เยียวยา 5,000 เกษตรข้าราชการ? : สมหมาย ปาริจฉัตต์

เยียวยา 5,000 เกษตรข้าราชการ? : สมหมาย ปาริจฉัตต์

ข้อโต้แย้งระหว่างนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร พรรคประชาธิปัตย์ กับนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พรรคพลังประชารัฐ ว่าด้วยเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท ข้าราชการประจำและข้าราชการเกษียณที่ทำการเกษตรควรได้รับด้วยหรือไม่ เป็นประเด็นน่าร่วมวงวิวาทะด้วยจริงๆ

ฝ่ายกระทรวงเกษตรฯเห็นว่าควรจะได้รับด้วย แต่ฝ่ายกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย ไม่สมควรได้รับ เหตุผลเพราะยังมีรายได้ประจำจากเงินเดือนข้าราชการและเงินบำนาญ

ผู้ที่ตัดสินชี้ขาดความเห็นต่างนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ไม่มีสิทธิได้รับแล้ว 3 กลุ่ม หนึ่งในนั้น คือ ข้าราชการบำนาญ

ความเห็นต่างในการกำหนดสิทธิผู้ได้รับเงินเยียวยา ระหว่างแนวทางของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ควรใช้ฐานคิดอย่างไรถึงจะถูกต้องเป็นธรรม

Advertisement

เรื่องนี้ควรยึดหลักความเป็นธรรม ความเท่าเทียมเป็นสำคัญ ไม่ใช่เอาประเด็นตัวอาชีพหลัก อาชีพรอง มาเป็นฐานคิด จนกลายเป็นข้อจำกัด

เพราะความเป็นจริงหลายคน หลายครอบครัวประกอบอาชีพหลายอาชีพในเวลาเดียวกัน เกษตรกรก็เช่นกัน

เมื่อทุกคนไม่ว่า ผู้ใช้แรงงาน พนักงานบริษัท ข้าราชการประจำ ข้าราชการเกษียณ พ่อค้า นักธุรกิจ ประกอบอาชีพการเกษตรคู่ขนานไปด้วย และขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ราชการทุกประการ

Advertisement

โดยทำจริงและได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการประกอบอาชีพเกษตรจริง จึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะผู้เสียภาษีให้รัฐ ควรจะได้รับเงินเยียวยานี้เช่นกัน

ทำนองเดียวกันกับการได้สิทธิรับเบี้ยยังชีพคนชรา 600 บาทต่อเดือนทุกคน เมื่ออายุครบ 60 ปียกเว้นข้าราชการซึ่งอยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญแล้ว ส่วนพ่อค้า นายทุน คนรวยผู้มีอันจะกิน จะใช้สิทธิรับหรือไม่ หรือบริจาคคืนให้กับราชการ เป็นเรื่องสำนึกของแต่ละคน แต่สิทธิขั้นพื้นฐานยังดำรงอยู่ เท่าเทียมกับทุกอาชีพ

หลักเกณฑ์ในการตัดสินการจ่ายเงินเยียวยาจึงอยู่ที่การพิสูจน์สิทธิจนยืนยันได้ว่า 1 ประกอบอาชีพเกษตรจริง มีชื่อขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร 2 ได้รับความเสียหายจริง

แน่นอนคนกลุ่มแรกที่ควรได้รับเงินเยียวยานี้ก่อนก็คือ เกษตรกรที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นคู่ขนานไปด้วย เพราะมีรายได้ทางเดียว เป็นกลุ่มหลักกลุ่มใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปตัดสิทธิผู้ประกอบชีพอื่นที่ทำอาชีพเกษตรคู่ขนานไปด้วย

เพราะหากเอาอาชีพคู่ขนานมาเป็นฐานคิด เกษตรกรที่ทำอาชีพอื่นๆ ด้วย เช่น รับจ้างทั่วไป ขับรถแท็กซี่ เป็นลูกจ้างชั่วคราวของรัฐและบริษัทเอกชน ก็จะถูกตัดสิทธิไม่ได้รับเงินเยียวยาด้วย

แทนที่จะคิดมุ่งตัดสิทธิเพื่อจำกัดงบประมาณซึ่งก็มาจากเงินภาษีที่พวกเขาเหล่านั้นเสียให้แก่รัฐ กลับควรที่จะชื่นชม ยกย่องเสียมากกว่า เพราะว่าเป็นคนขยันหมั่นเพียร มุมานะ อุตสาหะ ไม่งอมืองอเท้า หนักเอาเบาสู้ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

แต่ถ้ายืนยันนโยบายจำกัดสิทธิ ก็ควรกำหนดหลักเกณฑ์ โดยให้เลือกรับสิทธิเงินเยียวยาได้เพียงอาชีพเดียว แนวทางปฏิบัติก็จะชัดเจนขึ้น

ทำนองเดียวกับ เงินชดเชยเยียวยา การว่างงานให้กับ นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ทำงานล่วงเวลาหารายได้พิเศษเพื่อการศึกษา ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์ระยะแรกกลุ่มนี้ไม่ได้รับ แต่ต่อมาเปลี่ยนแปลงเป็นได้รับในที่สุด เพราะพิสูจน์สิทธิพบว่าทำงานจริง

เงินเยียวยาเกษตรกรนี้ยังมีกรณีที่เป็นปัญหา ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปพิจารณาสอบหาความจริงและแก้ไข ให้เป็นธรรมทั่วถึงจริง

นั่นคือ กรณีคำสั่งการพิสูจน์สิทธิและรับรองสิทธิโดยให้อำนาจกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงชื่อรับรองเกษตรกรว่ามีสิทธิ ได้รับหรือไม่

เกษตรกรรายใดแม้ว่าจะมีชื่อขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรอย่างถูกต้อง แต่หากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ยอมลงชื่อรับรองก็จะหมดสิทธิได้รับ

สาเหตุเนื่องจาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่เชื่อหรือไม่เห็นหลักฐานประจักษ์พยาน ว่าเกษตรกรรายนั้นทำการเกษตรจริง แม้ว่าจะทำมาก่อนแต่หยุดพักด้วยเหตุผลใด
ก็ตาม เกษตรกรกลุ่มนี้ต้องลงมือ ลงแรง ลงทุน ให้เห็นผลผลิตเสียก่อนถึงจะเข้าเกณฑ์ลงนามรับรองให้ ทำให้เกษตรกรเสียสิทธิ แทนที่จะได้รับเงินเยียวยาไปทำอาชีพเกษตรต่อ

กรณีที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่เซ็นรับรองสิทธิ ควรมีช่องทางให้เกษตรกรร้องทุกข์ อุทธรณ์การพิสูจน์สิทธิได้ ซึ่งคุ้มครองความปลอดภัยแก่เกษตรกรด้วย เพราะอาจเกิดปัญหาความขัดแย้ง ความไม่พอใจจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใช้อำนาจหมายหัวว่า เป็นลูกบ้านหัวหมอ หรือหัวแข็ง ทำให้ชีวิตอยู่ไม่เป็นสุขต่อไปในระยะยาวได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image