สัญญาณ การเมือง “กลุ่มพลเมือง ผู้ห่วงใย” จับตา ประชาธิปัตย์

เห็นอาการขยับของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประสานกับการปรากฏขึ้นของแถลงการณ์จาก “กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย”

ก็พอมองเห็น “แนวโน้ม” และ “ทิศทาง”

เป็นแนวโน้มของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นทิศทางของ “ประชามติ” ที่จะมีในวันที่ 7 สิงหาคม

คนอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่อมกระสาต่อ “กลิ่น”

Advertisement

บรรดานักการเมืองระดับ 1 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน 2 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ 3 นายธนา ชีรวินิจ และ 4 นายสาธิต ปิตุเดชะ

ย่อม “มอง” ออก ย่อม “แทง” ทะลุ

ทะลุถึงทิศทางและความเป็นไปได้ของการออกเสียง “ประชามติ” ว่าจะโน้มเอนไปอย่างไร ทะลุถึงทิศทางและอนาคตของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ว่าจะเป็นอย่างไร

Advertisement

ใกล้เคียงยิ่งกับ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

เพราะปัญญาชน นักวิชาการระดับ ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว เมื่อประสานเข้ากับ รองศาสตราจารย์โคทม อารียา และ นายจอน อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น ย่อมมากด้วยความสุขุม คัมภีรภาพ

ยิ่งได้ นายสมชาย หอมละออ มาด้วยยิ่งทำให้ “มั่นใจ”

 

บางคนอาจจะมองว่า ปัญญาชน นักวิชาการ อย่าง ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว หรือ รองศาสตราจารย์โคทม อารียา ตลอดจน นายจอน อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น

เป็นปัญญาชน นักวิชาการ ประเภท “โลกสวย”

แต่ความเป็นจริงอันรองรับด้วยการวางบทบาทอย่างเสมอต้น เสมอปลาย ของปัญญาชน นักวิชาการเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็น “มวยหลัก”

ไม่วูบวาบ หวือหวา ที่สำคัญก็คือ “ไม่สุดโต่ง”

หากสุดโต่งจะได้คนอย่าง รองศาสตราจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ มาหรือ จะได้คนอย่าง ดร.เดชรัต สุขกำเนิด มาหรือ จะได้คนอย่าง ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ มาหรือ

ที่สำคัญเมื่อได้คนอย่าง นายสมชาย หอมละออ ก็ย่อมได้คนอย่าง นายไพโรจน์ พลเพชร

2 คนนี้มิได้เป็น “ละอ่อน” ในแวดวงภาคประชาสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการสิทธิมนุษยชนที่อาศัย “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือ

จึงไม่แปลกที่จะเห็นชื่อ นายประสาร มฤคพิทักษ์

จึงไม่แปลกที่จะเห็นชื่อ นายวสันต์ สิทธิเขตต์ วางเรียงเคียงใกล้อยู่กับชื่อของ นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ซึ่งเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ยุคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทั่งยุค “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ของ กปปส.

เห็นหรือยังว่า “กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย” มากด้วยความหลากหลาย

ความหลากหลายในทาง “ความคิด” ต่างหากคือ “ความงาม” เพราะไม่เพียงแต่ร้อยบุปผาบานพร้อมพรัก ร้อยสำนักประชันเสียงสำเนียงพริ้งไพเราะ

หากนี่คือ “นิยาม” และความหมายแห่ง “ประชาธิปไตย”

ไม่จำเป็นต้องรอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับจากมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็พอจะมองออกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะแสดงท่าทีอย่างไร

ท่าที นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เด่นชัด ท่าที นายธนา ชีรวินิจ เด่นชัด

ต้องยอมรับว่า หาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาเล่นบท “คนเชียร์แขก” อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูนับแต่ปรากฏผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เป็นต้นมา

คงไม่ส่งแรงสะเทือนต่อ “พรรคประชาธิปัตย์” ระดับนี้

ผลก็คือ เกิดการแยกและแตกตัวภายใน “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และรวมถึงการแยกและแตกตัวภายใน “กปปส.”

“มวลมหาประชาชน” จะยังดำรงคงอยู่หรือไม่ น่าสงสัย

เพียงฐานเสียง 15 ล้านของพรรคเพื่อไทย เมื่อประสานเข้ากับ 6 ล้านของธรรมกายและกรุ่นแห่งความไม่พอใจของพุทธศาสนิกชนกรณีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ก็มากกว่า 20 ล้านแล้ว หากได้จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนาอีกเกือบ 10 ล้าน

ความเป็นไปได้ที่คะแนน “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญจะทะยานไปยัง 25 ล้านเสียงมีสูงอย่างสูงยิ่ง

เท่ากับบ่งชี้ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” กำลังเข้าสู่ “คิลลิ่ง โซน” ในวันที่ 7 สิงหาคม แน่นอน

ยังเหลือเวลาอีก 15 วัน หรือประมาณ 2 สัปดาห์เศษเท่านั้นก็จะถึงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม

จึงเป็น 2 สัปดาห์แห่งความระทึกใจเป็นอย่างสูง ไม่เพียงแต่คน “รับ” จะระทึกใจ หากแต่คน “ไม่รับ” ยิ่งมากด้วยความระทึกใจ

ต้องจับตา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องจับตา นายวิษณุ เครืองาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image