ฉากทัศน์สู่ปกติใหม่ โดย โคทม อารียา

คำว่า ‘ปกติใหม่’ หรือ ‘new normal’ น่าจะหมายถึงยุค ‘หลังโควิด-19’ คือเมื่อโลก (มิใช่ประเทศใดหรือบริษัทใดโดยเฉพาะ) มีวิธีตรวจ-ติดตามผู้ป่วยโรคโควิด- 19 ที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง มียารักษาโรคที่รักษาหายหรือทำให้อัตราเสียชีวิตต่ำ และมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัส SARS-Cov-2 ได้อย่างมีประสิทธิผล คือสร้างภูมิคุ้มกันมิให้คนที่ฉีดวัคซีนแล้วกลัวว่าจะติดเชื้อไวรัสนี้ และมีระบบการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงทั้งหลายอย่างทั่วถึง หากเป็นเช่นนี้ ชีวิตจะกลับมาสู่ความปกติ ทั้งชีวิตสังคม เศรษฐกิจและการเมือง และเข้าใจกันว่าความปกติที่ว่านี้ จะไม่เหมือนความปกติก่อนการระบาดของโควิด-19

หลายคนอยากเร่งให้เกิดภาวะปกติใหม่โดยเร็ว เนื่องจากภาวะไม่ปกติอันเนื่องมาแต่โควิด-19 ทำให้เกิดความเสียหายและความปั่นป่วนมากมาย แต่กว่าจะได้วัคซีนที่มีผลข้างเคียงน้อย และไม่เอื้อให้ไวรัสกลายพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ในขณะที่นักการเมือ

ใหญ่ของประเทศที่ยิ่งใหญ่บอกว่าสิ้นปี 2563 ประเทศเขาจะมีวัคซีนแล้ว ในระหว่างที่รอ สังคมโลกรวมทั้งสังคมไทยน่าจะต้องเผชิญการระบาดระลอกสอง ระลอกสาม … เพราะเมื่อใดที่เปิดพรมแดน ให้ผู้คนไปมาหาสู่ ค้าขาย ท่องเที่ยว ฯลฯ ไวรัสก็อาจกลับมาใหม่

แล้วทำไมผมจึงชวนให้คำนึงถึงและใคร่ครวญเรื่องฉากทัศน์ (scenario) หลังยุคโควิด -19 กันในตอนนี้ ขณะที่เราอยู่ท่ามกลางยุคโควิด-19 อย่างแทบจะมองอนาคตอันใกล้ก็ยังไม่ชัด ที่ผมชวนให้คิดถึงภาพอนาคต หรือคิดถึงฉากทัศน์ที่เป็นฉากแห่งพัฒนาการสู่ภาพอนาคตนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อว่า เราเล่นบอลกันเป็นทีมได้ กองหน้าพยายามตรึงเจ้าไวรัสไว้ในทำนองป้องกันการระบาด กองกลางกำลังคิดและให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ที่รัฐบาลบอกว่าจะช่วยแบบปูพรม คือช่วยทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง นโยบายที่ตามมาน่าจะเป็นการฟื้นฟู หรือการค่อย ๆ ประคับประคองให้กลับสู่ภาวะเกือบปกติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็ต้องคำนึงถึงการโจมตีกลับของไวรัสในระลอกถัด ๆ ไป สุดท้ายน่าจะมีบางคนที่เป็นเหมือนกองหลัง รักษาประตูหรือถือหางเสือ ให้เห็นราง ๆ ว่า เราจะไปทางไหนกันดีในระยะยาว

Advertisement

ฉากทัศน์ที่ดี เป็นการศึกษาจากการรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก จากประสบการณ์ของนานาประเทศ จากการสอบถามทั้งผู้นำและสามัญชน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งกระบวนการและเป้าหมายหรือภาพอนาคต ที่เป็นไปได้ (plausible) สักสี่ฉากทัศน์ ที่จะใช้เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าจะดำเนินการให้ได้ผล ควรมีการดำเนินการเพื่อนำเสนอฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ดังกล่าวต่อผู้นำและสาธารณชนอย่างกว้างขวาง หากจะทำเช่นนี้ ต้องใช้เวลาพอสมควร ต้องมีความเข้าใจในเบื้องต้นถึงความจำเป็นในการพัฒนาฉากทัศน์ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคม

ผมเพิ่งอ่านบทความ ‘โลกยุคใหม่ อิทธิพล OTT” ของฐากร ตัณฑสิทธิ์ และชุติพงศ์ กี่สุขพันธ์ บทความอธิบายว่า OTT ย่อมาจากคำว่า Over-The-Top ซึ่งหมายถึงบริการเหนือโครงข่ายโทรคมนาคม บริการส่วนใหญ่ได้แก่สื่อสังคมออนไลน์นั่นเอง ผู้เขียนบทความเชื่อว่า OTT ทำให้สังคมเปลี่ยนไป จากเดิม ‘เมื่อเห็นแล้วจึงเชื่อ’ คือ สิ่งไหนที่ไม่เห็น มักจะไม่เชื่อว่าจริง มาเป็นสังคมยุคดิจิตัลหรือยุค OTT ที่สังคม ‘เมื่อเชื่อแล้วจึงเห็น’ คือ วาทกรรมที่แทรกอยู่ในข่าวสารข้อมูล การโฆษณา การรายงานข่าวโดยผู้ประกาศหรือโฆษกยอดนิยม ดาราหรือเน็ตไอดอล การผลิตยูทูปหรือคลิปวีดิโอที่ go viral (ระบาดอย่างรวดเร็วเหมือนไวรัส) ฯลฯ ทำให้เกิดการแชร์ที่ลึกและแคบลง ในหมู่คนที่เชื่อเหมือน ๆ กัน ที่จะเลือกบริโภคข้อมูลที่ตรงกับความเชื่อของตน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เชื่อแล้วจึงเห็นข้อมูลที่ชอบจะรับนั่นเอง

ฉากทัศน์หลังยุคโควิดมีความสำคัญมาก จึงไม่อยากให้เกิดฝ่ายที่เชื่อเสียก่อนแล้ว จึงปิดการรับข่าวสารที่ไม่ตรงกับวาทกรรมที่เลือกชอบ ในที่สุดฉากทัศน์จะขาดพลังในการเปลี่ยนแปลง เพราะจะตกอยู่ในการยื้อยุดของฝ่ายต่าง ๆ มากไป เพราะเชื่อเสียก่อนแล้วในโลกทัศน์ ในอุดมการณ์ทางการเมือง ในผลประโยชน์ที่เล็งเห็น ฯลฯ ฉากทัศน์ก็สลายตัวไปเป็น ‘ยุทธศาสตร์’ ของกลุ่มผู้มีอำนาจเหนืออย่างน่าเสียดาย เพื่อให้ฉากทัศน์มีพลัง ต้องเสนอภาพอนาคตที่เป็นไปได้และมีความแตกต่างที่ชัดเจน และที่สำคํญคือมีการศึกษาและมีข้อมูลที่ช่วยให้เห็นข้อดีข้อเสียของแต่ละฉากทัศน์ที่สมจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือก และเพื่อช่วยในการจดจำทางเลือก ควรมีการคิดค้นชื่อแบบสนุก ๆ ให้แก่ฉากทัศน์แต่ละฉากด้วย ในบรรดาฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ ถ้าเกิดความคิด เกิดตรรกะ ที่ทำให้อยากเลือกฉากทัศน์ฉากหนึ่ง ซึ่งจะกลายเป็นฉากทัศน์ที่พึงปรารถนา เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อสังคมไทยเชื่อว่าฉากทัศน์นั้นพึงปรารถนา สังคมก็เห็น แล้วจึงช่วยกันทำให้เป็นจริง เมื่อนั้น ฉากทัศน์จึงจะเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

Advertisement

การพัฒนาฉากทัศน์ต้องใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นความชอบธรรม ตัวเงิน การมีองค์กรรองรับ การมีบุคลากรและการนำ ปัจจัยที่จำเป็นคือเวลาและความสามารถในการจุดความคิดให้ระบาดไปในสื่อสังคมออนไลน์ ที่กล่าวมานี้ ผมไม่มีสักอย่างเดียว แต่กระนั้นผมก็นึกถึง กรณีที่บริษัทเชลล์เคยพัฒนาฉากทัศน์ ที่ช่วยให้ผู้นำโลกเลือกตลาดเสรีแทนการตั้งกำแพงภาษี และเตรียมการล่วงหน้าที่จะรับมือวิกฤตราคาน้ำมัน ส่วนกระบวนการสร้างฉากทัศน์ มีชื่อว่ากระบวนการม็องต์เฟลอร์ที่เคยช่วยการเปลี่ยนผ่านของแอฟริกาใต้ให้ออกจากระบอบแยกผิว ก็ประสบความสำเร็จไม่มากก็น้อย เดิมพันของสังคมไทยในการสร้างความปกติใหม่หลังยุคโควิด-19 นั้นสำคัญมาก ดังนั้น ถึงแม้ผมจะไม่มีทรัพยากรที่จำเป็น แต่ก็อดไม่ได้ที่จะทำตัวเป็นเหมือน ‘นกโง่บินก่อน’ คือขอเสนอความคิดที่ขาด ๆ วิ่น ๆ เพื่อให้คนส่วนใหญ่หยิบขึ้นมาพิจารณาแล้วโยนทิ้งไป เพราะมีความคิดที่ดีกว่า

ก่อนอื่น ขอตั้งแกนสองแกน แกนหนึ่งเป็นทางเลือกทางการเมืองที่ต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งสังคมไทยยังลังเลตลอดเวลาว่าจะไปทางไหนดี จึงกลับไปกลับมาระหว่างสองทางเลือกนี้ ทางเลือกที่หนึ่งคือ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม มีระบอบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เป็นหลัก ทางเลือกที่สองคือประชาธิปไตยแบบชี้นำ (guided democracy) มีระบอบรัฐสภากึ่งเลือกตั้ง/กึ่งแต่งตั้ง มีข้าราชการและหน่วยงานที่ราชการจัดตั้ง/สนับสนุน และมีองค์กรชุมชนเป็นหลัก

แกนที่สองเป็นทางเลือกทางเศรษฐกิจ ทางเลือกที่หนึ่งคือเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์ ที่เน้นการบริโภค การเติบโต การลงทุน โดยมีตลาดโลกเป็นหลักในด้านอุปสงค์และอุปทาน ทางเลือกที่สองคือ เศรษฐกิจใกล้บ้าน (proximity) ที่เน้นภูมิคุ้มกัน ความมั่นคงทางอาหาร การออมและการกระจายรายได้ โดยมีตลาดในประเทศและในภูมิภาคเอเซียตะวันออกและเอเซียใต้เป็นหลัก

เมื่อได้ตัวแปรหลักเป็นแกนดังกล่าวแล้ว เราสามารถให้คำบรรยายเบื้องต้นถึงฉากทัศน์สี่ฉาก ตามการเลือกทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ โดยจะจะขอเขียนเป็นตารางโดยสังเขปดังนี้

แน่นอนว่าข้อความที่ใส่ในตารางยังไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองเท่าที่ควร ข้อความที่ดีกว่าจะต้องแสดงลักษณะเฉพาะของฉากทัศน์นั้น ๆ และช่วยให้เห็นความแตกต่างที่สำคํญระหว่างฉากทัศน์ อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นวิธีการพัฒนาฉากทัศน์วิธีหนึ่ง คือวิธีการตั้งแกนตัวแปรหลัก จะขอเขียนเป็นกราฟดังต่อไปนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image