บทเรียนโควิด 19 เปิดพื้นที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น โดย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

ต้องยอมรับว่า ด้านหนึ่งของการบริหารจัดการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (Corona Virus) หรือโควิด-19 นั้น เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และรวมไปถึงการบริหารจัดการป้องกันการแพร่ระบาดของแต่ละจังหวัด โดยมีมาตรการป้องกันในแต่ละพื้นที่อย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการวางนโยบายจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นศูนย์บัญชาการของรัฐบาล เพื่อวางกรอบมาตรการต่างๆ ในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างที่รับรู้กันอยู่

ผมจึงเห็นว่าทั้งการวางมาตรการของ ศบค.และการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในระดับพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และหน่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน จึงทำให้คนในประเทศของเราได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อและตายน้อยกว่าหลายประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นผลมาจากการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดีจนได้รับคำชมจากหลายประเทศเช่นกัน

โดยเฉพาะการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน การเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้คน (Social Distancing) และหมั่นล้างมือบ่อยๆ หรือมีสโลแกนว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และที่สำคัญ เมื่อมีการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วม เราก็ได้เห็นวิธีคิด วิธีการจัดการตนเอง ที่ถูกออกแบบป้องกัน ควบคุม อย่างหลากหลายรูปแบบตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เป็นต้นว่า การปิด-เปิดหมู่บ้านชุมชนของแต่ละพื้นที่ การตรวจสอบคนเข้าออกพื้นที่ และการกักตัวกันเองภายในชุมชนหมู่บ้าน รวมไปถึงการกระจายอำนาจให้จังหวัดตัดสินใจกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันโรคกันเอง เช่น การปิด-เปิดพื้นที่ ห้างร้าน และสถานที่ต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เห็นว่าเป็นการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นไปในตัว

ผมจึงเข้าใจว่า เมื่อรัฐบาลเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ของแต่ละพื้นที่แล้ว เป็นผลทำให้ได้เห็นถึงวิธีคิด วิธีการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การพึ่งตนเองได้ เพราะเราได้เห็นเรื่องราวโครงการและกิจกรรมดีๆ จนบางอย่างกลายเป็นนวัตกรรมของชุมชนท้องถิ่นที่คิดค้นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการผนึกกำลังกันของกลุ่ม องค์กรภาคประชาสังคม อสม. เพื่อให้ความช่วยเหลือ แบ่งปัน ทั้งปัจจัยอาหาร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

Advertisement

นับเป็นวิธีการที่ช่วยลดภาระของรัฐบาลและส่วนราชการจากส่วนกลางได้ ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง รัฐบาลและส่วนราชการไม่จำเป็นต้องแบกภาระความรับผิดชอบไว้ทุกเรื่อง แต่ควรให้ชุมชนท้องถิ่น อปท.และภาคประชาสังคม ช่วยแบ่งเบาภาระ ซึ่งถือเป็นวิธีการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น

ความจริงการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น เป็นการกระจายการมีส่วนร่วมตัดสินใจลงไปสู่ชุมชนทั้งในระดับ กลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ ระดับท้องที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.และกลุ่มองค์กรชุมชน ซึ่งมิใช่พูดถึงเพียงแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ อปท.เองจะเป็นหน่วยกลไกการบริหารกลางของชุมชนท้องถิ่นที่ต้องเชื่อมประสานกับทุกภาคส่วนอย่างแข็งขัน

ผมจึงเสนอว่า ภายใต้สถานการณ์โรคโควิดและภายหลังโรคโควิด-19 รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและ อปท. โดยเพิ่มอำนาจการตัดสินใจเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาและช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาล โดยการเสนอแนวทางดังนี้

Advertisement

ประการแรก ต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำระบบฐานข้อมูลของชุมชน โดยให้จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำระบบฐานข้อมูลชุมชนหมู่บ้าน ตำบล ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน หรือกรรมการชุมชน อสม. รพ.สต. โดยมี อปท.เป็นแกนกลางในการประสานการจัดทำระบบฐานข้อมูล ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าชุมชนท้องถิ่นย่อมรู้ข้อมูลบุคคล กลุ่มต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นคนยากจน คนว่างงาน บุคคลอยู่ในภาวะยากลำบาก บุคคลที่พึ่งตนเองไม่ได้ จะทำให้ได้ฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ดีกว่าข้อมูลที่ได้จากรัฐบาลและส่วนราชการซึ่งอยู่ไกลฐานข้อมูลและปัญหา และข้อมูลส่วนกลางรวมทั้งการลงทะเบียนข้อมูลไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาในการเยียวยาประชาชน เพราะเปิดให้ลงทะเบียนในการเยียวยาทีไร ก็จะมีปัญหาเรื่องร้องเรียนของประชาชนทุกครั้ง

“การลงทะเบียนข้อมูลโดยส่วนกลาง (ราชการ) ถือเป็นความล้มเหลวของการจัดทำฐานข้อมูลของรัฐบาล” เป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปในแต่ละครั้งเท่านั้น ขาดระบบการจัดการฐานข้อมูล ซึ่งถือว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูประบบฐานข้อมูลของประชาชนโดยให้ อปท.เป็นแกนหลักที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลและส่วนราชการ ซึ่งในอนาคตเห็นว่ารัฐบาลต้องหาวิธีการจัดทำระบบข้อมูลบุคคลให้มีความทันสมัย คล่องตัว และถูกต้องตรงเป้าหมาย

ประการที่สอง การพัฒนาพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นในอนาคตต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะเห็นว่าชุมชนท้องถิ่น และ อปท. มีฐานข้อมูลของประชาชนและครอบครัวในชุมชนของตนเอง ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการได้ดีกว่า รวดเร็วกว่า และที่สำคัญเราจะพบว่าในสถานการณ์โควิด เราได้เห็นการออกแบบวิถีควบคุมป้องกันโรคโควิดหลากหลายรูปแบบได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้วิถีใหม่ในการดำรงชีวิตอยู่ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีทางเลือก เช่น เลือกที่จะดำเนินชีวิตแบบความพอเพียง ยึดแนวทางวิสาหกิจชุมชน และแนวทางอื่นๆ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของบริบทของแต่ละชุมชน ทั้งทุนทางทรัพยากรและทุนทางสังคม เป็นหลัก

ประการที่สาม การให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทบจากโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการให้อำนาจแก่ อปท.ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือเยียวยา โดยการสนับสนุนเงินงบประมาณให้แก่ อปท.ตามสัดส่วนประชากร เพื่อไปช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ที่ถูกกระทบโดยตรง ซึ่งเห็นว่าจะดำเนินการได้ตรงเป้าหมายและทันท่วงที ทั้งนี้ อปท.ต้องมีฐานข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งจะทำให้ลดช่องว่างและตอบโจทย์ปัญหาความต้องการได้ดีกว่ารัฐบาลและส่วนราชการ

ผมจึงเห็นว่าโจทย์ประเทศหลังโรคโควิด-19 รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและ อปท.ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะการตัดสินใจควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 และออกแบบการแก้ไขปัญหาของประชาชนและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย ซึ่งเราจะได้เห็นศักยภาพและความสามารถในการจัดการตนเองของแต่ละชุมชนท้องถิ่นและแต่ละ อปท.ว่าเป็นอย่างไร ประชาชนจะเป็นผู้ตรวจสอบ อปท.ของตนเองในที่สุด และนี่คือการเปิดพื้นที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image