 ล : เลี่ยงคน เลี่ยงสถานที่…2ส : สัมผัส…กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือ…Social Distancing 2 เมตร…ใส่หน้ากาก แว่นตา

คาถาที่ 2 : “สร้างสุขภาพ ดีกว่า ซ่อมสุขภาพ” ด้วย… “3อ 3ลด”…3อ : อาหาร…กินให้ครบ 5 หมู่…ออกกำลังกาย 30 นาที/ครั้ง 3 วัน/อาทิตย์…อารมณ์ : ยิ้มแย้ม & ทำสมาธิ 30นาที/ครั้ง ทุกวัน 3ลด : ลดอ้วน ลดเหล้า ลดบุหรี่…

ทั้งสองคาถา นี้แหละทำให้ได้แล้ว จะปลอดภัยจากโควิด-19…แล้วยังมีสุขภาพแข็งแรงปลอดเบาหวาน ความดัน มะเร็ง โรคจิต…และอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ สำคัญ คือ “สุขภาพแข็งแรง อายุยืนมากกว่า 80 ปี” “อโรคยา ปรมาลาภา”…ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ…ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image