สุจิตต์ วงษ์เทศ : ใช้เงินกี่หมื่นล้าน ก็สร้างไม่ได้ ชุมชนที่มีรากเหง้ายาวนานอย่างชุมชนป้อมมหากาฬ

หากไล่รื้อสลายชุมชนได้ จะเป็นการทำลายทุนทางสังคมวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์
ขอเสนอให้ กทม. กับชุมชนป้อมมหากาฬหาทางออกจากปัญหาการสร้างสวนสาธารณะพื้นที่ป้อมมหากาฬร่วมกันด้วยรูปแบบประชารัฐ ทำให้พื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นสวนสาธารณะที่มีชีวิต ไร้ยาเสพติด ไร้อาชญากรรม
แต่เต็มไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมประเพณีไทยสมัยรัตนโกสินทร์แต่โบราณ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนทั่วโลกกล่าวขานและแวะมาเยี่ยมชมกันต่อไป
ซึ่งไม่ว่าจะใช้เงินจำนวนกี่หมื่นล้านก็ไม่สามารถสร้างชุมชนที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมมายาวนานอย่างป้อมมหากาฬขึ้นมาได้
| เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
[มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2559 หน้า 2]

                              ชุมชนบ้านไม้ย่านป้อมมหากาฬ  ชานกำแพงพระนคร ควรปรับปรุงเป็นมิวเซียมกลางแจ้ง
ชุมชนบ้านไม้ย่านป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ควรปรับปรุงเป็นมิวเซียมกลางแจ้ง

คนที่มีบ้านหลังอื่นนอกป้อม ต้องย้ายออกทันที ส่วนพื้นที่ในป้อมให้ปรับปรุงเป็น มิวเซียมหรือพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เนื่องจากในชุมชนมีเรือนไม้เก่าจำนวนมาก โดยให้ชาวบ้านเป็นลูกจ้างของรัฐในการดูแล ซึ่งสามารถอยู่อาศัยได้ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์
หากดำเนินการเช่นนี้ได้ ชุมชนป้อมมหากาฬจะเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการดำเนินการกับชุมชนแห่งอื่นๆ ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันใน กทม.
ไม่ควรเก็บเรือนไม้ไว้แค่บางหลัง เพราะคุณค่าของมันอยู่ตรงการใช้พื้นที่ซ้อนทับต่อเนื่องกันหลายยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน มีตรอกซอกซอยมากมาย จึงควรเก็บไว้ทั้งหมด
ถ้ามีบ้านแล้วไม่มีคน ก็ไม่มีประโยชน์ และจะยิ่งเสี่ยงต่ออาชญากรรม
| ชาตรี ประกิตนนทการ
อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร หัวหน้างานวิจัย โครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ
[มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2559 หน้า 2]

โบราณสถานไม่ใช่แค่วังกับวัด หรือกำแพงเมือง และป้อม แต่เป็นชุมชนที่สืบทอดประวัติศาสตร์วัฒนธรรมมานานแล้ว ถ้า กทม. เปลี่ยนทัศนคติ จะทำให้เมืองน่าอยู่ เป็นแหล่งที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์มีชีวิต
| เตือนใจ ดีเทศน์
ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
[มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2559 หน้า 2]

                              ชุมชนบ้านไม้ย่านป้อมมหากาฬ  ชานกำแพงพระนคร ควรปรับปรุงเป็นมิวเซียมกลางแจ้ง
ชุมชนบ้านไม้ย่านป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ควรปรับปรุงเป็นมิวเซียมกลางแจ้ง

ชุมชนป้อมมหากาฬ

การไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อสร้างสวนสาธารณะของ กทม. เป็นปัญหายืดเยื้อ ผู้บริหาร กทม. ได้ยืนยันว่าภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้จะรื้อถอนให้ได้ประมาณ 10 หลัง เหตุผลหนึ่งของผู้บริหาร กทม. ก็คือไม่เชื่อว่าชุมชนจะอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้

Advertisement

ในเรื่องนี้ชาวชุมชนและนักวิชาการได้ร่วมกันจัดเสวนา “รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ คือการทำลายประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ” เนื้อหาจากวงเสวนาระบุว่าชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้

โบราณคดีไม่ได้ศึกษาเฉพาะโบราณสถาน แต่สนใจวิถีชีวิตทุกแง่มุมของคน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษาชุมชนของตัวเอง ไม่ใช่ให้อำนาจของการตัดสินของการตัดสินใจศึกษาและอนุรักษ์ตกไปอยู่ในมือของผู้มีอำนาจ

หากยอมรับว่าต้องรักษาป้อมและกำแพงเมืองเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชุมชนชานพระนครที่อยู่คู่กัน และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทางด้านวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อนๆ ก็ควรต้องคงไว้เพื่อเป็นมรดกที่มีชีวิตของกรุงเทพฯ

Advertisement

การไล่รื้อชุมชนแห่งนี้ เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว โดยใช้วิธีคิด วิธีการบริหารจัดการแบบเดิมๆ ที่ล้าสมัย เน้นการดูแลรักษาอาคารสถานที่เพียงมิติเดียว ทั้งที่ยังมีมิติของประวัติศาสตร์อันมีชีวิตของคนที่อยู่ในละแวกโบราณสถานดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีคุณค่าไม่แพ้ตัวโบราณสถาน

การแก้ปัญหาชุมชนและโบราณสถานแห่งนี้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด กทม. น่าจะพิจารณาใช้มุมมองใหม่ แทนที่จะยึดหลักแบบราชการ ที่ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้อย่างตายตัว ซึ่งจะเท่ากับปิดฉากสาระอันอุดมอีกจุดหนึ่งของประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ และทำให้สังคมเสียประโยชน์ เสียโอกาสในการเรียนรู้อย่างน่าเสียดาย

(บทนำ มติชน ฉบับวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2559 หน้า 2)

วิชาการต้องไม่รังแกชาวบ้าน

ครูบาอาจารย์นักวิชาการมหาวิทยาลัยและในสถาบันต่างๆ ล้วนต้องการแล้วมีตามต้องการคือเสรีภาพทางวิชาการ และมีอิสระทางความคิดเสมอหน้ากัน
จึงมีสิทธิ์เต็มเหนี่ยวที่จะเลือกรับจ้างนายทุน ไม่ว่านายทุนนั้นจะเป็นรัฐหรือเอกชน เพื่อศึกษาค้นคว้าวิจัยและสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีและมานุษยวิทยาเสาะหาความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งตามต้องการ
แต่งานรับจ้างนั้น ต้องไม่เป็นไปเพื่อทำร้ายรังแกเบียดเบียนชาวบ้าน และไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ว่าชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือชุมชนป้อมมหากาฬ ตลอดจนแม่น้ำลำคลองหนองบึงบุ่งทามทั่วไป
แล้วต้องไม่ให้ร้ายคนอื่นที่รับเงินนายทุน เพราะตัวเองก็ทำอย่างเดียวกัน ขณะเดียวกันต้องเปิดเสรีภาพทางวิชาการให้นักศึกษาด้วยในการทำกิจกรรมวิชาการเพื่อสังคม
ถ้าทำตรงข้าม ครูบาอาจารย์นักวิชาการเหล่านั้นก็ใช้ไม่ได้ และควรเปลี่ยนอาชีพไม่เป็นครูบาอาจารย์
ชุมชนเหล่านั้นล้วนเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สังคมของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ยังไม่มีในระบบการศึกษาไทย ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์สงครามกับเพื่อนบ้านโดยรอบจนรบราฆ่าฟันล้มตายไม่รู้กี่หนกี่ครั้ง? ยังไม่จบ
ไดโนเสาร์เต่าล้านปีในโลกยุคดิจิทัล คือคนที่ไม่สามารถลบทิ้งความรู้ล้าหลังที่เคยเล่าเรียนมาก่อน เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ [ดัดแปลงคำบอกเล่าจากผู้อ่านหนังสือของ อัลวิน ทอฟเลอร์]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image