ประท้วง-ทรัมป์-ทหาร! โดย ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข

หนึ่งในหัวข้อข่าวสำคัญจากประท้วงในกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ และขยายตัวเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายเมืองของสหรัฐนั้น ก็คือ ข้อเสนอของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์เมื่อวันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ต้องการให้มีการนำกำลังทหารของกองทัพสหรัฐเข้าควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะทำเนียบขาวมองว่า ผู้ว่าการรัฐหรือนายกเทศมนตรีในบางเมืองนั้น ไม่มีขีดความสามารถเพียงพอในการรับมือกับการชุมนุม

คาดเดาได้ไม่ยากเลยว่า ข้อเสนอเช่นนี้กลายเป็น “ประเด็นร้อน” ทันที เพราะหากกระทรวงกลาโหมและกองทัพต้องทำตามสิ่งที่ทรัมป์เสนอแล้ว ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขของการพากองทัพสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง เช่นที่กองทัพในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเคยมีบทบาททางการเมืองในการ “สลายการชุมนุม” ที่ต่อต้านรัฐบาล และก่อให้เกิดผลสืบเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ อันทำให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับประชาชนโดยตรง หรือผลที่ตามมาคือ ประชาชนมองกองทัพในทัศนะเชิงลบสองประการคือ ทหารเป็น “ผู้ปราบปรามประชาชน” … ทหารเป็น “ศัตรูประชาชน”

บทเรียนจากยุคสงครามเย็นชี้ให้เห็นว่า ทัศนะทางการเมืองสองประการต่อกองทัพที่มีบทบาทในลักษณะเช่นนี้คือ ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่สถานการณ์ “สงครามกลางเมือง” เพราะการใช้อาวุธเข้าปราบปรามประชาชนจะเป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่ “สุกงอม” ในตัวเองให้ประชาชนต้องจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐ เงื่อนไขเช่นนี้จึงแทบไม่จำเป็นต้องอ้างอิงทฤษฎีของนักคิดทางรัฐศาสตร์คนใดเลย เพราะเคยมีประจักษ์พยานของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเกิดขึ้นมาแล้วจากการใช้กำลังทหารในการปราบปรามประชาชน

ดังนั้นวันนี้จึงเห็นถึงความพยายามของผู้นำทหารและผู้นำทางการเมืองหลายคนที่ต้องการทัดทานแนวคิดของทรัมป์ เพื่อไม่ให้กองทัพสหรัฐหลุดเข้าติด “หล่มทางการเมือง” เช่น ที่กองทัพของประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศตกอยู่ในสถานะเช่นนั้นจากการมีบทบาททางการเมืองของทหาร จนไม่สามารถพาสถาบันทหารออกจากพันธนาการทางการเมืองได้ และส่งผลให้กองทัพกลายเป็น “คู่ขัดแย้ง” ทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ นายมาร์ค เอสเปอร์ (Mark Esper) ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า เขาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของทำเนียบขาวที่ต้องการนำทหารจากกองทัพสหรัฐเข้ามาควบคุมการชุมนุมที่เกิดขึ้นในเมืองต่างๆ ของสหรัฐ ดังนั้นอย่างน้อยสัญญาณที่ดีจากท่าทีของผู้นำเพนตากอนก็คือ เมื่อมีรายงานข่าวว่า มีการเตรียมกำลังพลประมาณ 700 นายจากกองพลส่งทางอากาศที่ 82 ซึ่งจะคัดเลือกส่วนใหญ่ที่เป็นสารวัตรทหาร และทหารเหล่าช่าง เข้ามาวางกำลังในพื้นที่รอบตัวเมืองวอชิงตัน ดีซี แต่ผู้นำกระทรวงกลาโหมไม่เห็นด้วย การเตรียมกำลังดังกล่าวจึงยุติลง

ในอีกส่วนมีรายงานจากสำนักข่าวเอพี (The Associated Press) ว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กำลังพลราว 200 นายจากกองพลดังกล่าว กำลังเตรียมถูกส่งเข้าวางกำลังที่วอชิงตัน แต่สุดท้ายก็มีการยกเลิกการตัดสินใจเช่นว่านี้ ซึ่งในขณะเดียวกัน ผู้นำทหารของสหรัฐเองไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวแต่อย่างใด พวกเขามองเห็นดังเช่นบทเรียนจากกองทัพในประเทศโลกที่สามว่า การมีบทบาทเช่นนั้นจะทำให้เกิด “กระบวนการของการทำให้ทหารต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” (politicization of the military) เพราะกองทัพในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีหลักการประการเดียวที่สำคัญคือ ทหารจะต้องไม่ยุ่งกับการเมือง (คือเป็น apolitical ในทางรัฐศาสตร์)

ดังนั้นจึงไม่แปลกนักที่เมื่อภาพของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและประธานคณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐไปยืนอยู่กับประธานาธิบดีทรัมป์ที่โบสถ์เซ็นต์จอห์น (The St John’s Episcopal Church) จะถูกวิจารณ์อย่างมากจากผู้นำทหารระดับสูงนอกราชการ เพราะการไปโบสถ์ดังกล่าวต้องใช้การ “เคลียร์” ผู้ประท้วงเพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดีไปยังโบสถ์นั้นได้ … จะเห็นได้ถึงความระมัดระวังของสังคมอเมริกันว่า เพียงการมีภาพถ่ายในลักษณะดังกล่าวของผู้นำทหารและรัฐมนตรีกลาโหม ก็เป็นประเด็นให้ถูกวิจารณ์ถึง “ความไม่เหมาะสม” ทางการเมืองแล้ว จนรัฐมนตรีกลาโหมต้องออกมายืนยันว่า จุดมุ่งหมายของเขาคือ “การเอากระทรวง[กลาโหม]ออกจากการเมือง และเป็นกลางทางการเมือง”

Advertisement

ในกรณีนี้อาจจะต่างกับผู้นำในประเทศโลกที่สามอย่างมาก ที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงสถานะของสถาบันทหาร และไม่เคยใส่ใจว่า การเอากองทัพเข้าสู่การมีบทบาททางการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่ผิดในทางการเมือง และเป็นการทำลายความเป็น “วิชาชีพของทหาร” ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างกองทัพของประเทศพัฒนาแล้วกับกองทัพประเทศโลกที่สาม เพราะในโลกที่สามนั้น คุณสมบัติประการสำคัญของทหารก็คือ กองทัพเป็น “ทหารการเมือง” (political military) ในขณะที่ผู้นำทหารในประเทศที่พัฒนาแล้ว พยายามเอา “ทหารออกจากการเมือง” หรือโดยนัยก็คือ ความพยายามที่จะทำให้ “ทหารเป็นกลางทางการเมือง” (apolitical military)

อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องยอมรับว่าโดยสถานะของความเป็นประธานาธิบดีในระบบการเมืองอเมริกันแล้ว ทรัมป์มีอำนาจในการตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าควบคุมการชุมนุมดังกล่าวได้ แต่การตัดสินใจดังกล่าวก็จะต้องมีกฎหมายรองรับ มิใช่จะเป็นการใช้อำนาจของสถานการณ์ฉุกเฉินตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากจะต้องใช้อำนาจตามรัฐบัญญัติที่ชื่อว่า “The Insurrection Act 1807” ซึ่งให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีโดยตรงในการใช้กำลังทหารของกองทัพสหรัฐในการ “ปราบกบฏ” และถ้าทำเนียบขาวใช้อำนาจเช่นนี้แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นในการขอความเห็นจากผู้ว่าการรัฐแต่อย่างใด เพราะกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ทำเนียบมีอำนาจโดยตรงในการใช้กำลังทหารในกิจการภายในของรัฐ และศาลเองก็อาจแทรกแซงได้ยาก เพราะกฎหมายนี้เป็นการใช้อำนาจโดยตรงของฝ่ายบริหาร

ถ้ารัฐบัญญัตินี้ถูกนำมาใช้ก็จะทำให้ทหารอเมริกันมีบทบาทในการควบคุมการชุมนุม ซึ่งจะขัดกับกฎหมายที่มีข้อกำหนดมาตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมือง ได้แก่ ห้ามทหารทำหน้าที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายกับกิจการภายในรัฐ (domestic law enforcerment) เช่น ห้ามทหารจับบุคคลพลเรือน ห้ามทหารทำการยึดทรัพย์สิน หรือห้ามทหารเข้าตรวจค้นประชาชน ซึ่งกองทัพสหรัฐถืออย่างมากว่า บทบาทในลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่หน้าที่ของทหาร และไม่ใช่สิ่งที่ทหารพึงกระทำ

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันได้มีการนำเอากำลังสำรองจาก “กองกำลังป้องกันชาติ” หรือเนชั่นแนลการ์ด (The National Guard) เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว และอยู่ภายใต้การควบคุมและบังคับบัญชาของผู้ว่าการในแต่ละมลรัฐอยู่แล้ว ดังได้กล่าวแล้วว่ากำลังส่วนนี้เป็นกำลังพลสำรองอีกส่วนหนึ่งที่สังกัดอยู่กับกองทัพบกสหรัฐ แต่ก็มิได้มีความหมายว่าเป็นกำลังพลทหารโดยนัยที่ทรัมป์กล่าวถึง และเช่นที่กล่าวในข้างต้นว่า อาจจะมีความพยายามที่จะเอากำลังพลจากกองพลที่ 82 เข้ามาจริง แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องตัดสินใจยกเลิก เพราะหลายฝ่ายตระหนักดีว่า การเอากำลังทหารเข้าสู่พื้นที่การประท้วงนั้น อาจจะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงแย่ลง มากกว่าจะดีขึ้นอย่างที่ทำเนียบขาวคาดหวัง

ดังนั้นการจะนำเอากฎหมายดังกล่าวกลับมาใช้เพื่อรองรับแนวคิดของทรัมป์ ที่ต้องการให้กำลังพลของกองทัพสหรัฐเข้ามาควบคุมสถานการณ์การชุมนุมนั้น จึงเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก และขณะเดียวกันก็ท้าทายอย่างมากกับระบบประชาธิปไตยอเมริกันที่ไม่ต้องการให้ทหารมีบทบาททางการเมือง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image