เสียงคนกันเอง เสียงติง รธน. ก่อนถึง ประชามติ

ถ้าเสียงสะท้อนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในทางลบจะมาจากพรรคเพื่อไทย นปช.และกลุ่มคนเสื้อแดง นักวิชาการที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม กปปส. ศิษยานุศิษย์ของ “สมเด็จช่วง” กัลยาณมิตรจากวัดพระธรรมกาย

หรือใครก็ตามที่มีจุดยืนตรงข้าม คสช. มาแต่ต้น

ย่อมมิใช่เรื่องน่าแปลกใจ

แต่หากเสียงสะท้อนในทางลบมาจาก “คนกันเอง” มาจากคนที่เคยร่วมขบวนการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” คนที่จะมากจะน้อยเคยมีส่วนร่วมในม็อบที่เปิดทางให้เกิดการรัฐประหาร

Advertisement

นี่ย่อมต้องรับฟังอย่างตั้งใจ

ยิ่งใกล้ 7 สิงหาคม-วันลงประชามติ

ยิ่งต้องตั้งใจฟัง

Advertisement

 

นักปฏิรูปก่อนเลือกตั้งระดับหัวแถวอย่าง รสนา โตสิตระกูล เริ่มจากแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 30 มกราคม

แล้วยังย้ำในการอภิปรายในหัวข้อ “ทิศทางรัฐธรรมนูญไทยในยุคการปฏิรูป” ของภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม

ตอกย้ำว่า

นี่คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับทุนขุนนาง ตัดการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของภาคประชาสังคม รวมทั้งสิทธิชุมชนและสิทธิของผู้บริโภคหายไปด้วย

มีโอกาสจะก่อให้เกิดความขัดแย้งขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ระหว่างเหลืองกับแดง แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างภาคประชาสังคมกับกลุ่มทุนการเมืองและข้าราชการที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผูกขาดอีกกลุ่ม

ที่เลวร้ายไม่น้อยกว่ากลุ่มทุน “ทักษิโณมิกส์”

 

พรรคประชาธิปัตย์ที่ “รักษาน้ำใจ” กองทัพมาโดยตลอด แสดงจุดยืนที่กระเถิบห่างออกมา

10 เมษายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค แถลงว่า

1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องยืนยันสิทธิการแสดงออกของประชาชน มิเช่นนั้น ประชามติจะเสียเปล่าและไม่ชอบธรรม

2.พรรคไม่เห็นด้วยและไม่รับคำถามพ่วงประชามติที่ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

เพราะ ส.ว.เกิดขึ้นจากกระบวนการสรรหา โดย คสช.เป็นผู้เลือก

3.พรรคไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะจากการประมวลความเห็น

ของสมาชิกพรรค เห็นว่ายังมีข้อเสียมากกว่าข้อดี

เช่นการยกเลิกกระบวนการถอดถอน สิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งทางการศึกษา สาธารณสุข บริการทางกฎหมาย ถดถอย

และเพิ่มอำนาจราชการมากเกินไป

รวมทั้งการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็ทำได้ยากมาก

แต่ที่ยังไม่พูดว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีกระบวนการปัจจัยและสถานการณ์ทางการเมืองอื่นเกี่ยวข้อง

ล่าสุด ประกาศตัวว่าพร้อมออกอากาศในรายการถกข้อดีเสียของร่างรัฐธรรมนูญ

ที่ กกต.จะจัดให้อภิปรายทางโทรทัศน์

ขณะที่ลูกพรรคอย่าง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นั้นล้ำหน้าไปไกลกว่าหลายก้าว

เมื่อกล่าวถึงรายการโทรทัศน์ของ กกต. ว่า สำหรับพรรคคงต้องขึ้นอยู่กับนายอภิสิทธิ์ แต่ตนเชื่อว่าขณะนี้เลยเวลาที่จะออกมาถกกันแล้ว

เพราะประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับเอกสารตัวร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ได้รับเอกสารสรุปสาระสำคัญเลย

สิ่งที่สำคัญที่ต้องส่งเอกสารเหล่านี้ไปยังชาวบ้านให้เขาได้อ่านและพิจารณาด้วยตัวเอง

และขอยืนยันว่าความเห็นแย้งหรือเห็นต่างในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนั้นควรเปิดโอกาสให้มีการถกกันโดยอิสระ

สอดคล้องกับกลุ่มนักวิชาการที่เคยสนับสนุน กปปส. ในนาม “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” อาทิ นายคมสัน โพธิ์คง นายบรรเจิด สิงคเนติ นายอุดม ทุมโฆสิต นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นายสุริยะใส กตะศิลา ฯลฯ

ที่เคยถูก คสช. สั่งระงับการจัดอภิปรายเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

แต่ก็มิได้หยุดแสดงความเห็น

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปในทางลบมากกว่าบวก

 

คําถามคือในเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 3 สัปดาห์

กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะยืนอยู่ที่ใด และเสียงเหล่านี้จะมีผลเพียงใดกับร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามหนล่าสุด

ที่ระบุว่า “ยังไม่ตัดสินใจ” จะลงมติรับหรือไม่รับ

ในการลงประชามติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image