เศรษฐกิจไทย ยังพอจะมีความหวัง ถ้า….? โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

สองข่าวที่สร้างความกังวลคือส่งออกไทยที่ติดลบมา 3 ปีต่อเนื่อง และไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าปี 2559, 2560 เศรษฐกิจไทยจะโตในอัตราต่ำกว่าใครหมดในอาเซียน แต่ข่าวดีคือ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จะผงาดเป็นเสือเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ในภูมิภาค ความต้องการสินค้าและบริการจากเพื่อนบ้านติดแดนไทยจะเป็นผลดีกับไทยมาก

ทำไมเราจึงขยายตัวได้ไม่ดีเท่าเพื่อนบ้าน ปัญหาใหญ่คือการเมืองที่ไม่เอื้อกับการลงทุนทั้งโดยคนไทยและโดยเฉพาะชาวต่างชาติ นับเป็นครั้งแรกหลังปี 2549 ที่นักลงทุนญี่ปุ่นและธนาคารเพื่อการพัฒนานานาชาติบางแห่งยอมรับว่าการเมืองไทยปัจจุบัน เป็นอุปสรรคกับการพัฒนาเศรษฐกิจ อีกเรื่องคือ การกระจายรายได้ของไทยแย่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ก่อนหน้าภาวะซบเซาปัจจุบัน เครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 40 ปี คือการส่งออกสินค้าและบริการ (คิดเป็นร้อยละ75 ของจีดีพี) ทำให้ทุกรัฐบาลในอดีตขาดความสนใจในพลวัตเศรษฐกิจภายใน ในแง่ที่จะมีมาตรการปฏิรูปการคลังเพื่อเพิ่มรายได้รัฐและปรับให้การกระจายรายได้ดีขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถขยายการลงทุนในสาธารณูปโภคที่จำเป็นในอันที่จะเพิ่มผลิตภาพและเป็นฐานของดีมานด์ให้กับภาคธุรกิจเอกชน ตามลำดับ

ในช่วง 20 ปีมานี้ การลงทุนภาครัฐบาลชะลอตัวลงมาก ที่สำคัญคือการลงทุนใหม่เพื่อปฏิรูประบบโลจิสติกส์ เช่น การปฏิรูประบบขนส่ง การรถไฟ พลังงานทางเลือก การเพิ่มผลิตภาพของเอสเอ็มอี การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม การเกษตร การปฏิรูประบบราชการ ฯลฯ ที่จำเป็นมากๆ เผชิญอุปสรรคทางการเมืองตลอด

Advertisement

เรื่องการกระจายรายได้ ความไม่เท่าเทียมพุ่งขึ้นสูงเมื่อเศรษฐกิจบูม คริสต์ทศวรรษ 1990 ปรับตัวลดลงมาบ้างหลังปี 2540 แต่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งในขณะนี้ไทยมีความไม่เท่าเทียมด้านรายได้สูงที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนทั้งหลาย

ที่ว่ารายได้มีความไม่เท่าเทียมสูงมากเป็นอย่างไร?

เมื่อดูข้อมูลรายจังหวัด รายได้สูงกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ และภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่ระยอง ชลบุรี (Eastern Seaboard) ในจังหวัดเหล่านี้รายได้ต่อหัวใกล้กับที่ประเทศพัฒนาแล้วบางแห่ง ($12,000-13,000) แต่ก็ไม่ใช่ว่าผลได้จะตกอยู่กับคนงานไทยเต็มที่ เพราะที่ระยอง ชลบุรี ส่วนหนึ่งก็คือเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น และบางส่วนก็คือรายได้ของคนงานต่างชาติที่จะส่งเงินส่วนใหญ่กลับบ้านของเขา และภายในชลบุรี ระยอง เองก็มีความต่างด้านรายได้สูงและยังมีเกษตรกรและคนพื้นถิ่นที่ยากจน สำหรับที่ภาคอีสานรายได้ต่อหัวเฉลี่ยเทียบเคียงได้กับที่อินเดีย ($1,580) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่รัฐบาลเพิ่งอนุมัติไป กำหนดให้ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี เป็นเขตการค้าเสรี ก็จะมีผลให้ความลักลั่นทางเศรษฐกิจนี้คงอยู่และมีการกระจุกตัวต่อไป

Advertisement

ในภาพรวมของทั้งประเทศ เราอาจดูส่วนแบ่งในจีดีพีของคนจนสุด ผู้ที่อยู่กลางๆ และคนรวยสุดสามกลุ่ม ซึ่งข้อมูลชี้ชัดว่าคนรวยสุดร้อยละ 20 ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศมีส่วนแบ่งในจีดีพีประมาณร้อยละ 55

ขณะที่คนจนสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งในจีดีพีร้อยละ 5 และครัวเรือนระดับกลางร้อยละ 60 มีส่วนแบ่งในจีดีพี ร้อยละ 40

นั่นคือคนส่วนใหญ่ของประเทศถึงร้อยละ 80 มีส่วนแบ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งประเทศ

ความไม่เท่าเทียมสูงทำให้ขาดพลวัตในรูปของอุปสงค์รวมที่จะช่วยเป็นตัวดูดซับเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง

เมื่อเศรษฐกิจยอบแยบคนกลางๆ ธรรมดาหาได้ไม่คล่อง จะไม่เสี่ยงแต่ประหยัดไว้ก่อน คนจนรายได้น้อย ไม่มีจะประหยัด อีกทั้งหาได้ไม่พอใช้ ต้องกู้หนี้ยืมสิน หนี้ครัวเรือนจึงพุ่งขึ้นสูงไม่ยอมลงเลย หนึ่งเพราะจำเป็น อีกหนึ่งเพราะสถาบันการเงินมีกลวิธี

ชักจูงให้คนมีรายได้ประจำแม้รายได้น้อยระดับหมื่นกว่าบาทต่อเดือนซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ในระบบเครดิตหรือระบบเงินผ่อน แม้จะถูกมองว่าทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ เอาเข้าจริงหนี้ครัวเรือนก็มีบทบาทช่วยนักธุรกิจ

สำหรับคนรวยร้อยละ 20 แต่มีส่วนแบ่งมากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งประเทศ นอกจากเงินเดือนประจำในระดับสูงลิ่วแล้ว ยังมีรายได้จากทรัพย์สินเป็นกำไร ดอกเบี้ย เงินปันผลและค่าเช่า กลุ่มนี้มีบทบาทเท่าไรในการช่วยกู้เศรษฐกิจซบเซา?

ที่สำคัญการใช้จ่ายของกลุ่มนี้ไม่ลดลง แต่อาจจะช่วยได้มากกว่านี้ถ้าจะหันมาใช้ของและเที่ยวในประเทศมากขึ้นกว่าปกติ อนึ่ง ในภาวะดอกเบี้ยต่ำเช่นในปัจจุบันกลุ่มนี้จะได้จากการลงทุนเก็งกำไรตลาดหุ้น ค้าทอง ลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและที่ต่างประเทศมากกว่ากลุ่มอื่น แต่การลงทุนเหล่านี้แทบไม่ได้สร้างงานและรายได้ในประเทศ

เรื่องปัญหาความไม่เท่าเทียม เมื่อ คสช.ยึดอำนาจขึ้นเป็นรัฐบาล ก็ได้ประกาศจะจัดการกับปัญหานี้ แต่ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมและได้ผลในระยะปานกลางที่จริงจัง เช่น เก็บภาษีเงินได้จากทุน (capital gains tax) ในรูปแบบต่างๆ แล้วนำมาให้ทุนเรียนฟรีระดับปริญญาตรีอย่างกว้างขวาง และมาตรการอื่นๆ ในทางกลับกันบางมาตรการที่เลือกใช้กลับตอกย้ำความไม่เท่าเทียม หรือลดรายได้ของรัฐบาลลงโดยไม่มีมาตรการทดแทน

โดยสรุปเศรษฐกิจไทยในขณะนี้พยุงตัวอยู่ได้ เพราะการลงทุนภาครัฐและของเอกชนแม้จะอ่อนแรง ก็ยังไม่ล่มสลาย และที่สำคัญ consumer credit ซึ่งอีกด้านก็คือหนี้ครัวเรือนได้เป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้มีฐานะดีมากๆ ยังมีโอกาสการลงทุนแบบเก็งกำไร

ในภาคเอกชนนักวิเคราะห์บอกว่าการลงทุนที่ยังพอไปได้ดี คืออสังหาริมทรัพย์ที่ตลาดระดับบนย่านกรุงเทพฯ และเริ่มที่จะมีสัญญาณว่าในตลาดส่วนอื่นๆ ที่ซาลง ก็ได้เริ่มขยายสู่เมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่างๆ แล้ว

นักวิเคราะห์ชาวต่างชาติบางรายเป็นห่วงว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำคือความสุ่มเสี่ยงทางการเงินของเศรษฐกิจไทย แต่นี่อาจจะมองโลกในแง่ร้ายเกินไป เราอาจจะได้เห็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บูมในเมืองใหญ่ต่างจังหวัดที่ภาคอีสาน เหนือ และตะวันตก ซึ่งก็เริ่มๆ แล้วเช่นที่ขอนแก่น และจะยิ่งได้อานิสงส์จากเสือเศรษฐกิจที่ลาว เขมร และพม่า และหากรัฐบาลเร่งเครื่องการลงทุนภาครัฐที่เตรียมการกันไว้ รวมทั้งมีมาตรการกระจายรายได้ที่ให้ผลเร็วเช่นที่กล่าวมา และมาตรการอื่นที่เหมาะสม เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวในอัตราสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก็ได้ อีกทั้งเป็นการเตรียมรับกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือที่เรียกกันว่า Industry 4.0 ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย

และยิ่งถ้าสามารถก้าวพ้นปัญหาความขัดข้องทางการเมืองโดยหาทางพูดคุยหาทางออกร่วมกันให้ได้ และการเมืองเปิด การลงทุนต่างประเทศใหม่ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และไม่มีเหตุผลอันใดที่เศรษฐกิจไทยจะชะงักงันเป็นแผ่นเสียงตกร่องอยู่อย่างนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image