เรียนออนไลน์ : โดย เฉลิมพล พลมุข

เรียนออนไลน์ : โดย เฉลิมพล พลมุข

คุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศที่สำคัญยิ่งก็คือระบบการศึกษาในชาติบ้านเมืองนั้นๆ ที่รัฐบาลจักต้องบริหารจัดการทั้งในภาวะปกติของสังคมรวมถึงภาวะที่มิได้มีความปกติทั้งระบบการเมือง สังคม เศรษฐกิจ มิอาจจักรวมถึงทีมีโรคระบาดขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบทั้งในประเทศและระดับโลกอันได้แก่โรคไวรัสโควิด-19

นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคดังกล่าวตั้งแต่เมืองจีนได้ลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ตัวเลขที่สื่อต่างๆ ทั้งในสังคมไทยเราและสื่อต่างชาติได้นำเสนอ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อดังกล่าวทั่วโลกในตัวเลข 4,982.937 ราย มีผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว 324,554 ราย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก 1,570,583 ราย มีผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว 93,533 ราย รองลงมาก็ประเทศรัสเซีย สเปน บราซิล อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส สำหรับเมืองไทยเรามีผู้ป่วยสะสม 3,034 ราย รักษาหายแล้ว 2,888 ราย และมีผู้เสียชีวิต 56 ราย (MATICHON NEWS : 20 พ.ค.2563)

รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างมีนโยบายตามองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้มีมาตรการต่างๆ ในการป้องกันประชาชนในรัฐนั้นๆ ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย การใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน รัฐได้ใช้มาตรการทั้งของความร่วมมือและทางกฎหมายบังคับประชากรในรัฐได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด การสั่งปิดหรือให้ยุติการทำงานในหน่วยงานราชการ เอกชน ระบบการบิน การท่องเที่ยว รวมถึงระบบของการศึกษาทั้งระบบ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้เรียนและผู้สอนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้มาเป็นเวลาหลายเดือน

เมืองไทยเราช่วงการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในช่วงระยะแรกๆ การศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือระดับปริญญาหลายสถาบันการศึกษาอยู่ระหว่างการสอบกลางภาค ขณะเดียวกันการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งประเทศนักเรียนต่างก็อยู่ระหว่างการปิดภาคเรียนและจะมีการเปิดภาคเรียนในกลางเดือนพฤษภาคมของทุกๆ ปี สำหรับการเรียนในระดับปริญญา สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยหลายแห่งต่างมีนโยบายในการเรียนแบบออนไลน์มาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมและสิ้นสุดการศึกษาในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ในระยะเวลาดังกล่าวผู้เรียนหลายคนได้กลับภูมิลำเนาของตนเองเพื่อไปอยู่กับครอบครัว บางคนก็ต้องช่วยผู้ปกครองในการประกอบอาชีพหน้าที่การงาน

Advertisement

การเรียนในระบบออนไลน์ตามมาตรการของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูเสมือนเป็นความฝันที่จะให้เกิดผลอย่างจริงจัง หากในข้อเท็จจริงต้องประสบกับปัญหาทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่สลับซับซ้อนมากกว่าที่สื่อได้นำเสนอ…

กรณีน้องเก๋า ดงกล้วย ที่ครูเติ้ล รัชชานนท์ ฐิตะฐาน โรงเรียนบ้านหนองคาง อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้แชร์คลิปที่ได้โทรศัพท์หาผู้ปกครองของเด็กเพื่อเตรียมความพร้อมของการเรียนการสอนทางไกล แต่ผู้ปกครองได้ลืมโทรศัพท์ไว้จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับน้องเก๋า เมื่อครูถามว่าจะให้เก๋าเรียนผ่านออนไลน์แบบถ่ายทอดสดว่าพร้อมไหม เมื่อถามว่ากินข้าวหรือยัง ก็ได้คำตอบว่ายังไม่ได้กิน ไม่มีข้าวและเมื่อถามว่าที่บ้านมีโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ตไหม น้องเก๋าจึงตอบว่ามีแต่ดงกล้วย จนเป็นที่มีของนามที่ว่า “เก๋าดงกล้วย”

สำหรับกรณีของเด็กนักเรียนคนหนึ่งในจังหวัดชุมพร ด.ช.ทศพร ช่อม่วง นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนชุมชนวัดขันเงิน อ.หลังสวน ที่ครูได้ไปสำรวจถึงครอบครัวของนักเรียนแล้วได้พบถึงความยากจน ไม่มีห้องน้ำในการขับถ่ายนักเรียนคนดังกล่าวได้แนะนำให้ครูไปขับถ่ายด้วยการใช้จอบขุดหลุมแล้วขับถ่ายเสร็จแล้วก็กลบให้เรียบร้อย การเรียนในระบบออนไลน์ในเทคโนโลยีตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการดูเสมือนว่าจะเป็นความคาดหวังที่เลือนราง สองกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่เป็นเสมือนน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือน้ำที่เราท่านได้มองเห็น ในข้อเท็จจริงยังมีนักเรียน สภาพของครอบครัวของนักเรียน โรงเรียน ระบบการบริหารการศึกษาที่ไกลโพ้นห่างจากสถานที่ตั้งของกระทรวงศึกษาธิการทั้งปัญหาคน เงิน ระบบการจัดการคำถามหนึ่งที่อาจจักมิได้รับคำตอบก็คือการศึกษาไทยทั้งระบบได้ก้าวเข้าสู่ 4.0 แล้วจริงหรือไม่…

Advertisement

ข้อเท็จจริงในสภาพของปัญหาในการเรียนระบบออนไลน์หรือเรียนทางไกล ที่นโยบายของรัฐได้ส่งผ่านไปยังผู้เรียนและผู้ปกครองทั้งประเทศ หากผู้ปกครองของนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มีความพร้อมก็มิได้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อระบบการศึกษามากนัก แต่ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่มิได้เข้าถึงในระบบดังกล่าวทั้งจานดาวเทียมในการรับสัญญาณ ไม่มีอินเตอร์เน็ต Wi-Fi ไม่มีคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ระบบการส่งที่มิได้มีความเสถียร รับสัญญาณไม่ได้ ผู้เรียนไม่มีสมาธิในการเรียนที่เพียงพอ ผู้ปกครองต้องไปทำมาหากิน ไม่มีเวลาดูแลในการสอนเสริมให้ลูก ครูผู้สอนและโรงเรียนยังไม่มีความพร้อมรวมถึงการประเมินการเรียนการสอน สิ่งสำคัญยิ่งก็คือนโยบายของกระทรวง สถานศึกษาหลายแห่งยังไม่มีการปรับหลักสูตรสำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์

ความรับผิดชอบดังกล่าวคงจะมิใช่เฉพาะสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งเท่านั้นที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและนโยบายจากรัฐบาลหรือจากกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรง หากเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าของรัฐบาลก็คือนายกรัฐมนตรีของประเทศ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้เคยกล่าวคำมั่นสัญญาไว้ในวาระต่างๆ

อาทิ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขอเวลาอีกไม่นาน การปฏิรูประบบราชการหน่วยงานของรัฐที่ต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพจากเงินภาษีของประชาชนที่มีความคาดหวังต่ออนาคตเยาวชนของชาติบ้านเมืองในวันข้างหน้า…

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามประกาศฉบับที่ 2 เรื่องการปรับลดเวลา วันทำงานของกระทรวงศึกษาธิการให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไปให้ผู้บริหารในแต่ละระดับได้ปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานตามปกติและมอบหมายให้บุคลากรในสังกัดปฏิบัติงานที่บ้านตามความเหมาะสม ส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต ให้หน่วยงานจัดบุคลากรวันปฏิบัติงานจำนวน 50% ของบุคลากรทั้งหมด

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านได้พบเห็นเชิงประจักษ์ก็คือ จะมีเด็กนักเรียนหรือเยาวชนวัยรุ่น วัยเรียนส่วนหนึ่งต้องหลุดออกจากระบบของการศึกษา หากเขาเหล่านั้นมีจิตสำนึกที่ดีรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคมก็จักประพฤติตนที่มิได้ผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมายของบ้านเมือง ขณะเดียวกันก็ยังคงมีวัยรุ่นหลายคนยังคงวนเวียนอยู่กับสภาพปัญหาของสังคมทั้งเด็กแว้น ยาเสพติด การพนัน ที่เขาเหล่านั้นต้องมีชีวิตเป็นยุวอาชญากรที่ต้องโทษในสถานพินิจ ทัณฑสถานต่าง ๆ อยู่ทั่วเมืองไทยเรา แรงงานข้ามชาติที่ดูเสมือนว่าเขาเหล่านั้นหลายคนมีความขยันทำงาน ใฝ่รู้ใฝ่ใจในความรับผิดชอบหลายคนพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้อย่างชัดเจน รัฐที่มีความพยายามในข้อกฎหมายถึงอาชีพสงวนสำหรับคนไทย คนต่างชาติหลายคนมีความสามารถมิได้แตกต่างจากคนไทยนัก

อะไร สิ่งใดคือระบบมาตรฐานทั้งความรู้และการใช้แรงงาน

การเรียนการสอนในระบบออนไลน์ในวันเวลานี้ เป็นดัชนีชี้วัดถึงคุณภาพของการศึกษาและชีวิตของเด็กเยาวชนวัยรุ่นวัยเรียนไทยเราในวันนี้ ที่เขาเหล่านั้นจักเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าทั้งความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การใฝ่รู้ใฝ่เรียน อดทนพากเพียรเรียนรู้นอกจากสถาบันการศึกษาที่เป็นที่คาดหวัง การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในสังคมไทยเราได้มีระบบมายาวนานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้ส่งผ่านในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

วันเวลานี้วิกฤตจากโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ดูเสมือนว่ายังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะยุติเมื่อใด วันใด หากแต่ผู้บริหารราชการของรัฐใส่ใจอย่างจริงจัง จริงใจ กรณีเก๋าดงกล้วย ส้วมขุดหลุม เป็นกรณีหนึ่งที่เป็นบาดแผลใจของสังคมที่จะอยู่ในความทรงจำของเราท่านตลอดไป…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image