อังกฤษและตุรกี คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

REUTERS/IHLAS News Agency NO SALES. NO ARCHIVES. TURKEY OUT. NO COMMERCIAL OR EDITORIAL SALES IN TURKEY.

เหลือเพียงแค่ 2 สัปดาห์นิดๆ วันลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็จะได้รู้ดำรู้แดงกันแล้ว ระหว่างนี้ทั้งฟากผู้มีอำนาจและฟากพรรคการเมืองใหญ่ๆ ต่างก็แอบทำโพลอย่างจริงจังและอย่างละเอียด เพื่อประเมินสถานการณ์ในโค้งสุดท้าย จะได้เตรียมทางออกทางลงอย่างไม่ให้ขายหน้าขายตา

แว่วๆ มาว่า เครียดกันทุกขั้วทุกฝ่าย เพราะแนวโน้มยังก้ำกึ่งกันมาก

สำหรับ คสช.นั้น ที่แสดงออกผ่านแกนนำเอง หรือคนรอบตัว เริ่มงัดมุขล่าสุดที่ระบุว่า คนจำนวนไม่น้อยจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะอยากให้ คสช.อยู่ต่อไปอีกนานๆ

หาทางลงเผื่อเอาไว้ขนาดนี้เลย

Advertisement

แต่ก็อย่าเพิ่งไปคิดว่า คสช.ถอดใจไปแล้ว

เพราะกระบวนการหลายอย่างยังคงเดินหน้า ยังออกแรงผลักดันกันอย่างเต็มที่

รวมๆ แล้วจึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาทางไหน ฝ่าย คสช.ก็สร้างกระแสรองรับให้กับตัวเองไว้ทุกด้านแล้ว

Advertisement

เพียงแต่การเตรียมปูฟูกรอเอาไว้ทุกทิศ ก็สะท้อนชัดว่า ยังไม่แน่ใจอะไรสักอย่างนั่นเอง

มีนักคิดสรุปภาพรวมของวันประชามติ 7 สิงหาคมนี้เอาไว้ว่า คือวันต่อสู้ทางอุดมการณ์ครั้งสำคัญอีกครั้ง ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมหรือขวาจัด กับฝ่ายเสรีนิยม

เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สนองตอบแนวทางขวาจัดแบบสุดสุด ขณะที่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย มองอย่างตรงกันข้าม

ฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง ซึ่งรวมพลฉุดสังคมไทยให้ถอยหลังกลับไปสู่ยุคเก่าๆ ตั้งแต่การปลุกม็อบเขย่ารัฐบาลเลือกตั้ง เริ่มจากยุคเสื้อเหลือง มาจนถึงยุคนกหวีด

ดังนั้นเมื่อถึงขั้นหยุดประชาธิปไตยได้ และสามารถร่างรัฐธรรมนูญออกมาที่สนองแนวคิดอนุรักษนิยมสุดสุดได้

เชื่อว่าคนในแนวอุดมการณ์นี้ย่อมจะต้องไปผลักดันร่างรัฐธรรมนูญมีชัยให้มีชัยให้จงได้

ขณะที่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ก็ต้องแสดงออกตามความคิดอุดมการณ์ในวันประชามติอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน

ทั้งหลายทั้งปวง เมื่อต้องมีวันประชามติ ก็ต้องยอมรับในการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ ต้องเคารพและยึดถือตามประชามตินั้น

ขณะเดียวกัน ช่างบังเอิญที่กระแสสังคมโลกในช่วงระยะนี้ มีเรื่องใหญ่ๆ ที่ลงเอยมีการนำมาเปรียบเทียบกับความเป็นไปในบ้านเราอย่างช่วยไม่ได้

เริ่มจากการลงประชามติของคนอังกฤษที่ลงเอยให้ถอนตัวจากอียู แล้วนายกรัฐมนตรีที่สนับสนุนให้อยู่ต่อ ต้องตัดสินใจลาออก เพราะถือว่าแพ้ประชามติ

มาจนถึงเหตุการณ์ประชาชนชาวตุรกี ฮือออกมาต่อต้านการรัฐประหาร จนทำให้ความพยายามยึดอำนาจของทหารต้องล้มเหลวกลายเป็นกบฏ

โดยนักวิเคราะห์ทั่วโลกชี้ตรงกันว่า ประชาชนตุรกีก็ไม่ได้รักใคร่รัฐบาลชุดนี้มากนักหรอก แต่เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องร่วมกันพิทักษ์รักษาระบบประชาธิปไตยเอาไว้ ถ้าปล่อยให้รัฐประหารสำเร็จ เท่ากับเป็นการล้มอำนาจการเมืองในมือประชาชนไปด้วย

ดังนั้นประชาชนชาวตุรกีที่ไม่คิดอะไรตื้นๆ ไม่โดนใครสะกดจิตจนหน้ามืดตามัว จึงดาหน้าออกมาขวางรถถังด้วย 2 มือเปล่า

รักษาอำนาจการเมืองของประชาชนเอาไว้ แล้วค่อยไปตัดสินชี้ชะตารัฐบาลชุดนี้ด้วยมือประชาชนเอง

แนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยยังเป็นกระแสใหญ่ในสังคมดินแดนไก่งวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image