การเมืองแห่งความทรงจำเดือนพฤษภา ในฐานะการเมืองหลังเดือนตุลา โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในทุกๆ ปีก็มักจะเป็นธรรมเนียมที่จะมีการเขียนรำลึกถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะถ้าเหตุการณ์นั้นมีมิติของคำจำกัดความพื้นฐานของ “ความเป็นประวัติศาสตร์” ในฐานะที่เป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและมีผลต่อคนหมู่มาก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์ทางการเมืองของไทยที่มีความเป็นประวัติศาสตร์ คือมีผลกระทบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและมีผลต่อคนหมู่มากนั้นก็อาจไม่ได้ถูกบันทึกอย่างครบถ้วน หรือที่ถูกบันทึกนั้นอาจจะมีข้อถกเถียงว่าใครเป็นผู้บันทึก และเรื่องที่เล่านั้นครบถ้วนไหม หรือต้องการจะเล่าเรื่อง/ไม่เล่าเรื่องอะไรให้กับคนรุ่นถัดมา

สิ่งที่ผมลองนำเสนอในครั้งนี้เป็นเรื่องคิดเล่นๆ และไม่น่าจะได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มที่ยังตั้งหลักประวัติศาสตร์ของความก้าวหน้าของประชาธิปไตยไทยที่เดือนตุลา ซึ่งปัจจุบันนั้นความทรงจำในภาพรวมของเหตุการณ์เดือนตุลา (14 ตุลา 2516-6 ตุลา 2519) อย่างน้อยก็ได้รับการ “ขึ้นหิ้ง” ในฐานะของเหตุการณ์ที่ว่าด้วยเรื่องของการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาประเทศมานับตั้งแต่ยุค 2500 และการปะทะกับเผด็จการ จบลงด้วยชัยชนะของคนหนุ่มสาว ประชาชน และชนชั้นกลาง

แม้ว่าในระยะสั้นเหตุการณ์เดือนตุลาที่เริ่มต้นเมื่อ 14 ตุลา 2516 จะจบลงที่โศกนาฏกรรมของเหตุการณ์การล้อมปราบในปี 2519 แต่อย่างน้อยการเกิดขึ้นของระบอบเปรมในฐานะของประชาธิปไตยครึ่งใบหลังจากนั้นไม่นาน ก็ดูจะเป็นเรื่องของการปรองดอง หรือฉันทามติ/ดุลยภาพทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่งของสังคม ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของฉันทามติของตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงฉันทามติในเรื่องของการยอมรับแกนกลางของจักรวาลวิทยาทางการเมืองใหม่ของไทยในระดับหนึ่ง

Advertisement

ส่วนรายละเอียดของการตีความของเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และการเรียกร้องเรื่องของการรื้อฟื้นความทรงจำและทวงคืนความยุติธรรมของเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 นั้นจะมีออกมาเรื่อยๆ ทั้งในระดับของงานวิชาการ และการเคลื่อนไหวทางสังคม/บทสนทนาสาธารณะอาจจะทำให้เราเห็นความไม่ลงรอยกันในการนับเนื่องเหตุการณ์ทั้งสองเป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องกัน รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของมุมมองและจุดยืนของคนรุ่นนั้นในการเมืองปัจจุบัน จะมีการตั้งคำถามและค้นคว้าศึกษากันเพิ่มขึ้น

แต่กระนั้นก็ดี ความเข้าใจถึงสถานะของการอยู่บนหิ้งของเหตุการณ์เดือนตุลาก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

ที่ผมต้องการชวนคิดก็คือ เหตุการณ์ใหญ่สามเหตุการณ์ในเดือนพฤษภา นับตั้งแต่การลุกฮือ การล้อมปราบ และปะทะกันในสังคมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อ 2535 เหตุการณ์การล้อมปราบเสื้อแดงด้วยอาวุธสงครามเมื่อ 2553 และเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 แม้ว่าจะมีการรำลึกกันอยู่บ้าง และมีการพยายามศึกษาเรื่องราวของแต่ละเหตุการณ์ แต่ยังไม่ค่อยมีใครมองเหตุการณ์ชุดนี้เชื่อมต่อกันเป็นระบบ

Advertisement

ในด้านหนึ่ง สิ่งที่เริ่มมีการยอมรับกันโดยทั่วไปก็คือ การพูดถึง จดจำ เหตุการณ์การสลายการชุมนุมเสื้อแดง 2553 นั้นจะสมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าไม่พิจารณาถึงความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์กับการทำรัฐประหารในปี 2557

อาจเป็นไปได้ว่านับตั้งแต่การล้อมปราบเสื้อแดงลงในปี 2553 และมีความสูญเสียจำนวนมาก นั่นคือสิ่งที่อาจจะเริ่มยอมรับกันในระดับหนึ่งแล้วว่าความแตกแยกของสังคมไทยได้ดำเนินมาจนถึงขึ้นสูงสุด

เหตุการณ์การล้อมปราบเสื้อแดงจึงควรเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่เราจะต้องลองมองไปข้างหลังและไปข้างหน้า โดยที่มีจุดตั้งต้นที่เหตุการณ์พฤษภา 2535 และเหตุการณ์รัฐประหารพฤษภา 2557 (และผลหลังจากนั้น) เป็นจุดส่งต่อหรือเชื่อมต่อ (มากกว่าจุดสิ้นสุด)

แม้ว่าในเหตุการณ์พฤษภา 2535 จะยังมีผู้สูญเสียที่ยังไม่ได้รับการชดเชยอย่างครบถ้วน และยังมีประวัติศาสตร์ที่มืดดำในแง่ของจำนวนคนหาย และมีความจริงอีกจำนวนมากในแง่ของการปะทะกันด้วยความรุนแรงในบางจุด และตอบโต้กับเจ้าหน้าที่รัฐผ่านเครือข่ายวิทยุของกลุ่ม “ไอ้แหลม”

แต่ดุลยภาพทางการเมืองและฉันทามติทางการเมืองที่สำคัญจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็คือการยอมรับร่วมกันของทหาร นักการเมือง และประชาชนว่าหนทางประชาธิปไตยที่จะต้องมีการตรวจสอบจะต้องเป็นเรื่องที่ผ่านการทำงานขององค์กรอิสระภายใต้การยึดโยงกับประชาชนผ่านรัฐสภา

เราจึงได้เห็นความพยายามในการปฏิรูปการเมืองผ่านการแสวงหารูปแบบองค์กรทางรัฐธรรมนูญใหม่ๆ และความจำเป็นของการมี ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่ไม่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง ในฐานะที่มาขององค์กรอิสระ และเห็นการกลับเข้ากรมกองของกองทัพ

แต่สิ่งที่เราไม่ได้เรียนรู้กันก็คือ การปฏิรูปทางการเมืองในรอบนั้นที่กลายร่างมาเป็นการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ไม่ได้นำมาสู่การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพหรืองานด้านความมั่นคงอย่างจริงจัง ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนยังมีลักษณะของการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันระหว่างนักการเมืองกับกองทัพมากกว่าเรื่องของการปฏิรูปเชิงสถาบันอย่างเป็นระบบ

ในอีกด้านหนึ่งของเหตุการณ์เดือนพฤษภาก็คือการสถาปนาอำนาจนำของการเมืองน้ำดี การเมืองคนดี การเมืองคุณธรรม และความเชื่อมั่นของชนชั้นกลางในฐานะผู้ยึดครองพื้นที่หลักของการเมือง และจักรวาลวิทยาทางการเมือง (หรือการวางตำแหน่งแห่งที่ของความสัมพันธ์ของผู้คนและสถาบันต่างๆ เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ทางอำนาจในชุมชนการเมือง) ของไทยที่อธิบายและสนับสนุนโดยชนชั้นกลางจึงมีเรื่องของการยอมรับสถาบันบางสถาบันที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และสร้างดุลยภาพทางการเมืองไว้ตรงกลาง มีรัฐธรรมนูญที่สร้างเงื่อนไขให้การเมืองประชาธิปไตยจะต้องถูกตรวจสอบด้วยองค์กรอิสระ และมีกองทัพที่ถอยกลับเข้ากรมกองโดยไม่ต้องปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

การไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและสร้างความเป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรนั้น ก่อให้เกิดทั้งแรงตึงเครียดทางเศรษฐกิจในหมู่ผู้คนจำนวนมาก การอ้างถึงว่าปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นเกิดมาตั้งแต่การสร้างระบบเศรษฐกิจเสรีสมัย 2500 นั้นออกจะไกลเกินไป เพราะเงื่อนไขที่น่าจะสำคัญกว่าคือการไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540

การสะสมของปัญหาเศรษฐกิจในหมู่ผู้คนทำให้ความต้องการแสวงหาตัวแบบทางเศรษฐกิจใหม่ๆ มีความสำคัญ รวมทั้งการเกิดขึ้นของตัวแทนประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งนอกเหนือไปจากนักการเมืองก็คือบรรดาเอ็นจีโอจำนวนมาก ที่เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน

ไม่น่าแปลกใจที่การเกิดขึ้นและการครองอำนาจของพรรคไทยรักไทยและระบอบทักษิณจึงได้รับความนิยมท่ามกลางสภาวะของความเหลื่อมล้ำทางโอกาสเศรษฐกิจ ขณะที่ระบบการเมืองนั้นเปิดกว้างขึ้นภายหลัง 2535 และรัฐธรรมนูญ 2540 การสนับสนุนระบอบทักษิณนั้นมาจากทุกช่องทาง แม้กระทั่งในหมู่ของกลุ่มคนที่ต่อมาหันมาเป็นปฏิปักษ์กับระบอบทักษิณเสียเองที่พร้อมจะงดเว้นการตั้งข้อสงสัยกับคุณสมบัติหลายประการของทักษิณในช่วงต้น

ลักษณะการทำงานทางการเมืองและเศรษฐกิจของระบอบทักษิณนั้นในท้ายที่สุดนำไปสู่การเสียดุลยภาพทางอำนาจที่ดำเนินมาตั้งแต่ 2535 และนับจากการทำรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา จะเห็นว่าการครองอำนาจทางการเมืองของทุกฝ่ายต่างก็เผชิญกับปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง หรือการยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายมาโดยตลอด ฉันทามติทางการเมืองสั่นคลอน และในท้ายที่สุดมันก็มาถึงจุดที่เลิกเกรงอกเกรงใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่นานมานี้เอง

นอกเหนือจากการเสื่อมลงของฉันทามติทางการเมืองนั้นจะถูกกล่าวหาว่าเป็นปัญหาจากระบอบทักษิณ แต่ในอีกด้านหนึ่งการเสื่อมสลายของฉันทามติทางการเมืองก็เกิดจากการเมืองในตอนท้ายของการบริหารของทักษิณเองที่องค์กรอิสระและองค์กรตุลาการต่างๆ เริ่มเข้าแทรกแซงทางการเมืองมากขึ้นกว่าการทำหน้าที่ในเงื่อนไขทั่วไป

และที่สำคัญกว่านั้นก็คือนับจากการทำรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา องค์กรอิสระต่างๆเริ่มขาดความยึดโยงกับประชาชนอย่างเป็น
ระบบและเป็นรูปธรรมอันเนื่องจากอำนาจในการแต่งตั้งทั้งหมดกลับไปยึดโยงกับกองทัพและกลุ่มอำนาจเก่า

การชุมนุมของเสื้อแดงในพื้นที่เมืองเป็นจุดแหลมคมของความขัดแย้งทั้งทางอุดมการณ์และทางการเมืองเชิงสถาบัน เพราะการเคลื่อนการชุมนุมจากพื้นที่กายภาพทางการเมืองมาสู่พื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเป็นไปได้

จะว่าไปแล้ว การชุมนุมของเสื้อเหลืองในรอบก่อนหน้านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดสนามบินก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเป็นไปได้มาก่อนเช่นกัน และที่สำคัญก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดไม่ได้ว่าการปิดกั้นสนามบินนั้นไม่มีความผิด หรือมีการดำเนินคดีที่ล่าช้ามาจนถึงวันนี้

และจะไม่ให้คิดได้อย่างไรว่ากระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระนั้นถูกแทรกแซงและไม่ส่งเสริมการเกิดสมดุลยภาพทางการเมือง?

การสลายการชุมนุมในปี 2553 มีสิ่งที่ควรพิจารณาอยู่สองด้าน ด้านที่หนึ่งคือการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธจริง และเป็นเรื่องที่จะต้องกดดันให้เกิดการแสวงหาความจริงต่อไปเพื่อให้ได้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือการร้อยเรื่องราวและผลิตเรื่องราวที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงกับการชุมนุม โดยเฉพาะเรื่องชายชุดดำ และเรื่องการเผาเซ็นทรัลเวิลด์

การบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์การล้อมปราบประชาชน 2553 นอกจากการต่อสู้ผลักดันในกระบวนการยุติธรรมในความหมายของการนำคดีขึ้นสู่ศาล จึงเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำต่อไป และค้นหา/ตามหาความจริงอย่างไม่ย่อท้อ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การตั้งคำถามว่าเรื่องราวของชายชุดดำและเรื่องราวของการเผาบ้านเผาเมืองนั้นมีตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในการสร้างเหตุผลในการใช้กำลังและความรุนแรงในการล้อมปราบและสังหารผู้ชุมนุมที่ไม่มีชายชุดดำเสียชีวิต และยังมีผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเสียชีวิตไปด้วยเป็นเรื่องที่จะต้องมีการขุดค้นและตามล่าหากระบวนการประกอบสร้างความ (ไม่) จริงในเรื่องดังกล่าว

เพราะในวันนี้/ปีนี้ สิ่งที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากไม่ใช่มีแต่เรื่องของการค้นหาความจริงโดยคณะก้าวหน้า ซึ่งถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มาสานต่อภารกิจจากคนเสื้อแดงและผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์ ผ่านกิจกรรมฉายแสงตามอาคาร

เรายังพบการเคลื่อนไหวและขบวนการในการปฏิเสธความจริงของฝ่ายต่อต้านเสื้อแดงมากขึ้นเป็นพิเศษในปีนี้ ผ่านการผลิตสื่ออย่างเป็นระบบ โดยการมุ่งเน้นการเล่าเรื่องสำคัญไปที่การยืนยันว่าทุกเรื่องนั้นจบลงแล้วผ่านคำพิพากษาของศาล ทั้งที่ในหลายเรื่องนั้นยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการของศาลด้วยซ้ำ และยังมีความจริงอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้เปิดขึ้นมา

นอกจากนั้นยังมีการตอกย้ำเรื่องกระบวนการเผาบ้านเผาเมือง โดยเฉพาะการเน้นไปที่การเผาเซ็นทรัลเวิลด์ทั้งที่ในคำพิพากษานั้นก็ไม่ได้ตัดสินว่ามาจากคนเสื้อแดง

สิ่งที่เราเรียนรู้ในเรื่องนี้จึงอยู่ที่เรื่องของการที่เราต้องเข้าใจก่อนว่า ภาวะตาสว่างนั้นไม่ได้เกิดจากการได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงเสมอไป เพราะในหลายๆ ครั้งนั้น เมื่อผู้ที่เชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นเผชิญหน้าข้อเท็จจริง เขาอาจไม่จำเป็นจะต้องยอมรับข้อเท็จจริงนั้น แต่เขาอาจปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยเหตุผลร้อยแปด

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจต่อไปก็คือ อะไรทำให้คนจำนวนมากไม่ยอมรับข้อเท็จจริง ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ข้อเท็จจริงนั้นขัดกับความเชื่อของเขา หรืออาจเป็นไปได้ว่าข้อเท็จจริงเหล่านั้นขัดกับผลประโยชน์ของเขา หรือขัดกับการดำรงชีวิต หรืออาจจะขัดกับจักรวาลวิทยาทางอำนาจของเขาที่เชื่อว่าอะไรควรจะอยู่จัดวางอยู่ตรงไหน และควรจะทำหน้าที่อย่างไร

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการยึดครองพื้นที่ของเสื้อแดงทั้งทางการเมืองและทางกายภาพในการชุมนุมนั้นมันเป็นเรื่องที่รับไม่ได้มาตั้งแต่ต้น การยอมรับความเป็นจริงหลังจากนั้นจึงเป็นไปได้ยาก และการทำให้เสื้อแดงนั้นหายไปจากพื้นที่จึงเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งเป็นข้อยกเว้น และอาจจะสิ่งที่ไม่ควรจะพูดถึงมันอีกต่อไป

ที่อธิบายเช่นนี้ไม่ได้จะอธิบายเอามัน อยากจะชี้ว่าสิทธิในการปิดกรุงเทพฯ และสภาวะของความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของการเมืองและพื้นที่ทางกายภาพของเมืองในบรรดา กปปส. และเวที กปปส.นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าพวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าอะไรควรจะถูกจัดวางเอาไว้ตรงไหน

การพ่ายแพ้ของเสื้อแดงในการล้อมปราบเมื่อปี 53 นั้นเป็นความพ่ายแพ้ระยะสั้น เพราะการกลับมาของการเลือกตั้งในปี 54 ที่พรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลายนั้นได้ทำให้ความฝันเรื่องจักรวาลวิทยาทางการเมืองของพวกฝั่งตรงข้ามเสื้อแดงนั้นพังทลายลง

การคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องเกิดขึ้นเนื่องจากพวกผู้คัดค้านไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาผิด พวกเขาเชื่อว่าพวกเขาไม่ผิด หรือผิดก็ไม่ต้องรับโทษ ดังนั้นก็ไม่ต้องนับรวมว่าการนิรโทษกรรมเหมาเข่งกันทุกฝ่ายนั้นจะเป็นสิ่งที่สร้างความปรองดองและฉันทามติกับทุกๆ ฝ่าย

การทำรัฐประหารและการชุมนุมของฝ่ายตรงข้ามทักษิณและเสื้อแดงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดตั้งแต่แรกในความคิดของพวกเขา และต่อให้เป็นโทษที่พวกเขาอาจได้รับ พวกเขาก็ภูมิใจในสิ่งนี้ และเชื่อในความคิดแบบดั้งเดิมว่า “ฟ้ามีตา” แบบที่ปรากฏตามรายการกฎแห่งกรรมในโทรทัศน์ หรือเชื่อในกรรมดี และที่สำคัญก็คือพวกเขาไม่ยอมรับการถูกนับรวมเข้ากับคนที่พวกเขาต้องลงทุนลงแรงกำจัดได้หรอก

การทำรัฐประหารเมื่อพฤษภา 2557 จึงเป็นการทำรัฐประหารที่มีเงื่อนไขพิเศษที่จะต้องเพิ่มความเข้มข้นทางอำนาจในขั้นที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยเงื่อนไขของการ “อย่าให้เสียของ” กระบวนการทั้งการใช้อำนาจรัฐบังคับด้วยกำลังและกฎหมายก็มีอยู่อย่างเข้มข้น รวมทั้งกระบวนการด้านอุดมการณ์ การกล่อมเกลาด้วยสื่อ ด้วยเพลง และการวางเงื่อนไขการสืบทอดอำนาจในระยะยาวผ่านการออกแบบสถาบันทางการเมืองที่ซับซ้อนและมีระยะเปลี่ยนผ่านที่ยาวนาน

อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอในเมืองไทยก็คือวัฒนธรรมการใช้อำนาจในแง่ของข้อยกเว้นภายใต้เงื่อนไขความจำเป็น ไม่ว่าจะเรื่องของกฎอัยการศึก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน การทำรัฐประหาร การใช้ความรุนแรงละเมิดสิทธิ เหล่านี้ทั้งหมดถูกอธิบายภายใต้เงื่อนไขของความจำเป็นของสถานการณ์ทั้งสิ้น การอ้างความจำเป็นจึงเป็นคำอธิบาย เงื่อนไข หรือข้อแก้ตัวที่ใช้ได้ดีมาโดยตลอดที่ทำให้พวกเขาลอยนวล หรือ รู้สึกว่าสิ่งที่ทำไม่ได้เลวร้ายจนเกินไปนัก

อย่างไรก็ตาม การออกแบบการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในรอบนี้ไล่เรียงมาจนถึงวันนี้ แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้เราเห็นว่าสมดุลทางอำนาจและจักรวาลวิทยาแบบพฤษภา 2535 จะสามารถกลับมาอีกครั้ง และที่น่ากังวลใจมากเป็นพิเศษก็คือไม่มีความพยายามในการสร้างสมดุลทางอำนาจในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นเลย

สิ่งที่กำลังจะเผชิญร่วมกันคือการซื้อเวลาที่ความขัดแย้งจะปะทุขึ้นอีกครั้ง เพราะสมดุลทางอำนาจและศูนย์รวมเสถียรภาพทางการเมือง/สังคมไม่มี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่เกิด และการปฏิรูปกองทัพไม่คืบหน้า

ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือสื่อโซเชียลต่างๆ นั้นวางฐานอยู่บนทรรศนะและอารมณ์ (ความเป็นดราม่า) มากกว่าการถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล ดังนั้นความตึงเครียดและความขัดแย้งที่ดำรงอยู่นั้นจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การพิจารณาความเชื่อมโยงกันของเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาทั้งสามเหตุการณ์ที่อภิปรายมานี้อาจจะทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ ทางการเมืองไทย และความเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้มากขึ้นที่จะเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเข้าไปรื้อฟื้นอดีตเพื่อความยุติธรรมและอยู่ร่วมกันบนความจริงให้ได้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image