ว่าด้วยตุรกี โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

คนตุรกีนั้นเรียกว่าชาวเติร์กเป็นพวกผิวขาว (Corcasian) เดิมจากบันทึกของจีนอ้างว่าเป็นพวกที่อยู่ละแวกเดียวกับชาวมองโกลในที่ราบสูงมองโกเลียเป็นพวกที่ร่อนเร่บนหลังม้าตามฝูงสัตว์เลี้ยงไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับพวกมองโกลและได้มาตั้งถิ่นฐานทางตอนใต้ของคาบสมุทรอนาโตเลียหรือที่เรียกว่าเอเชียไมเนอร์ ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกของทวีปเอเชีย คาบสมุทรอนาโตเลียนี้เป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชียตั้งแต่ยุคโบราณ ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นเส้นทางสำหรับการเดินทางไปมาระหว่างยุโรปและเอเชีย ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิโรมันเป็นเวลานาน ใน พ.ศ.1614 พวกเติร์กก็สามารถรบชนะจักรวรรดิโรมันตะวันออกได้ที่ยุทธภูมิเมืองแมนซิเคิร์ต (เมืองมาลาสกิร์ตในตุรกีปัจจุบัน) ถือเป็นการจบอิทธิพลของจักรวรรดิโรมันตะวันออกในคาบสมุทรอนาโตเลียตั้งแต่นั้นมา พวกเติร์กได้สถาปนาจักรวรรดิเซลจุกเติร์กอันยิ่งใหญ่แต่ก็ถูกพวกมองโกลปราบจักรวรรดิเซลจุกเติร์กลงใน พ.ศ.1737

หลังจากนั้นอีกร่วมร้อยปีใน พ.ศ.1842 พวกเติร์กก็ได้สถาปนาจักรวรรดิออตโตมานเติร์กขึ้นอีกและขยายอำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง โดยทำลายจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ลงเมื่อ พ.ศ.1996 (สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา) และยืนยงอยู่ได้ถึง พ.ศ.2466 สิริรวมอายุจักรวรรดิออตโตมานนั้นยืนยาวถึง 624 ปี (มีเรื่องที่น่าสนใจเรื่องสถาบันทหารของจักรวรรดิออตโตมานโดยเฉพาะทหารรักษาพระองค์ของสุลต่านที่เรียกว่าแจนิสซารี ซึ่งสุลต่านได้สร้างระบบโรงเรียนเฉพาะเพื่อคัดเลือกเด็กชายอายุระหว่าง 8-18 ปีไม่จำกัดเชื้อชาติหรือศาสนาที่มีแววฉลาดเฉลียว เด็กชายเหล่านี้ถูกคัดเลือกทั้งจากหมู่เชลยของดินแดนที่ออตโตมานมีชัยชนะ โดยการคัดเลือกนี้อาจจะมีทุกปี หรือทุกๆ 5 ปี แล้วแต่ความจำเป็น ข้าราชการออตโตมานจะไปท่องเที่ยวทั่วทั้งบอลข่านและเลือกเด็กชายที่ฉลาดและเข้มแข็งนำมาฝึกฝนอย่างเข้มงวดในโรงเรียนดังกล่าว ให้จงรักภักดีต่อสุลต่านแต่เพียงผู้เดียวและต้องเปลี่ยนศาสนาเป็นมุสลิมซุนหนี่ด้วย


จักรวรรดิออตโตมานในอดีต

ซึ่งกองทหารแจนิสซารีเป็นกำลังสำคัญในกองทัพของจักวรรดิในช่วงการขยายตัวของจักรวรรดิออตโตมานแต่ภายหลังกลับเป็นปัญหาความไม่สงบกระด้างกระเดื่องจนต้องปราบปรามและยกเลิกไปในช่วงหลังของจักรวรรดิ)

Advertisement

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลงจักรวรรดิออตโตมานตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จึงตกอยู่ในสภาพเดียวกับจักรวรรดิเยอรมนี จักรวรรดิรัสเซียและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี คือถูกแยกส่วนเสียดินแดนไปอย่างมากมายจนจักรวรรดิต้องล่มสลายไปทั้ง 4 จักรวรรดิ ซึ่งมีเพียงจักรวรรดิออตโตมานที่ไม่ยินยอมตามสนธิสัญญา Sevres ที่จะตัดแบ่งคาบสมุทรอนาโตเลียออกเป็นส่วนๆ เนื่องจากชาวเติร์กถือว่าคาบสมุทรอนาโตเลียคือดินแดนถิ่นกำเนิดของชาติเติร์กจึงมีการรบต่อไป ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องมอบให้ประเทศกรีซเป็นคู่สงครามกับชาวเติร์กผู้รักชาติภายใต้การนำของมุสตาฟา เคมาล โดยสัญญาให้กรีซได้รับดินแดนฝั่งกรุงคอนสแตนตินติโนเปิล ซึ่งเป็นเมืองหลวงขององค์สุลต่านจักรวรรดิออตโตมาน รวมทั้งชายฝั่งเอเชียไมเนอร์ที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ ปรากฏว่าฝ่ายทหารของมุสตาฟา เคมาล ชนะ และจัดตั้งรัฐบาลอิสระที่กรุงอังการา เมืองหลวงแห่งใหม่ หลังจากนั้นจึงไปบังคับให้สุลต่านเมเหม็ดที่ 6 ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลสละบัลลังก์ สถาปนาสาธารณรัฐตุรกี แล้วเปลี่ยนชื่อกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นอิสตันบูล ปฏิรูปประเทศและสังคมให้เหมือนอย่างยุโรปโดยประกาศให้ตุรกีเป็นรัฐฆราวาสคือแยกรัฐกับศาสนาออกจากกันโดยเด็ดขาด


มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี

ที่สำคัญที่สุดคือรัฐบาลของมุสตาฟา เคมาล ได้จัดการให้มีการแปลพระคัมภีร์อัลกุรอ่านจากภาษาอาหรับโบราณมาเป็นภาษาเติร์ก เพื่อที่ชาวบ้านจะได้อ่านหาความรู้ทางศาสนาเองได้ไม่ต้องนับถือศาสนาอย่างงมงายและยังได้สร้างประมวลกฎหมายแบบตะวันตกยกเลิกศาลศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนการเขียนตัวอักษรจากตัวอารบิคมาเป็นตัวโรมัน (เหมือนมาเลเซียและอินโดนีเซียเพื่อนบ้านของไทยนั่นแหละครับ)

Advertisement

ครับ ! รัฐบาลมุสตาฟา เคมาล ได้พยายามเปลี่ยนแปลงประเทศตุรกีให้เป็นไปตามแนวการพัฒนาของประเทศทางตะวันตกเช่นเดียวกับรัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยเมจิและรัฐบาลไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งแนวทางของประเทศตะวันตกที่เจริญแล้วทางการเมืองก็คือการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยสาธารณรัฐตุรกีได้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2466 และมีการเลือกตั้งติดต่อกันเรื่อยมา ถึงแม้ว่าจะมีการรัฐประหารถึง 6 ครั้ง ในช่วงเวลา 93 ปีของสาธารณรัฐตุรกี (แพ้ประเทศไทยหลุดลุ่ยเลยครับ)

แต่ท่านผู้อ่านที่เคารพเชื่อไหมครับว่าในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2557 ศาลในกรุงอังการาของตุรกีได้ตัดสินลงโทษอดีตนายทหาร 2 คน คือ พล.อ.เคนาน เอฟเรน อายุ 96 ปี และ พล.อ.อ.ทาร์ซิน ซาหินกายา อายุ 89 ปี ซึ่งเป็นผู้ก่อการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2523 โดยให้จำคุกคลอดชีวิตในข้อหาว่าก่ออาชญากรรมต่อรัฐ เนื่องจากวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2523 พล.อ.เคนาน เอฟเรน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็นำคณะทหารเข้ายึดอำนาจโดยอ้างว่าเพื่อจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คณะทหารได้การประกาศกฎอัยการศึก พล.อ.เอฟเรนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วน พล.อ.อ.ทาร์ซิน ซาหินกายา เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศและเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคง ได้เป็น 1 ใน 5 ของผู้นำทหารที่ก่อการรัฐประหาร

จากนั้น คณะรัฐประหารได้ก่อให้เกิดยุคแห่งอำนาจเถื่อน โดยการกวาดล้างจับกุมประชาชนทั่วประเทศหลายแสนคน มีรายงานว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีถึง 230,000 คน และมีการประหารชีวิต 50 คน ผู้ถูกจับกุมจำนวนมากถูกซ้อมและทรมาน มีผู้สูญหายนับหมื่นคน ซึ่งการพิพากษาของศาลเมื่อ 2 ปีที่แล้วทำให้ชาวตุรกีมั่นใจว่าต่อไปจะไม่มีการรัฐประหารโดยทหารอีกต่อไปแล้ว แต่ก็มีความพยายามที่จะก่อรัฐประหารขึ้นจนได้ตามข่าวที่กำลังครึกโครมอยู่ในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image