โควิด-19 จะเปลี่ยนพฤติกรรมการเมืองได้ไหมเอ่ย : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

โควิด-19 จะเปลี่ยนพฤติกรรมการเมืองได้ไหมเอ่ย : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เมื่อสถานการณ์หนึ่งเริ่มถดถอยอีกสถานการณ์จะรุกคืบกลับคืนมา ดังเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มราโรย แม้เป็นสถานการณ์ธรรมชาติ สถานการณ์การเมืองเริ่ม “เขยิบ” กลับเข้ามาแทนที่

ยิ่งมีสถานการณ์ “เลือกตั้งซ่อม” ในจังหวัดลำปางมารออยู่ตรงหน้า เป็นเรื่องของฝ่ายค้าน คือ เสียงของพรรคเพื่อไทยขาดหายไป 1 เสียง จึงต้องเรียกกลับคืนมา ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐบาลหยิบฉวยไปง่ายๆ

ทั้งขณะที่ภายในพรรคพลังประชารัฐมีคลื่นภายในระส่ำอย่างนี้ โอกาสที่จะฉกเสียงกลับมาเพิ่มง่ายๆ เป็นไปได้ยาก ขณะที่คนของเพื่อไทยที่จะลงซ่อมครั้งนี้ไม่ใช่ใครอื่นไกล เป็นบัญชีรายชื่ออดีต ส.ส.และรัฐมนตรีมาแล้วหลายสมัย ซ้ำยังเป็นบิดาของอดีต ส.ส. ผู้เสียชีวิตไปหมาดๆ

ศึกลำปางจึงไม่น่าหนักใจกับพรรคเพื่อไทยเท่าใดนัก แต่กับพรรครัฐบาลหากหวังผลเกินกว่าที่เป็นไปได้ ต้องเหนื่อยกว่านี้แน่นอน

Advertisement

ทั้งขณะเดียวกัน ในนามคณะก้าวหน้าเริ่มก้าวเข้าสู่การขยายเสียงทางการเมืองด้วยการ “ตามหาความจริง” จากเหตุการณ์ซึ่งผ่านเลยมา 10 ปีแล้ว รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ กับผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บล้มตายจากเหตุการณ์นั้นในฐานะรัฐบาลซึ่งต้องดูแลเยียวยาประชาชนในทุกสถานการณ์แม้ที่ผ่านเลย ไม่ใช่อยู่นิ่งเฉยโดยไม่ทำงาน

เพราะด้วยกฎหมาย เมื่อมีผู้คนล้มตายจากเหตุใดก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิด หรือหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ไม่ว่าเวลาจะผ่านพ้นไปนานสักเท่าใด หากยังไม่มีเหตุยุติคดีความนั้น

วันนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์โคโรนา 2019 ขึ้น เป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศสถานการร์ฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องขอใช้มาตรการ “เคอร์ฟิว” เพื่อควบคุมเชื้อไวรัสซึ่งเป็นเชื้อโรคที่แพร่ระบาดในหลายทาง และแพร่ระบาดด้วยการสัมผัสของมนุษย์ต้องเกิดขึ้นขยายตัวออกไปมาก จึงต้องควบคุมการเดินทางและการขยายตัวของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ด้วย จากการวินิจฉัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข

Advertisement

เหตุที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้เป็นที่ยอมรับจากประชาชนทั่วไป และยอมรับปฏิบัติกรณีเคอร์ฟิว ซึ่งในสถานการณ์ปกติ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และ “เคอร์ฟิว” ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย และมักกระทำจากการฝ่ายเผด็จการเช่นปฏิวัติหรือรัฐประหาร

ขณะที่ประเทศประชาธิปไตยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อเมื่อมีภัยธรรมชาติร้ายแรงเกิดขึ้นจนเป็นอันตรายกับประชาชนเช่นแผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุร้ายแรง เป็นต้น

มีผู้คนหลายฝ่ายเชื่อว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้สลายมลายกลับสู่สภาพปกติสุข รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สังคมไทยกลับคืนมาสู่สถานภาพเช่นเดิม อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนส่วนหนึ่งได้

เช่น การปฏิบัติการงานที่บ้านซึ่งไม่ต้องใช้ตัวเองเป็นผู้ปฏิบัติ โดยใช้เครื่องมืออาทิ คอมพิวเตอร์ หรือการประชุมทางไกลในระบบเพรส คอนเฟอเรนซ์ ที่ตัวเองไม่ต้องอยู่ในที่ประชุม ซึ่งนิยมใช้กันมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะการประชุมเร่งด่วนของทางราชการ หรือการประกาศ คำสั่ง ผ่าน ออนไลน์ เป็นต้น

อันที่จริงเรื่องการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานนอกสถานที่มีโฆษณาขายคอมพิวเตอร์มานานนับสิบปีแล้ว ทุกวันนี้จึงไม่จำเป็นต้องพูดถึง แต่ปฏิบัติได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19

เมื่อมีการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดต่อสื่อสารทำให้การงานการผลิตเดินหน้าได้โดยไม่ติดขัด สิ่งที่เกิดขึ้น คือการลดค่าใช้จ่ายและเวลาการปฏิบัติหน้าที่การงานลง หรือเพิ่มเวลาและผลงานขึ้น ทั้งยังทำให้แรงงานที่ต้องใช้มีเพิ่มขึ้นโดยลดลงด้วยการใช้เครื่องจักรกลหรือหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ ซึ่งมีมานานแล้วเช่นกัน

เชื่อว่าในอนาคตไม่นาน การตัดสินใจในระบบการเมือง การเลือกตั้ง การตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา จะเป็นไปในระบบข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ว่าสมควรเลือกใครหรือไม่สมควรเลือกใคร คอยดู !!

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image