คนตกสี : ‘ปันสุข’และ‘เฉลี่ยทุกข์’ : โดย กล้า สมุทวณิช

แม้ว่าเราจะคิดต่างเห็นต่างกันในเรื่องบทบาทของรัฐ และหน้าที่ของปัจเจกในการแก้ปัญหาของส่วนรวม แต่สุดท้ายเมื่อวิกฤตมาถึงระดับที่รุนแรงเฉียบพลันระดับที่ ถ้าไม่ช่วยจะมีคนอดตาย หรือปลิดชีพตัวเองแบบเห็นกันจริงๆ เราก็ละวางอุดมคติเหล่านั้นได้ทุกฝ่ายฝั่ง

ส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศเราไม่ตกไปสู่ภาวะวิกฤตทางมนุษยธรรมหรือภาวะไร้กฎหมาย ก็อาจจะเป็นวาทกรรมเชยๆ เรื่อง “น้ำจิตน้ำใจของคนไทย” นั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นการแจกจ่ายอาหารและของใช้ให้ชุมชนที่ขาดแคลน โครงการเลี้ยงข้าวเพื่อน หรือการดูแลชุมชนเพื่อนบ้านที่ได้เคยเล่าไปแล้ว และล่าสุดคือการรับเอา “ตู้ปันสุข” ที่กลายเป็นดราม่ากันในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

ไอเดียของ “ตู้ปันสุข” คือการที่คนที่มีเหลือพอเจือจาน นำเอาอาหารหรือสิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีวิตไปใส่ไว้ในตู้ เพื่อให้ใครก็ได้ที่ขาดแคลน หรือมีความต้องการมารับเอาไป ความสะดวกและง่ายทำให้มีผู้รับไอเดียนี้ไปปรับปรุงและจัดตั้งในท้องที่ หรือชุมชนของตัวเอง หรือบางคนใจดีเอาตู้ไปตั้งไว้หน้าบ้านก็มี

แต่ปัญหาที่ทำให้เกิดดราม่านั่นก็เพราะว่า ปรากฏภาพว่า มีคนฝ่าย “ผู้รับ” บางคน ไปกวาดเอาของทุกอย่างที่มีในตู้ไปเสียคนเดียวจนเกลี้ยงไม่เหลือให้คนที่มาทีหลัง หรือที่ไปถึงระดับคุกคามสำหรับคนที่ตั้งตู้ไว้หน้าบ้านคือ ปรากฏว่าเมื่อของหมด หรือไม่ทันจะเอาไปเติมก็มีคนมากดออดเพื่อขอกันดื้อๆ เมื่อไม่มีให้ก็เกิดการต่อว่าด่าทอ

Advertisement

ภาพเหล่านี้มีทั้งที่เกิดขึ้นเอง และจากการขยายความของสื่อ (ที่น่าสังเกตว่าเป็นสื่อที่สนับสนุนฝ่ายรัฐอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู) แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ด้วยเจตนาใด ก็ทำให้สังคมตั้งคำถามและทบทวนการช่วยเหลือเจือจานกันในรูปแบบนี้ หรือถ้าจะมีต่อไปก็ควรให้รัฐเข้ามาดูแลจัดการหรือไม่

สิ่งที่เราควรยอมรับตรงกันคือ การมีตู้ปันสุขนั้นเป็นเรื่องดีแน่ๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนอย่างที่กล่าวไป เช่นเดียวกับต้องยอมรับในแง่ด้านมืดของมัน คือ ก็คาดหมายได้เช่นกันว่าจะต้องมีฝ่ายผู้รับที่อาจจะไม่เป็นไปตามเจตนา หรือแนวคิดของตู้นี้ที่คาดหวังว่าฝ่ายผู้รับก็ควรรับเอาไปเท่าที่ต้องการ หรือขาดแคลนแต่พอสมควร เหลือบางส่วนไว้ให้ผู้ที่อยู่ข้างหลังบ้าง และแม้ว่าเราจะพยายามทำความเข้าใจฝ่ายผู้รับว่าคงจะมีบ้างที่หิว อด กลัวจะไม่มีสิ่งประทังชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า วันนี้มีก็รีบคว้าไว้ก่อน แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้และไม่ควรปฏิเสธด้วย คือ พวกที่เอาไปเพราะฉกฉวยด้วยความโลภ หรือหาประโยชน์เกินควร หรือการคุกคามเอาต่อฝ่ายผู้ให้ราวกับกรรโชกทรัพย์ก็มีจริงเช่นกัน

และแม้ว่าอุดมคติของการให้นั้นคือ การสละ เมื่อให้แล้วก็ต้องละวาง ไม่ต้องสนใจว่าใครจะมา
รับไป ไม่ต้องคิดว่าผู้รับจะรับไปทำอะไร ภารกิจจบแล้ว เมื่อเราวางของลงในตู้ แต่ก็ต้องยอมรับด้วยเช่นกัน ว่าคนที่ให้ด้วยความคิดที่หวังบุญกุศลตามความเชื่อ หรือศีลธรรมก็มี หรือคนที่ให้เพราะสงสาร โดยมีภาพของผู้รับประเภทที่เขาสงสารไว้ในจินตนาการก็มีเช่นกัน และเชื่อว่ามีมากด้วย ผู้ให้กลุ่มนี้อาจจะให้ด้วยความรู้สึกตอบสนองศีลธรรมของเขา หรือให้โดยเวทนา ดังนั้นเมื่อการให้นั้นทำให้ศีลธรรมของเขาสั่นคลอน หรือเมื่อเขารู้สึกว่าการให้ของเขานั้นตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่สมควร เขาก็เกิดความไม่พอใจจนไม่อยากให้ หรือแสดงออกมาจนคล้ายว่าเป็นการทวงบุญทวงคุณ

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ให้กลุ่มนี้ได้ทำ มันก็คือการให้อยู่ดี และแม้ว่าเจตนาของพวกเขาจะเป็นอย่างไร มันก็ไม่ทำให้ความตั้งใจที่ดีและประโยชน์จากการให้ของเขาเสียไป การเสียสละของเขามันก็ไปช่วยผู้คนได้จริงๆ

ก็ในเมื่อเราพยายามหาเหตุผลสารพัดในเรื่องโอกาส ความเหลื่อมล้ำ หรือสภาพจิตใจ มาทำความเข้าใจและเห็นใจว่าทำไมฝ่ายผู้รับถึงกวาดโกยไปอย่างเกินเลยได้ เราก็ควรแบ่งความเข้าใจนั้นมาทำความเข้าใจฝ่ายผู้รับที่รู้สึกว่าการปันสุขนั้นไม่เป็นสุขเสียแล้วได้บ้างหรือไม่

เมื่อเราทำความเข้าใจพวกเขาได้แล้ว ถ้าเรายังเห็นตรงกันว่า การให้ในรูปแบบนี้มันช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คนจากวิกฤตนี้ได้จริงๆ เราก็ควรมาหาวิธีที่จะช่วยให้ฝ่ายผู้ให้ ไม่ว่าด้วยเจตนาใด ยังคงความ “สุข” ในการ “ปัน” อยู่ได้ รวมถึงการปราม หรือลดการรับอย่างกอบโกยเกินสมควรลงไปด้วย เพื่อให้การให้นั้นลงไปสู่ผู้เดือดร้อนได้อย่างทั่วถึง

วิธีแก้ปัญหาเช่น การตั้งกล้องวงจรปิด หรือจัดเจ้าหน้าที่ของรัฐมาจัดการควบคุมการแจกจ่าย วิธีการใช้อำนาจลุ่นๆ แบบรัฐตำรวจนี้รับประกันว่าหน้างานนั้นได้ผลแน่ๆ แต่มันจะได้ผลยั่งยืนระยะยาวได้แค่ไหน ? ในตอนที่เจ้าหน้าที่ไม่อยู่ หรือในตอนที่เขาหาวิธีเลี่ยงหลบกล้องวงจรปิดได้

หรือเราอาจจะลองใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสังคมด้วยวิธีคิดแบบใหม่ที่ผสม
ผสานหลักจิตวิทยาเข้ากับเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม เช่นการ “สะกิด” ด้วย Nudge Theory ที่อาศัยตัวกระตุ้นเล็กๆ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว กรณีศึกษาที่โด่งดังและน่าจะเคย
เห็นกัน คือการเอาสติ๊กเกอร์รูปแมลงวัน หรือเป้าตาวัวไปแปะไว้ในโถปัสสาวะชาย เพื่อล่อหลอกให้ผู้ใช้บริการพยายามควบคุมทิศทาง เพื่อรักษาความสะอาดของพื้นห้องน้ำสาธารณะ

ในเรื่องของ “ตู้ปันสุข” ก็เห็นว่ามีการนำ Nudge Theory มาใช้กันแล้วโดยบังเอิญคือ มีการเอาโลงศพมาดัดแปลงเป็นตู้ปันสุขที่ชลบุรี ซึ่งทำให้คนที่จะมากวาดของไปเกิดความยำเกรง “อำนาจที่มองไม่เห็น” บ้าง ซึ่งจริงๆ การปรับใช้ Nudge Theory นี้ขึ้นกับวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นต่อไปถ้าตู้ปันสุขนี้ยังมีอยู่ เราอาจจะได้เห็นไอเดียเจ๋งๆ เพื่อแก้ปัญหาและสร้างความสบายใจให้ทุกฝ่ายกันได้อีก

สุดท้ายที่อาจจะนอกเหนือจากประเด็นเรื่อง“ตู้ปันสุข” แล้ว แต่ก็อยากจะกล่าวไว้คือ เรื่องของการ “เฉลี่ยทุกข์” หรือจริงๆ แค่ความยากลำบาก

คงไม่มีใครกล้ากล่าวได้ชัดๆ ว่า เรา “ชนะ” แล้วในภาวะวิกฤต COVID-19 แต่ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าการรับมือกับ “โลก” ที่ยังมี “โรค” นี้อยู่สำหรับประเทศไทยก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีด้วยซ้ำ

เราได้เปรียบที่มีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งด้วยโครงการพิเศษ และความสามารถของบุคคลากรทางการแพทย์ทั้งระบบ ที่สำคัญคือ ความเสียสละมุ่งมั่นในการป้องกันและรักษาโรคนี้ และเรื่องที่แม้ยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจน แต่ก็มีรายงานตรงกันว่า ประเทศ หรือท้องที่ในเขตร้อนของโลกนั้นมีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นี้ช้ากว่าประเทศเขตหนาว

แต่ต้องไม่ลืมว่าโลกเราก็อยู่กับไวรัสชนิดนี้ได้ยังไม่ครบปี ยังไม่ผ่านไปทุกฤดูด้วยซ้ำ เราจึงไม่รู้ว่าถ้าในตอนนี้การแพร่ระบาดของประเทศเรายังไม่รุนแรง เพราะแดดและอากาศร้อน แต่เมื่อเรากำลังย่างเข้าสู่ฤดูฝนที่อากาศเย็นชื้นแล้ว การแพร่ระบาดของไวรัสนี้จะเป็นอย่างไร หรือในซีกโลกฝั่งหนาวที่กำลังจะพ้นฤดูหนาวนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงใบไม้ผลิที่ต้นไม้พืชพันธุ์ต่างๆ ในซีกโลกแถบนั้นจะปล่อยละอองเกษรตามธรรมชาติ ซึ่งปกติจะส่งผลให้ผู้คนในแถบนั้นส่วนมากมีปัญหาเรื่องภูมิแพ้และทางเดินหายใจ คนที่อ่อนไหวกับเกษรต้นไม้นั้น จามกันทั้งวัน และน้ำมูกไหลอยู่แล้วตามปกติ จะส่งผลอย่างไรต่อการแพร่ระบาดของไวรัส

นั่นทำให้เราต้องพูดกันเรื่อง New Normal หรือความปกติใหม่ ที่มนุษยชาติจะต้องปรับตัวและพฤติกรรมเพื่ออยู่กับโรคนี้ต่อไป

สถานการณ์ทุกวันนี้ของประเทศไทย ทำให้หลายคนยังหมิ่นเรื่อง “ความปกติใหม่” นี้ ในขณะที่เราเริ่มจะผ่อนคลายมาตรการไปสู่ระยะที่สามารถเปิดห้างสรรพสินค้าและกิจการต่างๆ ที่เคยจำกัดไว้ได้ แต่ก็ปรากฏจากการสังเกตว่าการรักษาระยะห่างทางกายภาพในสังคมทำกันแกนๆ ร้านอาหารก็มีบ้างที่ไม่ได้เคร่งครัดอะไรนักกับการแยกโต๊ะหรือจัดระยะห่าง รถเมล์ หรือรถไฟฟ้าอาจจะมีการจำกัดที่นั่ง หรือการวัดอุณหภูมิ รักษาระยะห่างในการเข้าแถว แต่เมื่อเข้าไปในขบวนรถไฟฟ้าคนก็เข้าไปแออัดกันอยู่ดี

นั่นก็เพราะผู้คนจำนวนมากยังต้องเดินทางไปทำงานกันตามปกติ บริษัทห้างร้าน หรือหน่วยงานราชการส่วนใหญ่เริ่มยกเลิกนโยบายทำงานจากที่บ้านหรือ Work from Home กันแล้ว หลังจากที่พบปัญหาความไม่สะดวกสบายหลายๆ อย่าง หรือเพียงแค่อยากกลับไปใช้รูปแบบการทำงานที่เคยชินอยู่ นั่นทำให้คนต้องเข้าออกงานกันตามปกติ รถรากลับมาติดขัด และผู้คนก็อัดแน่นในทุกระบบขนส่งมวลชน

เราไม่รู้ว่าที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อของประเทศไทยลดต่ำลงมาในระดับหลักหน่วยถึงศูนย์ได้ราวสองสัปดาห์นี้เกิดจากอะไรกันแน่ แต่ถ้ามันเป็นเพราะมาตรการควบคุมการรวมตัวของผู้คนที่ผ่านมา นั่นก็เป็นไปได้ว่า หากเรากลับไปใช้ชีวิตแบบเก่า ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะไม่เป็นแบบนี้ โดยเฉพาะเราไม่รู้จริงๆ ว่า ฟ้าฝนที่เริ่มตกลงมาทุกวันนี้แล้ว จะทำให้การระบาดของเชื้อนี้ออกมาในรูปแบบไหน

จึงอยากวิงวอนให้ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐ ที่โดยเนื้องานแล้วพอจะทำงานจากที่บ้านได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะหากคุณสามารถเรียกคนกลับไปทำงานที่สำนักงานได้ นั่นก็แปลว่ากิจการของคุณไม่ใช่กลุ่มที่อยู่ในการบังคับควบคุมตามกฎหมาย

ในเมื่อผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือร้านค้าต่างๆ ที่กำลังเจ็บปวดกับการที่ต้องจำกัดปริมาณลูกค้าต่อพื้นที่ ลดจำนวนโต๊ะ แต่เขาจำเป็นต้องเสียสละเพื่อช่วยลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคแล้ว กิจการที่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องให้คนไปทำงานก็ได้ หรืองานราชการที่ไม่ได้ติดต่อกับประชาชนโดยตรง จะ “เฉลี่ยทุกข์” หรือยอมรับความไม่สะดวกสบาย และกลับไปใช้นโยบายทำงานจากที่บ้านอย่างเคร่งครัดเหมือนช่วงเดือนถึงสองเดือนที่แล้วได้หรือไม่ ? อย่าคิดเลยว่ามันจะทำให้คนทำงานนอนอยู่บ้านสบายไม่คุ้มค่าจ้าง เพราะบทเรียนที่ผ่านมา เราได้รู้กันแล้วว่าการทำงานที่บ้านไม่ได้หอมหวานอย่างที่คิด และหลายกรณีกลับต้องทำงานหนักกว่า หรือได้เนื้องานมากกว่าทำงานแบบเข้าสำนักงานด้วย

เราจะสามารถลด “ความเคยชิน” ในการทำงานรูปแบบเดิม เพื่อสร้างระยะห่างทางกายภาพในสังคม เฉลี่ยทุกข์ให้กิจการที่เขาจำเป็นต้องปรับตัวกับมาตรฐานใหม่ โดยไม่มีทางเลือกได้บ้างหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image