กระจายอำนาจ จิ๊กซอว์ที่หายไปในระบบสุขภาพไทย โดย วรวุฒิ บุญเพ็ญ

ในแวดวงของสาธารณสุขปัจจุบันนี้ เมื่อกล่าวถึงชื่อโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ก็จะมีมุมมอง เรื่องราวและคำวิพากษ์ต่างๆ นานาเป็นที่น่าสนใจหลายประเด็นที่เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการ การพัฒนาองค์กร ระบบให้การบริการต่อผู้รับบริการ (ชุมชน) มาตรฐานทางการแพทย์ การมีส่วนร่วมการสนับสนุนของชุมชนที่หลากหลายมิติ จนเป็นที่กล่าวถึงในสังคมปัจจุบัน

สภาพของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ในอดีตมีสภาพเหมือนกับโรงพยาบาลทั่วๆ ไปที่เป็นอยู่ในสังคมไทย

การให้บริการ เป็นเมนูของโรงพยาบาล จัดให้แก่ประชาชน (ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการ)

การให้บริการ ถือเป็นหน้าที่ของแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ที่จะจัดให้แก่ประชาชน

Advertisement

การให้บริการละเลยต่อการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และสิทธิต่างๆ ของผู้รับบริการ

นับตั้งแต่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ซึ่งออกนอกระบบในปีงบประมาณ 2543 จนถึงปัจจุบัน ยังมิได้เคยรับการอุดหนุนงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขแต่ประการใด นอกเสียจากงบเหมาจ่าย

รายหัวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นค่าประกันสุขภาพรายหัวแบบเหมาจ่ายตรง ตามระบบการบริหารจัดการ

Advertisement

ขณะที่ในส่วนของการก่อสร้างอาคารนั้น เพิ่งจะมีในปีงบประมาณ 2558 ที่ได้การจัดสรรงบลงทุนจากรัฐบาลสร้างอาคาร 10 ชั้น จำนวน 228 ล้านบาท โดยที่ภาคประชาชนต้องบริจาคสมทบอีกเป็นเงิน 97.7 ล้านบาท รวมเป็นเงินก่อสร้าง 325.7 ล้านบาท

จากอดีตที่เริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลชุมชนบ้านแพ้วที่มีเพียงอาคารอำนวยการและเรือนพยาบาลขนาด 10 เตียง (ในปี พ.ศ.2508) ปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง

มีอาคารรองรับการบริการแก่ประชาชนมากถึง 5 อาคาร ทั้งนี้ ไม่รวมถึงอาคารขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างอีก 2 อาคาร มูลค่า 725 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจากเงินบริจาคสมทบของประชาชน

โรงพยาบาลบ้านแพ้วมีสาขาให้บริการแก่ประชาชนมากถึง 3 แห่งในอำเภอบ้านแพ้ว ทั้งนี้ไม่รวมสาขาในเขตกรุงเทพมหานครอีกส่วนหนึ่ง

มีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย อุปกรณ์บางอย่างล้ำยุคนำสมัยเทียบเท่ากับโรงพยาบาลของภาคเอกชน จำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการในแต่ละวัน มีจำนวนมาก 2,500-3,000 คน

มีแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทาง 121 คน มีเจ้าหน้าที่และพยาบาล 1,191 คน มีการจัดสรรให้ทุนการศึกษาต่อสำหรับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ อย่างสม่ำเสมอ

มีรถเคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์การผ่าตัด และทีมผ่าตัดต้อกระจกที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูง พร้อมให้บริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังที่ดำเนินการไปแล้วในประเทศกัมพูชา พม่า และภูฏาน

ผลพลอยได้จากการร่วมกันพัฒนา รพ.บ้านแพ้ว หลังจากเปลี่ยนรูปแบบเป็นโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ

ประโยชน์การพัฒนาด้านกายภาพ ในปัจจุบันส่งผลต่อการพัฒนา มีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาของชุมชนอย่างรวดเร็ว มีการหมุนเวียนแพร่สะพัดทางด้านการเงินอัตราสูงขึ้น

ประโยชน์ทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ประชาชนในพื้นที่ได้รับการบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง

ประโยชน์ทางด้านสังคม ภาคประชาชน มีความตื่นตัว การใช้ทุนทางสังคมสร้างกระบวนการพัฒนาวิถีชีวิตร่วมกัน นำขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม มาสร้างจิตสำนึก ก่อให้เกิดความเอื้ออาทรต่อกัน ดังจะเห็นได้จากการเสียสละทั้งกำลังกาย และทุนทรัพย์ ร่วมกันพัฒนาโรงพยาบาล มีการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานการให้บริการในกิจกรรมต่างๆ ของโรงพยาบาล ที่เรียกว่างาน “จิตสาธารณะ”

มีคำถามว่า ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร? ในโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

คำตอบ เพราะเหตุที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารเป็นโรงพยาบาลในกำกับของรัฐตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เกิดการเปลี่ยนแปลง อาทิ

ระบบการบริหาร

โรงพยาบาลบ้านแพ้วได้รับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารเป็นโรงพยาบาลในกำกับของรัฐตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ด้วยเหตุทางการเมืองที่มีต่อพันธกรณีการกู้เงินจาก ADB ในช่วงปี พ.ศ.2542-2543 ในที่สุดรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ขึ้นในปี พ.ศ.2543 (1 ตุลาคม 2543) เปิดโอกาสให้ภาคประชาชน 3 คน เข้ามาร่วมในคณะกรรมการบริหาร และโดยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร สามารถจัดตั้งที่ปรึกษาจากภาคประชาชน หรืออนุกรรมการจากภาคประชาชนเข้ามาส่วนร่วมในการบริหาร และคณะกรรมการบริหารมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้บริหาร โดยกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง ครั้งละ 4 ปี สามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ

การกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วม

การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารเป็นช่องทางของการสื่อสารสองทาง ระหว่างโรงพยาบาลกับกลุ่มภาคประชาชน บริเวณพื้นที่บริการได้ประโยชน์การสื่อสารข้อมูล ความต้องการ หรือรับฟังเสียงสะท้อนย้อนกลับของการบริหารจัดการต่างๆ ในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี

การใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมนำการพัฒนา

การระดมทุนในพื้นที่ด้วยการนำทุนทางสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อมั่นต่อสถาบันหลักของชาติ รวมถึงเชิญชวนผู้นำทางคณะสงฆ์ ผู้นำภาคประชาชน ปราชญ์พื้นบ้าน มาร่วมการพัฒนาหรือระดมทุนด้วยวิธีการที่หลากหลาย การมีส่วนร่วมในลักษณะองค์กรทางสังคม

การเคารพในสิทธิ/ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

จากอดีตที่บุคลากรของโรงพยาบาล ซึ่งเคยมีความเชื่อว่าตนเองเป็นคนของรัฐ (ข้าราชการ) มีอำนาจ มีบารมี มีสิทธิเหนือกว่าประชาชน ประชาชนเป็นเพียงผู้มารับบริการตามเมนูต่างๆ ที่โรงพยาบาลจัดไว้ ฝ่ายบริหารก็ต้องปรับทัศนคติ ให้เกิดความตระหนักต่อสิทธิของผู้ให้บริการ ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับบริการด้วยความเสมอภาค ที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน (การปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมบริการเหล่านี้เป็นเรื่องยากมากๆ)

การใช้หลักธรรมาภิบาลอยู่ร่วมกัน

ทั้งระบบการบริหารจัดการภายในและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายนอกร่วมกับภาคประชาสังคมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คณะผู้บริหารจะต้องคำนึงและยึดมั่นในหลักของธรรมาภิบาลที่สำคัญๆ ได้แก่ การมีส่วนร่วม, การใช้หลักกฎหมาย, ความโปร่งใส และความรับผิดชอบต่อภารกิจ

แท้ที่จริงแล้ว รูปแบบและลักษณะการบริหารจัดการของโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ มีความใกล้เคียงกับนโยบายประชารัฐ และคำว่า Social enterprise ของรัฐบาลปัจจุบัน

การเป็นโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ (ออกนอกระบบ) เป็นตรรกะที่ทุกๆ ฝ่ายจะต้องยอมรับว่าในโลกนี้ไม่มีระบบบริหารจัดการใดๆ ที่สมบูรณ์ที่สุด ย่อมมีเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน สำคัญที่ระบบใดจะสามารถเสริมสร้างศักยภาพการทำงานของคนในองค์กร ให้เกิดประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล ได้หรือไม่? เพียงใด?

ในทรรศนะของผู้เขียน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งมีส่วนร่วมการพัฒนาระบบและก่อตั้ง

โรงพยาบาลในกำกับของรัฐที่มีชื่อโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) มีความเชื่อมั่นว่าการออกนอกระบบได้เปรียบและมีโอกาสการพัฒนาได้รวดเร็วกว่า โรงพยาบาลที่บริหารจัดการระบบราชการปกติ ด้วยเหตุผล

1.โรงพยาบาลยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐ ทรัพย์สินเป็นของรัฐ

2.มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล มีความอิสระคล่องตัวในการบริหารจัดการ

3.บริหารโดยองค์คณะบุคคล ประชาชนมีส่วนร่วม มีอำนาจในการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เอง

4.ตอบสนองนโยบาย และอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ

5.การบริหารและดำเนินงานด้วยระบบธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มีประสิทธิภาพ บังเกิดประสิทธิผล ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถยุบและเลิกได้ตามสถานการณ์

6.การบริการสาธารณสุข มีชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพัน จึงต้องการความรวดเร็ว คล่องตัว เป็นการบริหารแนวระนาบ ลดความซ้ำซ้อน ความล่าช้า งบประมาณการดำเนินงานบริหาร หากมีเหลือสามารถนำมาพัฒนาโรงพยาบาลต่อไปได้ ไม่ต้องคืนคลัง สามารถระดมทุนได้คล่องตัวกว่า

ในอดีตที่ผ่านมามีความพยายามอย่างน้อย 2 ครั้งที่นำจะโรงพยาบาลต่างๆ เข้าสู่ระบบในกำกับของรัฐ ได้แก่ โรงพยาบาลในเขต กทม. (ปัจจุบันกลายเป็นของเอกชน) และโรงพยาบาลป่าตอง จ.ภูเก็ต แต่ไม่บรรลุเป้าหมายได้ ด้วยเหตุปัจจัยที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ

1.นโยบายของผู้บริหารหรือของรัฐ (ต้องกระจายอำนาจ มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจประชาชน)

2.บทบาทผู้นำ ผู้บริหารของ รพ.นั้น ต้องมีวิสัยทัศน์และเจตคติเชิงบวกในการบริหาร

3.การสื่อสารทั้งในองค์กร (บุคลากรของ รพ.) และนอกองค์กร (ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย)

ข้อเสนอแนะ หากจะมีการดำเนินการจริงๆ กระทรวงสาธารณสุขควรจัดตั้งกองทุนหรืองบกลาง พร้อมที่จะให้การสนับสนุนในระยะเริ่มแรกของการดำเนินงาน ไม่ควรเป็นดังที่ รพ.บ้านแพ้วที่เคยเผชิญมาในอดีต

ที่สำคัญ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขควรให้ความสำคัญกับเรื่องของการกระจายอำนาจในระบบสาธารณสุขอย่างจริงจัง ประเทศไทยประสบความสำเร็จมาแล้วกับการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งแรกด้วยการทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า จิ๊กซอว์ที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิคือการกระจายอำนาจ ซึ่งน่าเสียดายที่ในปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นจิ๊กซอว์ที่หายไปในระบบสุขภาพของไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image