ศึกใหญ่ด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องเจอหลังศึกการบินไทย : โดย สมหมาย ภาษี

ศึกใหญ่ด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องเจอหลังศึกการบินไทย : โดย สมหมาย ภาษี

เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นวันที่รัฐบาลนี้ได้มีการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและเฉียบขาดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของบริษัทการบินไทย โดยนำบริษัทเข้าทำการฟื้นฟูกิจการผ่านกระบวนการของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินการ โดยบริษัทการบินไทยต้องพักชำระหนี้พร้อมๆ กับการทำเรื่องเสนอต่อศาลล้มละลายทั้งในประเทศและในต่างประเทศ และเตรียมแต่งตั้งคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูซึ่งจะเป็นกลุ่มบุคคลหรือให้คณะกรรมการของบริษัทการบินไทยรับผิดชอบโดยทำการจ้างบริษัทที่เชี่ยวชาญเข้ามาทำก็ได้ เพื่อดำเนินการตามกระบวนการของศาลล้มละลายที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับบริษัทการบินไทยที่จะมีการเปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจใหญ่เป็นบริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ต่อไปนี้คงจะต้องไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือ คนร. อีกแล้ว ซึ่งภายใต้การกำกับดูแลโดย คนร. ที่ผ่านมาก็ได้เห็นชัดกันแล้วว่าที่ต้องเจ๊งไปคาเขียงเกิดจากอะไร ที่ได้ยินได้ฟังกันก็คือการปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นจากการบินไทยมาตลอดตั้งแต่การซื้อและการเช่าเครื่องบิน การจ้างซ่อม จนถึงการจัดซื้อจัดหาของเล็กของน้อย

จากการที่กระทรวงการคลังได้ขายหุ้นจำนวน 3.17% เมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้กองทุนวายุภักษ์ ดังนั้น ต่อจากนี้ไปคณะกรรมการและผู้บริหารที่มีอยู่หรือที่จะมีการแต่งตั้งมาใหม่ของการบินไทย ก็จะสามารถดำเนินการด้านการบินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ต่อไปตามกฎเกณฑ์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต.

แต่อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการแต่งตั้งใครผู้ใดมาทำหน้าที่บริหารแผนนั้นจะต้องรอบคอบให้มาก แม้ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็เป็นทางการอยู่ ผู้มีเสียงใหญ่ก็จะมาจากนักการเมืองเหมือนเดิม ถ้าคิดเหมือนเดิมก็จะได้ประเภทเขี้ยวลากดินเข้ามาก็จะก่อปัญหาหรือทำให้การฟื้นฟูต้องล่าช้าได้ การที่ภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากอยู่ จะดำเนินการใดๆ ต่อจากนี้ไป ต้องมีภาพที่ชัดเจนและโปร่งใส และถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ผู้ที่เคยเกี่ยวข้อง เคยมีอำนาจดูแลการบินไทยแต่ก่อน คิดอะไรก็พูด ทั้งๆ ที่สถานะของบริษัทการบินไทยได้เปลี่ยนไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว

Advertisement

เรื่องการบินไทยนี้เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว การใช้อำนาจที่มั่วซั่วจะทำให้กระบวนการฟื้นฟูมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ประชาชนคนไทยที่รักชาติทุกระดับนับแต่นี้ไปจะต้องติดตามเฝ้ามองอย่างสนใจไปจนเห็นผลของการฟื้นฟู เพราะธุรกิจของการบินไทยนั้นประชาชนทุกระดับสามารถสัมผัสได้ตลอดเวลา

การดำเนินการฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลายของบริษัทใหญ่ในประเทศที่ผ่านมา

ในเรื่องนี้ใคร่ขอสรุปนำกรณีตัวอย่างของบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ในประเทศไทยที่เคยผ่านการฟื้นฟูผ่านกระบวนการของศาลล้มละลายมาแล้ว ว่าใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะจบหรือไม่จบ ซึ่งกรณีของบริษัทการบินไทยนี้ ควรอย่างยิ่งที่ผู้ถือหุ้นใหญ่จะต้องศึกษากันให้ดี

Advertisement

1.บริษัททีพีไอ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเคมีครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งโดยครอบครัว เลี่ยวไพรัตน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2538 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในเดือนกรกฎาคม 2540 ร่วม 2 ปี ตอนเปิดตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ถือได้ว่าบริษัทประสบความสำเร็จสูงสุด โดยบริษัทได้สามารถระดมทุนจากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายกลุ่มรวมมีธนาคารต่างๆ ให้กู้ถึงประมาณ 80 แห่ง และมีการลงนามในสัญญาเงินกู้ที่ยิ่งใหญ่ โดยมีการเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาเป็นสักขีพยานด้วย

หลังจากประเทศไทยต้องพบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เนื่องจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกู้เงินจากต่างประเทศมาใช้จำนวนเกินตัว จนต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540 มีผลให้บริษัททีพีไอ บริษัทเอกชนคนไทยที่กู้เงินจากต่างประเทศมาใช้ในการลงทุนมากที่สุดในสมัยนั้นจำต้องประกาศพักชำระหนี้ของบริษัททั้งหมดในเดือนสิงหาคม 2540 โดยมียอดภาระหนี้สินทั้งเป็นเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐประมาณ 133,643 ล้านบาท และได้ตัดสินใจนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายในปี 2543 แต่การดำเนินการเจรจาระหว่างฝ่ายเจ้าหนี้กับลูกหนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

ในเดือนกรกฎาคม 2546 ศาลล้มละลายกลางจึงได้มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ โดยคณะผู้บริหารแผนชุดใหม่ใช้เวลาประมาณ 3 ปี ทำงานบริหารแผนฟื้นฟูจนบริษัททีพีไอฟื้นตัว และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัททีพีไอออกจากการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549 รวมระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูรวมทั้งสิ้นถึง 6 ปี ซึ่งปัจจุบันบริษัททีพีไอได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และมีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง

2.บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ผลิตเหล็กรายใหญ่ของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจโดยคนไทยมานาน จนเติบโตและขยายตัวใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งบริษัทได้เล็งเห็นว่าจะมีกำไรดีขึ้น จึงได้เข้าซื้อกิจการโรงถลุงเหล็กในประเทศอังกฤษเมื่อปี 2553 แต่เกิดภาวะผันผวนในอุตสาหกรรมถลุงเหล็กทั่วโลก และบริษัทลูกในอังกฤษที่ซื้อมา (SSI UK) มีการประกอบกิจการขาดทุนต่อเนื่องและต้องประกาศเลิกกิจการในที่สุด และประกอบกับบริษัทแม่ในประเทศซึ่งเป็นผู้ค้าประกันเงินกู้ให้บริษัทลูกก็กิจการไม่ดีด้วย ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก จึงได้ตัดสินใจยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อเดือนตุลาคม 2558 โดยมีหนี้ทั้งเป็นเงินบาทและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและอื่นๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 69,200 ล้านบาท

กรณีของบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) นี้ ศาลล้มละลายกลางได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูเมื่อเดือนธันวาคม 2559 โดยเห็นชอบให้บริษัท SSI เป็นผู้บริหารแผนเมื่อเดือนมกราคม 2561 ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2563 นี้ บริษัท SSI ได้ขอพักการชำระหนี้ตามแผนเป็นการชั่วคราวเนื่องจากต้องเจอผลกระทบจากโควิด-19

จะเห็นได้ว่า บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) นี้ นับตั้งแต่บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในเดือนตุลาคม 2558 บัดนี้ล่วงเลยมาประมาณ 5 ปีแล้ว ยังไม่ได้ออกจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเลย

3.บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) บริษัทนี้ทำธุรกิจจำหน่ายถ่านหิน เริ่มผิดนัดชำระหนี้ในเดือนมิถุนายน 2560 แล้วยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในอีกหนึ่งเดือนถัดมา ศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในเดือนกันยายน 2560 โดยมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 152,518 ล้านบาท แต่ศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาแผนฟื้นฟูที่เสนอแล้ว มีคำสั่งไม่เห็นชอบและยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้ เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2561 ก.ล.ต.ได้แจ้งความต่อดีเอสไอกล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารว่าสร้างหนี้เทียม และเตือนนักลงทุนให้ใช้ข้อมูลของบริษัทด้วยความระมัดระวัง จนกระทั่งวันที่ 20 กันยายน 2562 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เพิกถอน EARTH จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ปัจจุบันกลุ่มเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นกู้อยู่ในกระบวนการฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องต่อไป

สรุปแล้วกรณีของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ นี้ การฟื้นฟูกิจการโดยผ่านศาลล้มละลายต้องล้มเหลว อนาคตคือผู้เกี่ยวข้องอาจต้องติดคุกติดตะรางก็ได้

ศึกใหญ่ด้านศรษฐกิจที่กำลังประดาหน้าเข้ามา

ก่อนจะดูว่ามีศึกใหญ่หรือปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจอะไรบ้างที่จะเกิดตามมา ก็ขอมองในแง่ดีว่าการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเราเอง จะเบาบางจนวางใจได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนนี้ และขออนุมานเอาว่าในต่างประเทศโดยทั่วไปก็จะมีการปล่อยให้ประชาชนรวมทั้งธุรกิจเป็นไปตามปกติได้ เช่น มีการเปิดน่านฟ้าสากลตามปกติ ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นต้นไป แล้วท่านผู้อ่านมาดูกันว่า ประเทศไทยเรายังมีหรือจะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจอะไรบ้างที่จะชี้เป็นชี้ตายอนาคตของประเทศ

ประการแรก คือปัญหาคนจนและคนว่างงาน มาตรการเยียวยาที่รัฐบาลได้ทุ่มเทเงินลงไปให้คนจนตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ถึงขนาดที่เอางบกลางหลายหมื่นล้านบาทมาใช้ มีการโยกงบจากงบประมาณประจำปี 2563 ร่วมหนึ่งแสนล้านบาทมาใช้ มีการปรับปรุงตัดทอนงบที่กำลังพิจารณาในปีงบประมาณ 2564 (จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 นี้) อีกหลายหมื่นล้านบาทเตรียมมาใช้ และได้ตั้งงบอีกอย่างน้อยหกแสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.การกู้เงินพิเศษ 1 ล้านล้านบาท มาใช้เพื่อการเยียวยาโดยเฉพาะ ทั้งหมดนี้ถือว่ารัฐบาลได้จัดงบจำนวนพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่สภาพใกล้เคียงกัน หรือเทียบกับสถานะเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงจำนวนคนจนและสภาพคนจนของไทยด้วย

เงินเยียวยานี้ก็จะมีเป็นจำนวนอย่างน้อยถึง 800,000 ล้านบาท ทีเดียว ประชาชนทั้งหลายโดยเฉพาะคนจนก็ได้เห็นกันอยู่แล้วว่าได้มีการจัดจ่ายไปอย่างไร ใครได้รับกันบ้าง ทั้งคนจนและเกษตรกร อย่างน้อยก็ได้รับการเยียวยาประมาณ 16-18 ล้านคน และก็พอจะเดากันได้ว่า เงินเยียวยาที่จ่ายแบบนี้คงจะจ่ายได้ถึงประมาณสิ้นเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมนี้ คงไม่ยืนยาวและยั่งยืนตลอดไป

สิ่งที่จะเกิดขึ้นและจะเป็นปัญหาใหญ่ก็คือว่า เมื่อเงินเยียวยาจากทางการหมดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คนจนที่เป็นประเภทหาเช้ากินค่ำไปวันหนึ่งๆ จำนวนมากจะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะจากนี้ไปแม้โควิด-19 จะหมดไป แต่การจ้างงานที่จะมีเพิ่มขึ้นนั้นคงจำกัดเต็มทีที่พอจะยังได้รับเงินช่วยเหลือบ้าง ก็คงเป็นคนจนที่มีชื่อขึ้นทะเบียนอยู่กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยสงเคราะห์คนจนไว้แต่เป็นจำนวนที่น้อยเต็มที

สำหรับคนจนอีกระดับที่เคยมีงานทำ เป็นผู้มีการศึกษาระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งก็จะกลับไปทำงานเดิมไม่ได้ เพราะเจ้าของกิจการเลิกหรือปิดกิจการ หรือหลายแห่งต้องลดคนงานลงแรงงานระดับนี้ยังมีพวกที่ว่างงานที่ได้ทยอยกลับจากต่างประเทศจำนวนมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็จะเข้ามาเพิ่มเป็นคนว่างงานของประเทศเข้าไปด้วย ปัญหานี้เข้าใจว่าทางฝ่ายรัฐบาลยังไร้คำตอบที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังนั้น หลังจากโควิด-19 หมดไปแล้ว เสียงร้องระงมจากคนยากคนจนจะยิ่งดังขึ้น

ประการที่สอง คือปัญหาการหมดเรี่ยวแรงของ SME ทั้งประเทศ เรื่องนี้จะดูจากมิติไหนก็เห็นชัด เพราะตามข้อเท็จจริงธุรกิจ SME ของไทยอ่อนแอมานานแล้วตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 ทั้งในเรื่องของการบริโภคภายในประเทศที่ไม่ขยายตัว ยกเว้นการท่องเที่ยว และในเรื่องของความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศที่ไม่ดีขึ้น รวมทั้งการโดนผลกระทบจากสงครามการค้าโลก ดังนั้น เมื่อมาเจอการระบาดที่แผ่กระจายไปอย่างรุนแรงทั่วโลกของโควิด-19 ธุรกิจ SME จึงทรุดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ผู้สนับสนุนหลักของ SME คือธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย ซึ่งขณะนี้ต้องเผชิญกับผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ผู้กู้และผู้ให้กู้ทั้งพวงจึงอ่อนแรงกันหนักขึ้น

การยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ตอนต้น โดยการจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารให้แก่ SME ทั้งประเทศทั้งสิ้น 500,000 ล้านบาท โดยให้กู้ดอกเบี้ยต่ำพียง 2% แก่ SME ระยะ 2 ปี โดยมีการงดคิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก

บัดนี้ผ่านมาร่วม 2 เดือนแล้ว ทราบว่าโครงการนี้ยังไม่ค่อยจะเดินหน้าสักเท่าไหร่ โดยดูจากยอดเงินที่ธนาคารโดยรวมอนุมัติได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็มาจากการกำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่รัดกุม ทำให้ SME ที่สถานะการเงินไม่ค่อยดี ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยดีกันทั้งนั้น ต้องติดปัญหาการระมัดระวังของธนาคารทั้งหลาย รวมทั้งติดเงื่อนไขต่างๆ ในการให้เงินกู้ที่ไม่เคยง่ายสำหรับลูกค้าที่สถานะการเงินไม่ดี คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่า แล้วผู้ที่กู้เงินผ่านโครงการนี้ได้จะมีแต่ SME ที่สถานะการเงินค่อนข้างดีอยู่แล้ว แล้วอย่างนี้การเข้ามาช่วยเยียวยาที่จัดเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ SME ที่ดูภาพแล้วจริงจัง จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้หรือ จะสามารถทำให้ SME ลืมตาอ้าปากได้แค่ไหนหรือ ที่สำคัญจะทำให้ SME ช่วยเสริมสร้างการจ้างงานได้กระนั้นหรือ ผลที่สุดทั้งการส่งออกและ GDP ของไทยในปีนี้และปีหน้า จะสามารถโงหัวเป็นติดลบน้อยลงได้หรือไม่ คำถามเหล่านี้ ควรที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยรีบนำไปพิจารณาทบทวนโดยด่วน

ประการที่สาม คือ ปัญหาการคลังภาครัฐจะอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว ปัญหานี้ดูเหมือนไม่มีใครสนใจ นอกจากการฟันธงจากนักธุรกิจใหญ่จะให้รัฐบาลกู้เงินมาอีกเป็นล้านล้านบาท มาเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ และมาเร่งเพิ่มการจ้างงานของประเทศ โดยไม่ต้องกลัวว่าภาระหนี้สาธารณะภาครัฐจะเพิ่มจาก 40-50% เป็น 100% ของ GDP

ที่จริงคนสุดจนกับคนสุดรวยมีเหมือนกันอย่างหนึ่งตรงที่ไม่กลัวการเป็นหนี้มากขอให้มีแหล่งเงินให้กู้เป็นพอ แต่ที่ต่างกันคือ คนจนยิ่งกู้มาดอกเบี้ยยิ่งแพง ร้อยละ 30 ต่อเดือน ยังต้องกู้ แต่คนรวยมากเขากู้ได้แค่ร้อยละ 3 ต่อปีเท่านั้นแหละ นี่แหละคือความต่างและความถ่างที่ชัดเจนระหว่างคนจนกับคนรวยในประเทศนี้ ปล่อยแบบนี้อีกไม่นานอาจมีเรื่องรุนแรงที่ไม่น่าดูเกิดขึ้นก็ได้

คนที่กลัวการเป็นหนี้ ทั้งหนี้ส่วนตัวและหนี้ของประเทศคือ คนชั้นกลางๆ เพราะกลัวการต้องจ่ายดอกเบี้ย และคุ้นเคยกับความเชื่อตั้งแต่สมัยปู่ย่าว่า การเป็นหนี้เป็นสิ่งไม่ดี ถ้าเป็นแบบนี้คนรวยในประเทศนี้ก็ไม่มีใครดีสักคน

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศชาติ สิ่งที่ดีในสมัยนี้คือต้องมีหนี้สาธารณะในอัตราที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับ GDP ทุกประเทศสมัยนี้ล้วนดำเนินนโยบายสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เหมาะสมอย่างไร คำตอบคือต้องได้ดุล (Balancing) ในช่วงระยะกลาง 3-4 ปี กับความสามารถในการหารายได้ทางการคลัง ได้ดุลกับความสามารถในการส่งออกเพื่อหารายได้ที่เป็นเงินตราระหว่างประเทศ และต้องได้ดุลกับการกระจายรายได้ระหว่างชนชั้นต่างๆ ของประชากรของประเทศ เมื่อไหร่ที่น้อยไปก็ต้องด่าว่ารัฐบาลโง่ เมื่อไหร่ที่ลืมตัวปล่อยให้ทั้งเอกชนและรัฐบาลกู้เงินกันมากไปก็เกิดวิกฤตอย่างที่เราเคยเจอมาแล้วเมื่อปี 2540

สิ่งที่เป็นอยู่และกำลังจะเป็นไปในปัจจุบัน คือการสูญเสียดุลทางด้านการคลังภาครัฐในระยะยาว คือความสามารถในการจัดเก็บรายได้ภาครัฐยิ่งลดน้อยลงไปเรื่อยเพราะรัฐบาลที่ผ่านๆ มาไม่กล้าเก็บภาษีเพิ่ม แต่ทำในทางตรงกันข้าม คือเอาแต่ลดหรือยกเว้นภาษีที่ยอบแยบอยู่แล้วลงไป เพื่อต้องการสร้างประชานิยมมาตลอดในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มาถึงวันนี้เห็นได้ชัดว่าประเทศเรากำลังเดินเข้าสู่แดนอันตรายด้านการคลังแล้วอย่างชัดเจน เรื่องด้านการคลังนี้หากรัฐบาลไหนมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้ดีขึ้นก็ไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น เพราะจะต้องใช้เวลาถึง 3-4 ปี ในการออกกฎหมายแบบไทยๆ ที่จะพอทำได้เร็วก็คือการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าปรับขึ้น

ลองไปดูผลการจัดเก็บภาษีในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 62-มีนาคม 63) ซึ่งมีการเปิดเผยโดยโฆษกกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 นี้ ปรากฏว่ารายได้สุทธิที่เก็บได้ในช่วง 6 เดือนที่ว่ามีจำนวน 1,143,571 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 15,572 ล้านบาท ติดลบ 1.3% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ย่ำแย่อยู่แล้ว 17,250 ล้านบาท ติดลบ 1.5%

จากตัวเลข 6 เดือนแรกของปีงบประมาณข้างต้น ยังเห็นการติดลบผิดเป้าหรือต่ำกว่าปีที่แล้วไม่มาก แต่ในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ (เมษายน 63-กันยายน 63) ซึ่งเป็นช่วงล็อกดาวน์ และเป็นช่วงที่รัฐบาลบริหารประเทศโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างน้อย 3 เดือน ที่คนทั้งประเทศต้องอยู่แต่กับบ้าน ธุรกิจต้องปิดตัวเป็นส่วนใหญ่ ท่านผู้อ่านพอจะนึกและคิดคำนวณเองได้ไหม ว่าในช่วง 6 เดือนหลังนี้ การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลชุดนี้ จะต่ำกว่าเป้าและต่ำกว่าปีที่แล้วสักเท่าไหร่ อย่างน้อยๆ ต่ำไปสัก 40% ไหวไหม โอ้ย ไม่อยากจะคิดกันใช่ไหมครับ อยากจะให้รัฐบาลคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีกจนสิ้นเดือนกันยายน 2563 ให้เห็นดำเห็นแดงกันไปเลย ไม่งั้นยังไม่หลั่งน้ำตา

ที่กล่าวมา 3 เรื่องข้างต้น ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ได้เห็นชัดว่ามีอยู่แล้วในประเทศของเรา และเมื่อมาเจอผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเทียบได้กับพายุขนาดใหญ่ที่ได้กระพือพัดพาบ้านช่องให้พังพินาศสันตะโรลงไปในพริบตา ดังนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่แล้ว ก็จะยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้นการเยียวยาของรัฐบาลนั้น ก็เป็นเรื่องบำบัดทุกข์ไปชั่วคราว แต่ในระยะยาวตัวทุกข์นั้นยังอยู่และจะเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้น

ความจริงทุกข์ของแผ่นดินแหลมทองนี้ยังมีอีกมาก เช่น หนี้ครัวเรือนที่ตัวเลขมีแต่เพิ่มไม่มีทางลด เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนจนและผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ที่กดหนักไปถึงสถานะของธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหลาย ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินทั้งหลายต่างก็แบกภาระของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย (NPL) มากพออยู่แล้ว ครั้นมาเจอกับธุรกิจทั้งใหญ่และเล็กที่ทรุดหนักกันถ้วนหน้าจากโควิด-19 ทุกสถาบันการเงินต่างก็ต้องสะเทือนกันทั้งนั้น ตอนนี้ยังไม่มีผู้ใดระบายความทุกข์ออกมาตรงๆ แต่อีกไม่นานเมื่อถึงเวลาก็จะได้เห็นเอง

ภาวะของบ้านเมืองเราในทุกวันนี้เมื่อมองไปข้างหน้า (Outlook) สำนักข่าวบลูมเบิร์กขึ้นพาดหัวเมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคมนี้ ให้เห็นว่าไทยจะเลวร้ายที่สุดในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อดูให้ดีแล้วจะเห็นอาการที่แย่มากๆ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สมัยก่อนด้านกายภาพรวมทั้งสิ่งสาธารณูปโภค สาธารณูปการทั้งหลายไม่ดีเท่าทุกวันนี้ แต่ประชาชนมีความสุขมากกว่า รัฐบาลก็ยังสามารถดูแลประชาชนไปตามมีตามเกิดได้ แต่ทุกวันนี้ เมื่อมองปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ประดังกันเข้ามา มองปัญหาสังคมแต่ละเรื่องที่แทบจะฟังข่าวไม่ได้ มองฝนฟ้าตามธรรมชาติก็ผิดเพี้ยนไป และอื่นๆ

ยังไงก็บอกได้คำเการเมืดียวว่าสภาพของประเทศไทยตอนนี้หนักเกินกว่ารัฐบาลแบบครึ่งใบนี้จะเอาอยู่ และเป็นไปไม่ได้ที่สภาพองที่ผ่านการเลือกตั้งที่กำลังจะเปิดอภิปรายกันนี้จะสามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองให้มั่นคงและยั่งยืนได้

สมหมาย ภาษี

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image