‘ถูกใจ’ทำง่าย ‘ถูกต้อง’ทำยาก โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ในโลกนี้ หากวิเคราะห์ชีวิตของคนเราทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ย่อมมีโอกาสตกอยู่ในสามสถานการณ์ต่อไปนี้ คือ 1) สภาวะปกติ 2) สภาวะต่ำลง และ 3) สภาวะดีขึ้น

เจ้าสภาวะที่ว่านี้เป็นผลจากอารมณ์ ความรู้สึกในจิตของมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น คำพูดของ “คน” หรือ “เหตุการณ์” รอบด้านที่เกิดกับหรือกระทำต่อคนคนนั้นจนเกิด 3 สภาวะ สิ่งนี้คือ “กรรม” ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมและถูกต้อง และไม่ถูกใจ จนเกิด 3 สภาวการณ์ แต่สำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า มีอีก 1 ข้อ และข้อ 4 นี้มีความสำคัญมาก มีอิทธิพลสูง จะเรียงลำดับโดยอ้างอิงและยึดโยงระหว่าง “เรา” กับ “เขา” ทั้งพ่อกับลูก แม่กับลูก เจ้านายกับลูกน้อง หรือผู้มีอำนาจกับประชาชน และอธิบายให้เห็นภาพดังนี้

1) เขาอยู่เป็นปกติ เรามี “เมตตา ไมตรี” 2) เขาตกต่ำเป็นทุกข์ เกิดปัญหา เรามี “กรุณา” 3) เขาดีขึ้น สุข สำเร็จ ทำดีทำชอบ เรามี “มุทิตาจิต” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คน” หรือ “มนุษย์” ที่ประเสริฐ ควรต้องมีตัวที่ 4) คือ กรณีที่รักษาความถูกต้อง ชอบธรรม หลักการ กฎเกณฑ์ จรรยาบรรณ ซึ่งเรียกง่ายๆ สั้นๆ คำเดียวว่า “ธรรม”

ธรรมนี้แยกตัวเป็นความจริงความถูกต้อง ความชอบธรรมเป็นหลักการตาม “กฎธรรมชาติ” โดยเป็นความดีที่มีอยู่ตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง และความถูกต้องชอบธรรมที่ยกขึ้นมาจัดตั้ง “บัญญัติ” ไว้ เป็น “กฎของสังคม” เป็น “ข้อบังคับ” เป็น “ระเบียบ” เป็น “วินัย” เป็น “จรรยาบรรณ” นั่นคือ เป็น “กฎหมาย” อย่างหนึ่ง ที่เกิดจาก “คน” ทำให้ “เกิด” เอาไว้ทำไม? เอาไว้ “ปกครองดูแลคน” ในปกครอง ดูแลกันอย่างมีระบบ ระเบียบ “อย่างเท่าเทียมกัน” เพื่อให้ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสงบ ร่มรื่น และเป็นสุข

Advertisement

ความสัมพันธ์ของ “เรากับเขา” ในข้อ 1 ถึงข้อ 3 ไปกระทบกับตัวที่ 4 นี้เข้า คือ ไป “ละเมิด” หรือทำความเสียหายต่อตัว “ธรรม” หรือความถูกต้อง หลักการ กฎเกณฑ์ อะไรต่างๆ นี้เข้า เราจะต้องเอาตัวที่ 4 นี้ไว้ ต้องคำนึง ระลึกถึง และรีบเอามาใช้ในทันที ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างคนหรือบุคคลในข้อ 1-3 จะต้องถูก “ยับยั้ง” เพราะถ้าเราเข้าไปช่วยเขาหรือ “ส่งเสริมเขา” สังคมจะ “เสียหลัก” เช่น ลูกไปลักขโมยของ เขาประสบความสำเร็จในการลักขโมย ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว เราจะไปยินดี ดีใจ ส่งเสริม ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะการที่ลูกประสบความสำเร็จ บ้านเราได้เงินเลี้ยงครอบครัวอย่างนี้ก็คือ เข้าไปกระทบกับสถานการณ์ที่ 4 เป็นการกระทบความเสียหายต่อตัว “หลักการ” หรือ ตัวธรรม ในกรณีที่เรา คือ พ่อแม่ ต้องหยุด ไม่ยินดี ดีใจ ส่งเสริม คำง่ายๆ คือ มีมุทิตากับลูกไม่ได้ “เด็ดขาด” ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ลูกเราไปฆ่าเขามา จะไปสงสารช่วยลูกทุกวิถีทางให้พ้นโทษโดยวิ่งกับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้พิพากษา แล้วผู้พิพากษาช่วยให้พ้นโทษก็ไม่ถูก

เพราะฉะนั้น “ตัวธรรม” คือ “หลักการ ความจริง ความถูกต้อง” ความเป็นธรรม ความชอบธรรม หลักการ กฎเกณฑ์ กติกาของสังคม จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม อันนี้คือ หลักการของข้อที่ 4 ถ้าตัวนี้เข้ามาถือว่า “ยิ่งใหญ่” “สำคัญมาก” และสำคัญเหนือกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” จะต้องรักษาไว้ให้ได้ จึงต้องยับยั้งข้อ 1-3 มาเข้าข้อที่ 4 โดยต้องมี “อุเบกขา” คือ “วางใจให้เป็นกลาง” ไม่เข้าไปก้าวก่ายให้เสียธรรม เพื่อจะให้คนคนนั้นรับผิดชอบต่อ “ตัวธรรม” “ตัวหลักการ” กฎเกณฑ์ ความถูกต้องชอบธรรมนั้น โดย “ตัวเรา” ก็ต้องคอยดูแล เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมหรือให้ธรรมคงอยู่ แต่ส่วนใดที่จะเอาไปเมตตากรุณาช่วยได้โดยไม่ผิดธรรม ก็จะทำให้ อันนี้คือข้อ “อุเบกขา”

“อุเบกขา” นี่ยากที่สุดของคน “มนุษย์” ต้องมี “ปัญญา”

Advertisement

แต่สำหรับคนที่อยู่ในสถานการณ์ตามข้อ 1,2,3 ไม่ต้องใช้ปัญญาสักเท่าไร เพราะเป็นเพียงท่าทีระหว่างบุคคล ทำไปได้ง่าย โดยใช้ความรู้สึกตามสถานการณ์ แต่ข้อที่ 4 คือ “อุเบกขา” นี่ ถ้าไม่มี “ปัญญา” ทำไม่ได้ “อุเบกขา” มักจะแปลกันว่า “เฉย” ถ้าเฉยโดยไม่ใช้ปัญญา ท่านเรียกว่า “เฉยโง่” ตามคำพระว่า อัญญาณุเบกขา เฉยโง่เป็นอกุศลเป็นบาป ได้แก่ เฉยไม่รู้เรื่อง แล้วก็เฉยไม่เอาเรื่อง ปล่อยมัน ช่างมัน ก็เลยเฉยไม่ได้เรื่อง

ถ้าเป็นคนมีอุเบกขาถูกต้อง ก็จะเฉยรู้เรื่อง คือรู้ว่าตอนนี้จะต้องทำอย่างไร วางตัวอย่างไรถึงจะถูก เพื่อให้ได้ความถูกต้องชอบธรรมให้ทุกสิ่งเป็นไปด้วยดีตามธรรม ก็จึงเฉยเอาเรื่อง และเฉยได้เรื่อง แม้แต่พ่อแม่เลี้ยงลูก ถ้าเลี้ยงลูกไม่เป็น ลูกจะไม่รู้จักโต ไม่มีความรับผิดชอบ ได้แก่ พ่อแม่บางคนที่มีแต่เมตตากรุณา หรือบางคนมีแต่เมตตากรุณา 3 ข้อ ขาดอุเบกขา ก็โอ๋ลูก เอาใจลูก กลัวลูกจะลำบาก กลัวลูกจะเจ็บ กลัวลูกจะเหนื่อยจะเมื่อยก็เลยทำให้แทบหมด หรือทำให้ทุกอย่าง ลูกทำอะไรผิดๆ ก็ออกตัวจะปกป้องลูกทุกอย่าง ซ้ำยุให้ทำอีกจนทำให้ลูกทำอะไรไม่เป็น จนทำให้ลูกไม่รู้ไม่เข้าใจ แยกแยะชั่วดี ดีชั่วไม่ได้ ไม่ถูกต้อง เข้าใจผิดๆ นี่คือ ต้องวางตัวอุเบกขาบ้าง ซึ่งเป็นการให้โอกาสเขาได้พัฒนาตัวเอง โดยให้เขา “รับผิดชอบ” ตัวเอง ถ้าเราดูการวางอุเบกขาต่อ “ลูก” จะแยกได้ 3 รูปแบบ คือ

1) เมื่อจะต้องให้เขาหัดรับผิดชอบตัวเอง เพื่อว่าเขาจะได้ทำอะไรเป็น คือเราต้องใช้ “ปัญญา” พิจารณาดูว่า ตัวนี้เรื่องนี้จะต้องให้เขาหัดทำบ้าง ให้ลำบาก ให้เขาเหน็ดเหนื่อยบ้าง เขาต้องฝึกตัวเอง ต้องลำบากบ้างเป็นธรรมดา แต่เขาจะทำได้และจะเก่งขึ้น จะพัฒนา ไม่ใช่ลูกได้รับการบ้านมาวันนี้ กลัวลูกจะต้องคิดสมองเมื่อย ลูกจะลำบาก พ่อแม่ก็เลยไปทำการบ้านแทน อย่างนี้ก็แย่ ในที่สุดเมื่อกลัวลูกลำบาก มีเมตตากรุณามาก ลูกเลยทำอะไรไม่เป็นเลย ส่วนพ่อแม่เก่งจริงๆ แล้ว เขาจะเมตตา กรุณา มุทิตา ให้ได้สัดส่วนที่มีดุลยภาพกับ “อุเบกขา” การทำอย่างนี้ไม่ใช่เราไม่รักเขา แต่เป็นการ “รักเป็น” หรือ “รักระยะยาว” (ประมาณว่า รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ) “อุเบกขา” แปลว่า คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ มาจาก อุป+อักข, อักข แปลว่า ดู อุป แปลว่าใกล้ๆ หรือคอย รวมกันแล้ว แปลว่า คอยดูอยู่ใกล้ๆ หมายความว่าพร้อมที่จะแก้ไขสถานการณ์แต่ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง เพราะฉะนั้น เมื่อลูกจะต้องฝึกหัดรับผิดชอบด้วยตัวเอง ทำอะไรให้เป็นเอง พ่อแม่จะต้องวางอุเบกขา เมื่อพ่อแม่ใช้ “ปัญญา” ในกรณีที่ 1 รู้จักวางเฉย ลูกจะโตได้ดี

2) เมื่อลูก “กระทำ” การใดๆ ลูกสมควรรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ต่อกฎเกณฑ์ กติกา ข้อนี้ก็เป็นการฝึกหัดเหมือนกัน ครอบครัวเป็นสังคมย่อย ต่อไปลูกเราก็ต้องไปอยู่สังคมใหญ่ หรือเป็นประชาชนของประเทศเขา ต้องเรียนรู้ “ชีวิต” จริง ต้องรู้จักความชอบธรรม ความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นครอบครัวต้องมีกติกา มีกฎเกณฑ์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ต้องมีวินัย ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับตาม “กฎหมาย” ของประเทศชาติ เมื่อลูกหรือเขาทำอะไรถูกหรือผิด เรา (พ่อแม่) ก็ให้เขารับผิดชอบการกระทำของเขานั้นทั้งดีและชั่ว ตามถูกตามผิด ตามกฎเกณฑ์ กติกา กฎเป็นกฎ ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ถ้าจะให้ดียิ่ง พ่อแม่ถ้าลูกทำถูกก็ต้อง “ชม” ยกย่อง ให้รู้ว่านั่นคือถูกต้อง เขาจะได้ภูมิใจ ดีใจ ถ้า “ผิด” ก็ตักเตือน ชี้แนะ บอกกล่าว อย่าดุ พูดดีๆ นิ่มๆ ค่อยๆ บอกเล่า ชี้ทางปฏิบัติที่ถูกต้องคืออะไร ชี้ให้เห็นสิ่งนั้นผิดไม่ควรทำ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น นี่คือพ่อแม่รักลูกถูกทาง ตามที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”  อันนี้เรียกว่ามี “อุเบกขา” ทำให้เราได้รับความเป็นธรรม และรักษาธรรมะไว้ เมื่อเขาสมควรต้องรับผิดชอบ รู้จักชั่วดี ดีชั่ว การกระทำของตน

3) เมื่อเขารับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงต่อภารกิจของเขา เช่น เมื่อลูกโตแล้ว จบการศึกษาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแล้ว แล้วมีงานมีการทำแล้ว เขามีครอบครัวของเขาเอง รับผิดชอบตัวเองได้ “พ่อแม่” อย่าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตของ “ครอบครัว” เขา พ่อแม่บางท่านรักลูกมาก อยากให้ลูกมีความสุข เข้าไปยุ่งจัดแจงในครอบครัวเขา เข้าไปเจ้ากี้เจ้าการว่าลูกอยู่อย่างนี้จึงจะดี ลูกจัดของอย่างนี้จึงจะดี เข้าไปยุ่งครอบครัวเขาจนวุ่นไปหมด จนครอบครัวเขาอยู่ไม่เป็นสุข อย่างนี้เรียกว่าไม่มี “อุเบกขา”

จะเห็นได้ว่า “อุเบกขา” เป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญา และอุเบกขาจะทำให้ครอบครัวอยู่ได้ สังคมดำรงไว้ได้ ชุมชนประเทศชาติรักษาความเป็นธรรม และความชอบธรรมของสังคม ก็จะช่วยให้ครอบครัว ช่วยให้ “ชีวิตคน” พัฒนาไปในทางบวกได้ดีด้วย ถ้า “พ่อแม่” ไม่มี หรือขาดอุเบกขา ลูกจะไม่โต ครอบครัวก็ไม่เป็นสุข

ท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านได้กล่าวในหนังสือรักษาใจผู้ป่วยและพยาบาล ว่า เรื่องนี้มองได้แม้แต่ในระดับ “สังคม” โดยเราได้พบว่า เป็นสังคมที่คนเอาแต่เมตตากรุณากัน ไม่เอาหลักการ ไม่เอาหลักเกณฑ์ ไม่รักษากติกาทางสังคม ในสังคมแบบนี้ คนจะช่วยเป็นการส่วนตัวกันหมด มีความเอื้ออารีกันดี อยู่กันด้วยน้ำใจ มีเรื่องอะไรก็ช่วยเหลือกันเป็นส่วนตัว แต่ “หลักการ” กฎเกณฑ์ กติกาสังคมไม่เอา ไม่รักษา อย่างนี้ก็เสีย ธรรมและหลักการจะถูกทำลายและคนจะอ่อนแอ เพราะไม่ดิ้นรน ขวนขวาย คอยหวังพึ่งคนอื่น ไม่พึ่งตนเอง

ส่วนในบางสังคม คนไม่มีความเอื้อเฟื้อส่วนตัว ไม่ค่อยมีเมตตากรุณากัน เอาแต่หลักการ กฎเกณฑ์ และกติกาสังคม ให้ทุกคนทำให้ตรงตามนั้น ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์ กฎหมายมีอยู่ เธอต้องทำให้ตรงตามนั้น ถ้าไม่ทำตามฉันไม่เอาด้วย ตัวใครตัวมัน สังคมแบบนี้ก็รักษาหลักการไว้ได้ รักษาธรรมไว้ได้ แต่…ขาดความชุ่มชื้น ขาดน้ำใจ ความรู้สึกดีงามทางจิตใจบางทีรักษาสังคมให้อยู่ในหลักการ กฎเกณฑ์ แต่…จิตใจคนเครียด มีปัญหา จิตใจมีทุกข์ เป็นโรคจิตกันมาก

ผู้เขียนเชื่อว่า คนในสังคมไทยเรามีสิ่งที่ดีงดงาม เป็นสังคมที่มีความสงบสุข ร่มเย็น ภายใต้พระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของ “คนไทยเรา” ทั้งชาติ เป็นต้นแบบของการปฏิบัติได้ถูกต้องตามสถานการณ์อย่างมีสัดส่วน มี “คุณภาพ” ของธรรม ที่เรียกว่า “พรหมวิหารธรรม” เป็นระบบ Holistic คือระบบองค์รวม หมายความว่า ต้องทำให้ครบชุด มีคุณภาพทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะข้อ 4 คือ “อุเบกขา” เพื่อรักษาธรรม รักษากฎเกณฑ์ คำว่า “ทำถูกใจทำง่าย ทำถูกต้องทำยาก” นั้น จะไม่เกิดขึ้น และท้ายสุดก็คือ ทำได้ทั้ง “ถูกต้องและถูกใจ” ทำได้ง่าย ทั้งด้วยการมีคุณภาพของธรรม ธรรมข้อแรกรักษาคน (เมตตา กรุณา มุทิตา)

ส่วนธรรมข้อ 4 อุเบกขา เพื่อรักษาธรรม เมื่อคนในกระทบธรรม ต้องรักษาธรรมให้คนหยุด สังคมมนุษย์เราก็จะอยู่ได้โดยมี “อุเบกขา” เป็นตัวคุมกระบวนการให้ความสัมพันธ์ของคนทุกอย่างอยู่ในขอบเขตของธรรม คือความจริง ความถูกต้องดีงาม ส่งผลให้เป็นสังคมไทยที่ร่มรื่น ร่มเย็น และเป็นสุขไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image